หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ “เงินติดล้อ” กับภารกิจการสร้างโอกาสทางความรู้ที่ยั่งยืน ครอบคลุมแนวคิด SDGs 5 เป้าหมายด้านสังคม

“เงินติดล้อ” กับภารกิจการสร้างโอกาสทางความรู้ที่ยั่งยืน ครอบคลุมแนวคิด SDGs 5 เป้าหมายด้านสังคม

11 เมษายน 2566
“เงินติดล้อ” กับภารกิจการสร้างโอกาสทางความรู้ที่ยั่งยืน ครอบคลุมแนวคิด SDGs 5 เป้าหมายด้านสังคม
“เงินติดล้อ” มี Brand Purpose อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ นั่นคือการสร้างโอกาสทางการเงินให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม Underbanked ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากระบบธนาคารได้ ที่ผ่านมาจึงคิดค้นผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และการเป็นนายหน้าประกันภัยที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประกันภัยได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองและบรรเทาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน สุขภาพ และชีวิต ในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพื่อให้กลุ่มลูกค้ามี “ชีวิตหมุนต่อได้” ตามสโลแกน และแนวคิดด้านแบรนด์ที่วางไว้อย่างจริงจัง กระทั่งในช่วงปี 2555 เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เงินติดล้อฉุกคิดได้ว่า การแก้ปัญหาด้านการเงินอย่างเดียวอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หลังจากทดลองให้บริการ “สินเชื่อตลาดสด” กับพ่อค้าแม่ค้า ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำให้เงินติดล้อได้รับรู้ถึงปัญหาใหญ่เกี่ยวกับการขาดความรู้พื้นฐานด้านการเงินของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางการเงินเรื้อรังมากมายตามมา 

คุณนิภา วนิชวัฒน์ ผู้บริหารระดับสูง สายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า “นอกจากชาวบ้านจะขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินจากระบบธนาคารแล้ว ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานการเงิน เราจึงเชื่อว่าการมอบโอกาสทางความรู้ด้านการเงินขั้นพื้นฐาน จะช่วยให้พวกเขาสามารถวางแผนเรื่องการเงินในการดำเนินชีวิตได้ราบรื่น แก้ปัญหาหนี้สินได้ดีขึ้น และช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาการเงินได้ในอนาคต” และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการมุ่งให้ความรู้ทางการเงินของแบรนด์ “เงินติดล้อ” ผ่านโครงการ “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้”

โดยในปี 2555 เราเริ่มต้นโครงการกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า จากนั้นขยายไปสู่ชาวบ้านในชุมชน พนักงานของเราเอง พนักงานในโรงงาน และการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย ซึ่งรูปแบบการจัดกิจกรรม จะเชิญชวนพนักงานจิตอาสาเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและทำให้พนักงานเข้าใจปัญหาของชุมชน ซึ่งกิจกรรมจะเริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจปัญหา การจัดกิจกรรม และการติดตามผล ครบทุกขั้นตอน กระทั่งต่อมาเกิดการต่อยอดเป็น 6 หลักสูตรเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้กับชาวชุมชน ได้แก่
  1. เรื่องน่ารู้ก่อนกู้เงิน และรู้จักแหล่งเงินทุน
  2. เอาตัวรอดในทุ่งดอกเบี้ย
  3. เก็บเงินให้พอเพียง ทำเงินให้งอกงาม
  4. ใช้เงินอย่างชาญฉลาด
  5. คิดทันต้นทุนเพิ่มพูนกำไร
  6. กระแสเงินสด
นอกจากนี้ยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของประกันภัยและ พ.ร.บ. เข้าไปด้วย ซึ่งทุกหลักสูตรจะถูกจัดอบรมผ่านรูปแบบการทำกิจกรรม (activity-based learning) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้อย่างสนุก และเข้าใจง่าย ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการสอนไปแล้วกว่า 203 ครั้ง (รวมทุกประเภทกิจกรรม) มีผู้เข้ารับการอบรมไปแล้วกว่า 5,600 คน มีอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมไปแล้วกว่า 930 คน และปัจจุบันโครงการยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภายใต้แนวคิดในการสร้างโอกาสความรู้ เงินติดล้อยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุน มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และหน่วยงานที่มุ่งให้การสนับสนุนด้านการศึกษาอื่นๆ เพื่อมีส่วนช่วยส่งเสริมพื้นฐานความรู้ให้กับเยาวชน และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้นักเรียน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา เพื่อมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนมีพื้นฐานด้านการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้
ด้านสังคม เงินติดล้อยังจัดทำแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” เพื่อช่วยเตือนสติผู้คนในสังคมให้มีสติและคิดให้ดีก่อนใช้จ่ายหรือสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจของเงินติดล้อเองเป็นลักษณะบริการด้านการเงินและบริการด้านนายหน้าประกันภัย ซึ่งอาจจะไม่ได้มีส่วนสร้าง Carbon Footprint หรือเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากนัก แต่เงินติดล้อก็ไม่ละเลยการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า สร้างฝาย ประหยัดการใช้พลังงาน รวมถึงการจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดอีกด้วย

จากเจตนาในการสร้างโอกาสทางความรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นโครงการและกิจกรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานชั้นนำเห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการสร้างโอกาสทางความรู้ กระทั่งแบรนด์เงินติดล้อได้รับการยกย่องให้เป็นกรณีศึกษาจาก The Centre for Impact Investing and Practices (CIIP) โดย Temasek Trust ในฐานะองค์กรในประเทศไทยที่ดำเนินโครงการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมภายใต้แนวคิด SDGs Goals ของสหประชาชาติ ครอบคลุมมิติด้านสังคมใน 5 หมวดด้วยกัน ได้แก่ ขจัดปัญหาความยากจน, ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้, ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน, ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม และลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการยอมรับที่เงินติดล้อภาคภูมิใจ

คุณนิภา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่เงินติดล้อเราทำเรื่องเกี่ยวกับการเงินซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด เราใช้ความรู้และประสบการณ์ ต่อยอดคุณค่าของธุรกิจคืนให้กับสังคม Creating Shared Value (CSV) ผ่านโครงการต่างๆ ที่มุ่งสร้างโอกาสทางความรู้พื้นฐานด้านการเงินให้กับชุมชนและประชาชนในหลากหลายกลุ่ม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาสอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ด้วยความเชื่อมั่นว่านี่แหละคือองค์ประกอบสำคัญของการสร้างโอกาสที่จะทำให้ชีวิตกลุ่มฐานรากหมุนต่อได้ไกลขึ้นอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ และมองว่า 17 SDGs Goals เป็นเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่ทุกหน่วยงานควรช่วยกัน โดยการใช้ความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรที่มี มาต่อยอดขยายผลสู่ความยั่งยืนในสิ่งที่องค์กรถนัด เพื่อนำสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องมาต่อเข้ากันเป็นจิ๊กซอว์ในระดับประเทศ และเมื่อเกิดขึ้นเป็นภาพใหญ่แล้ว  SDGs  Goals  ทั้ง 17 ข้อของประเทศไทยก็จะครบสมบูรณ์และยั่งยืน”

ที่มา: BrandAge
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น