หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ลงทุนใน “คน” สร้างผู้นำชาวเงินติดล้อ สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ลงทุนใน “คน” สร้างผู้นำชาวเงินติดล้อ สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

15 ธันวาคม 2566
ลงทุนใน “คน” สร้างผู้นำชาวเงินติดล้อ สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
เพราะเงินติดล้อเชื่อว่า ‘คน’ เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร ถ้าไม่มีชาวเงินติดล้อ องค์กรคงไม่สามารถเติบโตและหมุนมาได้ไกลขนาดนี้ ดังนั้นเงินติดล้อจึงให้ความสำคัญกับ ‘คน’ มาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและส่งเสริมศักยภาพของชาวเงินติดล้อรุ่นใหม่ให้พร้อมวิ่งไปข้างหน้า การตอกย้ำเรื่องเจตนารมณ์ จุดเริ่มต้นขององค์กร และติดอาวุธให้พวกเขาด้วยความเชื่อและทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้นำรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และนี่คือที่มาของ Sales Leadership Development ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ดอยตุง
 

ย้อนรอย ‘อดีต’ และ ‘เจตนารมณ์’ ที่คล้ายกัน

‘ดอยตุง’ เป็นองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสร้างอาชีพของผู้คนในพื้นที่สู่ความยั่งยืน ให้โอกาสทางความรู้ที่จะประกอบอาชีพอย่างสุจริต จากที่เคยบุกรุกผืนป่าและลักลอบตัดต้นไม้ เปลี่ยนมาทำอาชีพที่ยั่งยืนอย่างการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ชา กาแฟ เพราะนอกจากจะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านให้ยืนได้ด้วยตัวเอง ก็ยังเป็นการให้โอกาสผู้คนและธุรกิจรายย่อยได้เติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน

และ ‘เงินติดล้อ’ เองก็เช่นเดียวกันที่เริ่มมาจากความคิดและความเชื่อที่อยากจะมาทำงานในทุกๆ วันเพื่อสร้างและส่งต่อโอกาสให้กับผู้คนในสังคมที่ไม่มีรายได้สม่ำเสมอ เดือดร้อน เพราะไม่สามารถเข้าถึงการเงินในระบบได้ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อต่อลมหายใจ

ทั้งสององค์กรต่างมีจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่ไม่ได้เน้นผลกำไรแต่มั่นคงในวิสัยทัศน์ที่อยากจะพัฒนาชีวิตของผู้คนในพื้นที่และสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเจตนารมณ์ที่ดีและชัดเจนตลอดมา

นี่จึงเป็นเหตุผลให้เงินติดล้อเลือกที่จะพา ‘ทีมผู้นำฝ่ายขาย’ ทั้งผู้จัดการภาค ผู้จัดการพื้นที่ ผู้จัดการบริหารความสัมพันธ์ช่องทางต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมกว่า 200 ชีวิต ขึ้นเหนือมาร่วมกันเรียนรู้และตอกย้ำความคิดความเชื่อดีดีแบบนี้ที่ดอยตุง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ ‘ผู้นำชาวเงินติดล้อ’ ได้รับแนวคิดและแรงบันดาลใจจากองค์กรรุ่นพี่อย่างดอยตุงมาปรับใช้ เพื่อสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรและสังคม รวมถึงช่วยกันสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับชาวเงินติดล้อทุกคนที่เป็นเสมือน ‘หัวใจ’ ขององค์กร

อย่างที่คุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ MD เงินติดล้อบอกว่า

“เป้าหมายของเงินติดล้อ ไม่ได้มีแค่ความมั่นคงของลูกค้า ความมั่นคงของผู้ถือหุ้น หรือความมั่นคงขององค์กร แต่ความมั่นคงของพนักงานคือสิ่งสำคัญอีกอย่างที่เงินติดล้อนึกถึง”



คุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ MD ยังย้ำถึง ‘หลักคิด’ ในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนของเงินติดล้อว่ามีด้วยกัน 3 อย่าง หรือ 3P คือ

