คนที่กำลังวางแผนออกรถคันใหม่ รู้หรือยังครับว่าตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์กันแล้ว โดยดอกเบี้ยรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ฉบับใหม่จะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก แทนที่การคิดดอกเบี้ยแบบคงที่นั่นเอง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจอย่างกระจ่างขึ้น เงินติดล้อจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์มาให้ เชิญอ่านได้เลย!
สำหรับใครที่ชอบฟัง Podcast เงินติดล้อมีช่องทางให้คุณได้ติดตามความรู้เกี่ยวกับการเงินสนุกสุดเพลิดเพลินแล้ว โดยใน EP.19 มาตรการปรับดอกเบี้ยรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ มีให้บริการทั้งใน Spotify และ Podbean
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณ มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร (Training Specialist, Financial Education)
- คุณ เบญจวรรณ พิรุฬห์รุ่งเรือง (Training Specialist, Financial Education)
ประเภทดอกเบี้ยมีกี่ประเภท ดอกเบี้ยลดต้นลดดอกคืออะไร?
ถือเป็นเรื่องปกติที่สถาบันการเงินจะเรียกเก็บดอกเบี้ยกับผู้กู้สินเชื่อ เพราะการเก็บดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนที่สถาบันการเงินควรได้รับเนื่องจากปล่อยกู้ให้กับผู้กู้สินเชื่อ เพื่อให้เข้าใจตรงกันประเภทดอกเบี้ยมีอะไรบ้าง และไขข้อข้องใจเรื่องดอกเบี้ยลดต้นลดดอก เงินติดล้อขอแจกแจงข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ดังนี้
ประเภทดอกเบี้ยที่คุ้นเคยกันดีมี 2 ประเภท คือ
- อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว จะไม่มีการขยับขึ้นหรือลดลงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ เช่น ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยสถาบันการเงินได้กำหนดให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีตลอดอายุสัญญา 5 ปี ซึ่งส่วนมากจะในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
- อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราว ๆ โดยอ้างอิงจาก MLR หรือ MRR ส่วนมากแล้วพบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเช่นนี้ในสินเชื่อเช่าซื้อบ้านหรือการกู้ซื้อคอนโด
ดอกเบี้ยลดต้นลดดอกคืออะไร?
อัตราการเก็บดอกเบี้ยมีด้วยกัน 2 ประเภท ซึ่ง “ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate)” เป็นหนึ่งในนั้น โดยเงินติดล้อจะสมมติว่าคุณกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 300,000 บาท สามารถแจกแจงพอสังเขปได้ คือ
- คิดดอกเบี้ยแบบคงที่ : สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุสัญญา ถึงแม้เงินต้นจะลดลงแต่ดอกเบี้ยถูกคิดเท่าเดิม เช่น กู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 300,000 บาท จ่ายเงินต้นไปแล้วทั้งหมด 150,000 บาท ดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจะคิดจากเงินต้นเดิม 300,000 บาท
คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (ภาษาทางการเรียกว่า “ดอกเบี้ยที่แท้จริง”) : สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินต้นที่เหลืออยู่ เช่น กู้สินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ 200,000 บาท จ่ายเงินต้นไปแล้ว 100,000 บาท ดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจะคิดจากเงินต้นที่เหลืออยู่คือ 100,000 บาท
ดอกเบี้ยรถใหม่ 2566 สำหรับสัญญาเช่าซื้อรถ ประกาศใช้แล้ว!
เรื่องนี้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาได้ ประกาศไว้ว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไปนั้น สัญญายังคงเป็น ‘อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate)’ และเมื่อนำมาคำนวณเป็น ‘ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate)’ หรือดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว จะต้องไม่เกินเพดานดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate) ที่กำหนดไว้คือ
- ดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่คิดได้ไม่เกิน 10% ต่อปี
- ดอกเบี้ยรถยนต์มือสองคิดได้ไม่เกิน 15% ต่อปี
- ดอกเบี้ยรถมอเตอร์ไซค์คิดได้ไม่เกิน 23% ต่อปี (ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์นั้นรวมทั้งรถใหม่และรถเก่า)
สินเชื่อเช่าซื้อปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่มีผลดีไหม?
ปัจจุบันการคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อ จะคิดแบบคงที่เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและคำนวณได้ง่าย แต่ในข้อเท็จจริงนั้นเมื่อมีการตัดชำระในแต่ละงวดนั้น จะใช้วิธีการตัดชำระตามมาตรฐานการบัญชี โดยนำดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ แบบลดต้นลดดอกมาคำนวณ ออกมาเป็นส่วนลดในแต่ละงวดที่ผ่อน ถ้าอยากรู้ว่าดอกเบี้ยคงที่จะแปลงเป็นดอกเบี้ยลดต้นลดดอกได้ยังไง เงินติดล้อมีสูตรมาให้คุณลองคิดดู คือตัวคูณ 1.8x เช่น
กู้สินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ มีอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ 3.75% แต่เมื่อนำมาคูณกับ 1.8 จะได้ผลลัพธ์ดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเป็น 6.5% ซึ่งก็ยังไม่เกินจากเพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่ของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ถูกกำหนดไว้ 23% แสดงว่า การคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรถเป็นผลดี
ผิดนัดชำระจะถูกคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อฉบับใหม่เท่าไหร่?
ในกรณีที่ผิดนัดชำระเงินอัตราดอกเบี้ยรถฉบับเก่าจะคิด 15% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ 2566 คิดดอกเบี้ยในกรณีที่ชำระล่าช้าหรือผิดนัดไม่เกิน 5% จากจำนวนยอดเงินค่างวดที่ผิดนัดชำระ
สินเชื่อเช่าซื้อฉบับใหม่รถฉบับใหม่ 2566 มีส่วนลดเท่าไหร่บ้าง?
ในกรณีที่ผู้กู้สินเชื่อเช่าซื้ออยากจ่ายหนี้ผ่อนรถรวดเดียวจบก็สามารถทำได้ จากเดิมที่ได้ส่วนลดปิดบัญชี 50% จากจำนวนดอกเบี้ยที่เหลือ ซึ่งการคิดเป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชี แต่ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อฉบับใหม่ 2566 กำหนดส่วนลดไว้ ดังนี้
- กู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ชำระค่างวดมาแล้วไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อย 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
- กู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ชำระค่างวดมาแล้วหนึ่งในสามแต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อที่ ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อย 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
- กู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อตามสัญญา ได้รับส่วน 100% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
ถึงมีดอกเบี้ยรถใหม่ 2566 ที่คุ้มค่า แต่อย่าลืมนึกถึง 2 พ.
ก่อนตัดสินใจกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถ อยากให้คุณนึกถึงหลัก 2 พ. ประกอบการตัดสินใจ เพราะสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นหนี้ก้อนใหญ่ และถึงแม้จะไม่ได้กู้ซื้อรถ แต่ก็สามารถนำหลัก 2 พ. ไปปรับใช้ได้ คือ
- พ ที่ 1 : เพื่ออะไร? หมายถึงกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถเพื่ออะไร เพื่อการเดินทางใช่ไหม?
- พ ที่ 2 : พร้อมแล้วหรือยัง? เพราะการกู้ซื้อรถยนต์ไม่ใช่แค่ค่างวดรถเท่านั้น แต่ยังมีค่าประกันรถยนต์ ค่า พ.ร.บ.รถยนต์ ค่าภาษีรถยนต์ ที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย
เมื่อได้ลองคิดให้ถี่ถ้วนแล้วพบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จริง ๆ อยากให้ลองซ้อมเป็นหนี้ก่อนว่าจะจ่ายไหวไหม เช่น ค่างวดรถ ค่าภาษีรถยนต์ และค่าประกันรถยนต์ ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีที่มีไว้เพื่อเก็บเงินโดยเฉพาะ ถ้าซ้อมเป็นหนี้ใน 1 ปีแล้วจ่ายไหว ไม่กระทบกับสภาพคล่องทางการเงิน ก็ทำเรื่องขอกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ได้เลยครับ เพราะคุณรู้แล้วว่าจะกู้ซื้อรถยนต์ไงไม่ให้เงินช็อตหรือเงินไม่พอใช้นั่นเอง
สรุป
ดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถฉบับใหม่ 2566 เป็นเรื่องดีสำหรับคนกู้ซื้อรถก็จริง แต่อยากให้คุณพร้อมมาก ๆ ก่อนตัดสินใจกู้ซื้อรถ เพราะถ้ายังมีหนี้ที่ต้องจ่ายอยู่ เช่น หนี้บัตรเครดิต อาจส่งผลกระทบกับการจ่ายค่างวดรถได้ จากที่คุณมีเครดิตดีหรือเป็นหนี้ดีก็จะค่อย ๆ กลายเป็นคน มีหนี้เสีย ควรวางแผนการเงินให้ดีนะครับ
ติดตามข่าวสารหรือความรู้การเงินได้ที่ เงินติดล้อ Podcast ที่จะช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินของคุณหมุนต่อไปได้อย่างราบรื่น ผ่านช่องทาง Spotify และ Podbean
ขอบคุณข้อมูลจาก : รัฐบาลไทย, ราชกิจจานุเบกษา, ศศง.