หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ย้อนรอยความสำเร็จ 10 ปี ‘โครงการให้ความรู้ทางการเงิน’ โดยเงินติดล้อ

ย้อนรอยความสำเร็จ 10 ปี ‘โครงการให้ความรู้ทางการเงิน’ โดยเงินติดล้อ

11 มกราคม 2566
ย้อนรอยความสำเร็จ 10 ปี ‘โครงการให้ความรู้ทางการเงิน’ โดยเงินติดล้อ

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คำว่า Financial Education’ (ความรู้ทางการเงิน) ในสังคมไทย เคยเป็นคำที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของคนที่เคยศึกษาเรื่องนี้ หรือทำงานในองค์กรหรือสถาบันการเงินเท่านั้น ดังนั้นคนที่มีองค์ความรู้นี้ก็จะสามารถบริหารจัดการสัดส่วนเงินออมและภาระหนี้ของตัวเองได้และส่งผลต่อถึงคุณภาพชีวิตที่ดี

‘เงินติดล้อ’ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นบริษัทสินเชื่อจำนำทะเบียนเล็กๆ ได้ริเริ่ม ‘โครงการให้ความรู้ทางการเงิน’ กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด เพราะอยากช่วยกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบ ให้มีโอกาสหลุดพ้นจากหนี้นอกระบบที่เรียกกันว่า ‘หนี้อาบัง’ หรือ ‘หนี้หมวกกันน็อค’

ตั้งแต่วันนั้น ‘โครงการให้ความรู้ทางการเงิน’ (Financial Education) หรือ FIN ED ของเงินติดล้อ ที่เริ่มต้นเสมือนโยนก้อนหินเล็กๆ ลงในสระใหญ่อย่างต่อเนื่องก็ค่อยๆ สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
 

เริ่มต้นจาก ‘เจตนาดี’ และ ‘ความเข้าใจลูกค้า’

ปีพ.ศ. 2556 เงินติดล้อได้ทดลองออกผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อตลาดสด’ ซึ่งช่วงแรกใช้วิธีเก็บค่างวดเป็นรายวัน เลียนแบบสินเชื่อนอกระบบที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้าคุ้ยเคย และพบว่าพ่อค้าแม่ค้าสามารถจ่ายค่างวดวันละ 100 บาท (เท่ากับการจ่ายค่างวด 700 บาทต่อสัปดาห์) ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อลองเปลี่ยนมาเป็นให้จ่ายค่างวดเป็นสัปดาห์ละ 500 บาท ซึ่งน้อยกว่าการเก็บทุกวัน พ่อค้าแม่ค้ากลับไม่สามารถเก็บเงินไว้จ่ายค่างวดเป็นรายสัปดาห์ได้

เงินติดล้อจึงได้พูดคุยสอบถามกับพ่อค้าแม่ค้าและทราบว่าปัญหาเกิดจากการขาดความรู้ในเรื่องการวางแผนการเงิน และไม่เข้าใจความสำคัญของการมีวินัยทางการเงิน ทำให้ไม่มีการจัดสรรเงินเก็บและรายจ่ายที่ต้องจ่ายไว้เป็นส่วนๆ เงินที่ได้มาแต่ละวันจึงหมดไปกับรายจ่ายเฉพาะหน้าที่มาถึงก่อน เมื่อถึงเวลาเจ้าหนี้คนไหนมาทวงก่อนก็ควักเงินก้อนนั้นจ่ายออกไปก่อน

‘โครงการให้ความรู้ด้านการเงิน’ ของเงินติดล้อจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เริ่มต้นจากชาวเงินติดล้อกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คนที่รวมทีมกัน หมุนเวียนไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินกับพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดต่างๆ

และด้วยวิธีจัดกิจกรรมผ่านเกม ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศสนุกสนานควบคู่กับการให้ความรู้สไตล์เงินติดล้อ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางรายที่ปลดหนี้หมดแล้วแต่ก็ยังมาขอเข้าร่วมอบรมต่อ เพราะต้องการมีความรู้ใหม่ๆ ด้านการเงินที่ทางเงินติดล้อนำมาอัปเดตอยู่เสมอ
 