  • Purpose (เจตนารมณ์) หรือการทำตามคำมั่นสัญญาของแบรนด์ ในการช่วยให้ชีวิตของลูกค้าหมุนต่อได้
  • Profit (ผลกำไร) ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เงินติดล้อสามารถทำตามเจตนารมณ์ได้ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรม เพื่อให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ และสามารถสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความมั่นคงให้กับองค์กรและพนักงาน
  • People (คน) เพราะคนคือผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรให้หมุนไปสู่ทิศทางและเป้าหมายที่วางไว้ เงินติดล้อจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และให้ความสำคัญกับการดูแลชาวเงินติดล้อเพื่อให้ชาวเงินติดล้อได้มีชีวิตที่มั่นคงและมีความสุขกับการทำงาน
 

เปิดวิธี ‘สร้างผู้นำ’

เคล็ดลับในการสร้างผู้นำของเงินติดล้อคือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมจริง ซึ่งมีทั้งกิจกรรม Gallery Walk ที่เปิดโอกาสให้เหล่าผู้นำได้เดินอ่าน ‘การบ้าน’ ที่นอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจปัญหาของลูกค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างทักษะของความเป็นผู้นำที่ดี คือการสรุปสิ่งที่ได้จากการซักถามเป็นอยู่ในปัจจุบันของน้องๆ พนักงานในความดูแลที่แสดงถึงความใส่ใจของผู้นำ


ต่อด้วยช่วงของ Restart Our Why พาผู้นำเงินติดล้อไปทบทวนถึงเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจของเงินติดล้อ ที่คุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาผ่านการให้บริการที่รวดเร็วกับลูกค้า ขณะที่คุณเปิ้ล อาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหารระดับสูงด้านนายหน้าประกัน ก็เน้นย้ำถึงเจตนาของประกันติดล้อ ที่มุ่งสร้างความคุ้มครองผ่านการมีหลักประกันให้กับคนในสังคมอย่างทั่วถึง พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการประกัน ด้วยการดูแลลูกค้าที่ไม่ได้จบแค่ขายแต่ยังดูแลไปจนถึงเรื่องของการเคลม

ผู้นำชาวเงินติดล้อยังมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีนำเสนอ Case เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้เงินไปแก้ปัญหาที่ทำให้ธุรกิจหรือชีวิตต้องสะดุดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นจากทีมเครดิต รวมถึงยังมีช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการพื้นที่ได้มาแชร์เรื่องราวที่เงินติดล้อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตนเองและน้องๆ ที่อยู่ในความดูแล


และที่ขาดไม่ได้ก็คือกิจกรรมร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับแหล่งต้นน้ำบนดอยตุง ยังช่วยเติมมิตรภาพดีๆ ระหว่างการสร้างฝายให้กับเหล่าผู้นำชาวเงินติดล้อไปด้วยพร้อมกัน
 

สิ่งที่ ‘ผู้นำชาวเงินติดล้อ’ ได้เรียนรู้

การทำงานเป็น ‘ทีม’ คือวิธีที่เงินติดล้อเชื่อว่าจะพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ไวขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกิจกรรม Sales Leadership Development ที่ดอยตุงครั้งนี้ เน้นไปที่การสร้างผู้นำให้มีทักษะของการทำงานร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้จัดการพื้นที่และผู้จัดการบริหารความสัมพันธ์ช่องทางได้เข้าใจภาพการทำงานของกันและกัน เพื่อวางแผนทำงานร่วมกันซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นมากขึ้น