ขยายความรู้สู่ชุมชน

ความสำเร็จจากการที่ผู้เข้าอบรมส่วนหนึ่งสามารถปลดหนี้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการนำความรู้ทางการเงินที่ได้รับไปใช้ ส่งผลให้คุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เห็นโอกาสที่จะส่งมอบความรู้ทางการเงินไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น และเป็นที่มาของโครงการ ‘นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้’

ต่อมาก็มีการรับสมัคร ‘ชาวเงินติดล้ออาสา’ เพื่อไปร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ชาวเงินติดล้อได้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเกิดความเข้าใจเจตนารมณ์ในการทำเพื่อลูกค้าของบริษัทมากขึ้น รวมทั้งได้เข้าใจวิถีชีวิตและพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย

เงินติดล้อยังได้ปรับหลักสูตรการเงินให้เหมาะกับชุมชนที่มีคนหลากหลายอาชีพ ซึ่งหัวข้อที่ได้รับความนิยมจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการในชุมชนก็คือเรื่อง “การปลดหนี้” และ “การออม” อีกทั้งยังมีการพัฒนา ‘แอปชั่งใจ’ ร่วมกับทีมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้เข้าร่วมโครงการ บันทึกข้อมูลรายรับ-รายจ่ายแต่ละวันได้สะดวกขึ้น และช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำในการบริหารจัดการเงินได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้ทีม FIN ED ของเงินติดล้อ ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการเงินได้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากเช่นที่ ‘ผู้ใหญ่ยา’ (ยุวชลินท์ ยอดดี) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านไทรงาม เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านที่เข้าร่วม ‘โครงการให้ความรู้ทางการเงิน’ กับเงินติดล้อว่า

“ครั้งแรกที่เงินติดล้อมาจัดโครงการฯ ชาวบ้านก็ยังเฉยๆ นะ ไปบ้างไม่ไปบ้าง แต่พอมีการทำกิจกรรมหลายๆ ครั้ง และหลายๆ คนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น และไม่นานความเข้าใจและความสนใจก็เริ่มขยายวงกว้างไปทั่วหมู่บ้าน และสิ่งที่ผมคิดว่าเงินติดล้อทำได้ดีคือมีการเสริมแรงจูงใจ เพื่อฝึกชาวบ้านให้มีวินัยในการออมและลงบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้ชาวบ้านเห็นชัดว่ามีรายจ่ายใดสามารถลดเพื่อเก็บออมเพิ่มได้บ้าง และพอเริ่มออมก็เริ่มมีเงินเก็บให้นำไปปลดหนี้ได้เร็วขึ้น และยังมีเงินไว้ใช้ในเรื่องอื่นๆ ทำให้ตอนนี้เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านที่มีเงินออมเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนหนี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ผมและชาวบ้านต้องขอบคุณเงินติดล้อมากครับ”

เพิ่มช่องทาง สร้างโอกาส ส่งต่อความรู้ทางการเงิน

ความมุ่งมั่นในการส่งต่อความรู้ทางการเงินยังทำให้เงินติดล้อได้มีโอกาสเข้าร่วมกับ ‘โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา’ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเงินที่เหมาะกับ ‘ผู้ก้าวพลาด’ เช่น การให้ข้อมูลเพื่อหาอาชีพที่ชอบและใช่ การหาและคำนวณต้นทุน การบริหารเงิน การเก็บออม การต่อยอดธุรกิจ รวมทั้งยังจัดโครงการ Train The Trainer’ เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในเรือนจำให้สามารถเป็นผู้สอนเรื่องการเงินให้กับผู้ก้าวพลาดได้ด้วยตัวเอง

และแม้ว่าในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมาจะทำให้เงินติดล้อไม่สามารถเข้าไปให้ความรู้ด้านการเงินในเรือนจำได้ แต่ในวิกฤติก็ยังมองเห็นโอกาสโดยจัดทำคลิปวิดีโอให้ความรู้ด้านการเงิน

นอกจากนี้ เงินติดล้อยังจับมือกับอีกหลายองค์กร เช่น Teach For Thailand หรือ TFT, มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน โดย สสส., สื่อออนไลน์ Toolmorrow คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange of Thailand หรือ SET) เพื่อสร้าง ‘พี่เลี้ยงทางการเงิน’ ที่มีความรู้ด้านการเงิน เพื่อช่วยกันกระจายความรู้ไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ในสังคม
 

ปูทางสร้าง ‘อนาคตที่มั่นคง’ เพื่อ ‘ชาวเงินติดล้อ’

ที่เงินติดล้อ สิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ ‘สุขภาพการเงินที่มั่นคงและยั่งยืนของพนักงาน’ ชาวเงินติดล้อทุกคนจึงต้องผ่านการอบรมหลักสูตรความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐาน รวมถึงยังมีการจัดกิจกรรมบอร์ดเกมเสริมความรู้ทางการเงิน พร้อมทั้งสื่อสารผ่านสื่อเช่น คลิปวิดีโอ, พอดแคสต์ ฯลฯ รวมถึงพนักงานพิเศษที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เงินติดล้อก็ไม่เคยมองข้าม แต่จัดกิจกรรมที่มีรูปแบบความเหมาะสมเฉพาะกลุ่ม โดยมีจุดประสงค์ให้พนักงานกลุ่มนี้ได้มีความรู้ด้านการเงินด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมให้ชาวเงินติดล้อตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณและสมัครเข้าเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ โครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงาน (EJIP) ตามความหวังดีจากผู้บริหารที่อยากให้ชาวเงินติดล้อยังคงมีสุขภาพการเงินที่ดีและอนาคตที่มั่นคงแม้ในวันที่ต้องเกษียณจากการทำงานแล้ว

เงินติดล้อยังมีโครงการ Financial Clinic เพื่อให้พนักงานที่มีปัญหาด้านการเงินสามารถขอคำปรึกษาจาก ‘FIN ED Mentor’ (พี่เลี้ยงทางการเงินจากโครงการ Happy Money ของ SET ที่อาสาให้คำปรึกษาทางการเงินกับชาวเงินติดล้อ) โดยทีม FIN ED จะทำงานร่วมกับ ‘FIN ED Mentor’ อย่างใกล้ชิดในการให้คำแนะนำและช่วยหาทางออก เพื่อให้ผู้ขอคำปรึกษาผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินไปได้

คุณเปิ้ล ฐิตารัตน์ ไชยวชิรโรจน์ ทีม Telesales หนึ่งใน ‘FIN ED Mentor’ ของเงินติดล้อเล่าว่า

“เคยเป็นที่ปรึกษาให้น้องชาวเงินติดล้อที่โดนหลอกให้ไปเล่นแชร์ลูกโซ่แล้วโดนโกง ทำให้ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ให้กับคนอื่นๆ ที่ตัวเองชวนไปเล่นต่อด้วย แล้วน้องยังต้องผ่อนรถ เงินในแต่ละเดือนจึงไม่พอจ่าย เลยแนะนำให้น้องเจรจาขอผ่อนหนี้กับเจ้าหนี้แต่ละราย โดยขอผ่อนเท่าที่ไหว และหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มไปด้วย ที่สำคัญคือต้องไม่ไปกู้ที่ไหนเพิ่มเพื่อมาโป๊ะหนี้ เขาก็ทำตามที่แนะนำ จนหนี้ลดลงเรื่อยๆ

วันที่น้องไลน์มาขอบคุณ คือวันที่ภูมิใจที่สุดที่มีส่วนช่วยให้ชีวิตของคนคนหนึ่งดีขึ้น ไม่ต้องทุกข์กับการเป็นหนี้ และทำให้เข้าใจสิ่งที่คุณหนุ่ม พูดในวันที่มอบประกาศนียบัตรว่า กระดาษใบนี้จะเป็นแค่กระดาษธรรมดาที่ไม่มีความหมายอะไร ถ้าไม่ได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาไปช่วยเหลือใคร”

แม้วันนี้ภารกิจให้ความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างโอกาสให้คนในสังคมของทีม FIN ED เงินติดล้อ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จะขยายวงกว้างไกลกว่าจุดเริ่มต้นในวันแรกมาก แต่ทีม FIN ED ก็พร้อมจะพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อต่อยอดและขยายการให้ความรู้ทางการเงินให้กว้างไกลยิ่งขึ้นไปอีกโดยมีปลายทางคือ ‘สุขภาพทางการเงินที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนในสังคม’ และมี ‘ความใส่ใจ’ เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้แต่ละภารกิจสำเร็จได้ด้วยดี

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น