คุณโชค ศุภโชค อัครกุลยศ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารงานขายสาขาและบริหารช่องทางการขาย ฝ่ายพัฒนาและบริหารงานขายสาขาได้เฉลยกุญแจสำคัญที่จะทำให้การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จว่าคือ ‘ความเชื่อใจ’ (Trust) และ ‘การให้เกียรติซึ่งกันและกัน’ (Respect) ที่ได้แนวคิดมาจากหนังสือ Extreme Ownership และ The Self-Aware Leader ที่สรุปหลักคิดสำคัญๆ ได้ว่า
  • ผู้นำต้องสื่อสาร และมีหน้าที่อธิบายให้ทุกคนเข้าใจ
  • การอธิบายต้องง่าย และต้องทำให้เห็นความเชื่อมโยงของ ‘การกระทำ กับ ผลที่ตามมา’
  • การร่วมมือร่วมใจที่ดีหมายถึงการกระจายความเสี่ยง ผลประโยชน์ ให้เครดิตซึ่งกันและกัน และจะทำได้เมื่อทุกคนรู้ขีดจำกัดของตัวเอง ทิ้งอีโก้ของตัวเองไว้ข้างหลัง
  • ข้อดีของความร่วมมือร่วมใจ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น บนพื้นฐานของความไว้ใจ ซื่อสัตย์ และเคารพกันและกัน
  • ต้องเชื่อมั่นในทีม เรามองไม่เห็นหรอกว่าใครทำอะไรอยู่ แต่เชื่อเถอะว่าทุกคนกำลังทำงานของตัวเอง
  • ทำคนเดียวทำได้นิดเดียว แต่ถ้าช่วยกันเราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย
และกิจกรรมเพื่อเติมพลังสร้างผู้นำชาวเงินติดล้อรุ่นใหม่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและสำเร็จได้อย่างดี ก็เพราะเงินติดล้อเห็นความสำคัญของคน และต้องการคนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำที่แท้จริงสามารถสร้างผู้นำที่ดีได้ ไม่ใช่แค่สร้างผู้ตาม เพราะเราเชื่อว่าการลงทุนในคนจะเป็นวิธีการสร้างการเติบโตให้องค์กรได้ถูกจุดและยั่งยืน
 

เสียง Aha! ที่มาจากดอยตุง

“รู้สึกดีที่ได้ฟังความประทับใจของเพื่อนๆ เกือบ 200 คน ที่แชร์สิ่งที่เราได้รับมาตลอด 2 วัน ทำให้ได้ทบทวนสิ่งที่เราได้รับอีกครั้ง และจะได้นำสิ่งที่เราได้ฟังมาตลอด 2 วันนี้ไปสื่อสารต่อ เล่าต่อกับน้องๆ ว่าเราได้ฟังอะไรมาบ้าง ทำอะไรมาบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องความยั่งยืนของบริษัท และลูกค้า รวมถึงความมั่นคงของพนักงาน”

 

“พาร์ทที่ชอบมากที่สุดคือพาร์ทของพี่โชค เพราะทำให้เห็นมุมมองของทั้งสองฝ่ายว่าพื้นที่ต้องทำอะไรบ้าง ช่องทางต้องทำอะไรบ้าง ทำให้รู้ว่าในองค์กรมีหลายงานที่แตกต่างกัน ทั้งทีมหน้าบ้านและหลังบ้านต้องคุยกัน และเราเองก็ต้องมองในมุมของคนอื่นบ้าง อย่ามองแต่มุมของตัวเอง เพื่อให้เราประสบความสำเร็จไปด้วยกัน เมื่อน้องสาขาหมุนต่อได้ เราก็หมุนต่อได้ และบริษัทก็จะหมุนต่อได้เหมือนกัน”

 

“พาร์ทที่ประทับใจสุด คือตอนที่คุณหนุ่มได้แชร์จุดเริ่มต้นของเงินติดล้อ ทำให้เมื่อกลับมามองตัวเองก็เข้าใจว่าเราก็คือหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยให้องค์กรไปถึงเป้าหมาย โดยที่เราก็ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง”

 

“ชอบตอนเวิร์คชอปมากที่สุดเลยค่ะ ตอนที่พี่ๆ ช่วยกันคิดว่าปัญหาเกิดจากอะไร แล้วเราต้องแก้ปัญหาอย่างไร แล้วก็มีช่วงที่คุณหนุ่มเดินเข้ามาแล้วบอกว่าขาดอีกหนึ่งอย่างที่เรายังไม่ได้พูดกันคือคำว่า ‘ขอโทษ’ ชอบตรงนี้ที่สุดค่ะ ทำให้เรียนรู้ว่าผู้นำก็สามารถทำพลาดได้ แต่ก็ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพร้อมหาวิธีแก้ไขมัน”

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น