หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เปลี่ยนชีวิต “คิดสั้น” ให้ยาว ด้วยความรู้ทางการเงิน

เปลี่ยนชีวิต “คิดสั้น” ให้ยาว ด้วยความรู้ทางการเงิน

23 กันยายน 2564
เปลี่ยนชีวิต “คิดสั้น” ให้ยาว ด้วยความรู้ทางการเงิน

เรื่องราวเส้นทางของ “ลุงตุ๋ย” พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่ศูนย์รังสิต อดีตเคยคิดสั้นจากปัญหาด้านการเงินสู่ชีวิตไร้หนี้ที่ยืนยาว ลุงได้รับคำแนะนำที่ดีและกำลังใจท่วมท้นจากทีม Financial Education - เงินติดล้อ หวังว่าเรื่องราวนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ และสร้างความหวังให้กับคนที่ประสบปัญหาทุกคนได้ลุกขึ้น “เปลี่ยนชีวิต”

ชีวิตคิดสั้น

ลุงตุ๋ยทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ได้เงินเดือนเดือนละ “หมื่นสี่พันบาท” ถ้ารวมโอทีด้วยก็ประมาณ “หมื่นหก-หมื่นเจ็ดพันบาท” ฟังดูเหมือนว่าลุงตุ๋ยก็ไม่น่าจะเดือดร้อนมากเหมือนคนหาเช้ากินค่ำ เพราะมีเงินเดือนประจำจำนวนหลักหมื่นทีเดียว แต่แม้ว่าลุงตุ๋ยรวมเงินเดือนกับโอทีทุกเม็ดมันก็ยังไม่พอจ่ายภาระต่อเดือนที่มี

เพราะลุงตุ๋ยต้องส่งเงินเพื่อเลี้ยงดูลูก 2 คนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด เดือนละหก-เจ็ดพันบาท และต้องส่งเงินให้ลูกคนโตที่มาเรียนปริญญาตรีอยู่ในกรุงเทพอีกเดือนละสามพันบาท

แล้วยังมี “หนี้นอกระบบ” ที่กู้ยืมมาอีกห้าหมื่นห้าพันบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน และลุงตุ๋ยก็ต้องผ่อนจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยอยู่เดือนละห้าพันห้าร้อยบาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ลุงจะสามารถทบเงินต้นหมด

ค่าที่พักอาศัย แม้ว่าจะไม่ต้องเช่าเพราะเป็นแฟลตของน้องสาวแต่ก็ต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ หักลบทุกอย่างแล้วแต่ละเดือนลุงจะเหลือเงินไว้กิน ไว้ใช้ชีวิตในเมืองหลวงแค่ 800 บาท

พยายามประหยัดด้วยการซื้อแกงวันละถุง แบ่งกินกับข้าวเอาให้ได้ 3 มื้อ แล้วก็ปั่นจักรยานเก่าๆ ไป-กลับที่ทำงานทุกวัน...ยอมเสี่ยงกับรถบนถนนหน่อยจะได้ประหยัดเงินค่ารถเมล์ ก็พอจะช่วยให้มีเงินเหลือพอต่อชีวิตเดือนๆ หนึ่งไปได้

“บุหรี่ กับ ลอตเตอรี่...ของคู่กัน ความหวังของคนจน”

ด้วยสภาพการเงินที่ดูจะไม่ค่อยคล่องตัวเท่าไหร่ ทำให้ลุงตุ๋ยมีความเครียดสะสม และวิธีการแก้เครียดหนึ่งเดียวของลุงตุ๋ยก็คือการสูบบุหรี่ แกสูบเป็นประจำเพราะแกบอกว่ามันต้องสูบให้หายเครียด และความหวังเดียวที่จะปลดหนี้ทางลัดก็หนีไม่พ้นลอตเตอรี่ ลุงตุ๋ยเคยซื้อลอตเตอรี่เยอะถึง 20 ใบ ก่อนที่ความหวังมันจะพังลง จนลุงเคยคิดสั้น

เปลี่ยนชีวิต

เมื่อทางทีม Financial Education ทราบเรื่องของลุงตุ๋ยก็เข้าใจถึงความลำบาก จึงได้ประสานงานเข้ามาพูดคุย สอบถาม เพื่อช่วยเหลือและเปลี่ยนชีวิตคิดสั้นของลุงตุ๋ยให้เป็นชีวิตไร้หนี้ที่ยืนยาว โดยเริ่มจากการติดอาวุธสำคัญอย่าง “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” ให้ลุงตุ๋ย

ลุงตุ๋ย...ตกใจแทบช็อค!

เมื่อลงมือทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทุกวัน ลุงตุ๋ยเห็นว่ารายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่าหวยและค่าบุหรี่ ที่จริงลุงตุ๋ย "เกือบมีเงินล้าน!" ที่เทียบเท่ากับการได้ลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มานานแล้ว เพียงถ้าลุงเลือกจะเก็บเงินที่เคยนำไปซื้อหวย กับซื้อลอตเตอรี่ทุกวันต้นเดือนและกลางเดือนมาตั้งแต่ตอนอายุ 20 เอาไว้จนถึงวันนี้

ค่าบุหรี่ที่ตกวันละ 60-80 บาทนั้น รวมแล้วตกเดือนละเกือบ 2 พัน (หรือสองพันกว่าบาท) มากกว่าค่ากับข้าวถุงทั้งเดือน ที่ลุงพยายามประหยัดกินวันละแค่ 1 ถุงแบ่งให้ได้สามมื้อ มันตกไม่ถึงเดือนละพันบาทด้วยซ้ำ

ลุงตุ๋ยเล่าว่าตอนเริ่มทำงานเป็น รปภ. ใหม่ๆ ชีวิตของลุงก็ไม่ได้ลำบากขนาดนี้

จนกระทั่ง....

ผมเริ่มติดหวยหนักเข้า เพราะเห็นคนอื่นเขาถูกหวยกันเยอะๆ ก็อยากถูกรางวัลเหมือนเขาบ้าง จากที่เคยซื้อหวยครั้งละ 100-200 บาท ก็เพิ่มขึ้นเป็นซื้อครั้งละ 1,000-2,000-3,000 บาท ลอตเตอรี่ก็เหมือนกัน จากที่เคยซื้อครั้งละใบสองใบ ก็ซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 10-20-30 ใบ

หวังรวยทางลัด จนสร้างหนี้...

เมื่อซื้อเยอะๆ เงินที่มีอยู่ก็ไม่พอจ่ายค่าหวยลุงตุ๋ยก็หันไปพึ่งเงินนอกระบบมาจ่ายค่าหวย โดยหวังแค่ว่าเดี๋ยวถูกหวยงวดนี้ก็มีเงินไปจ่ายค่าหนี้หมดแล้ว ชีวิตก็ไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะงวดแล้วงวดเล่าลุงตุ๋ยก็ไม่ถูกหวย และก็กลับไปกู้หนี้มาซื้อหวยเพิ่มอีก ชีวิตการเงินของลุงตุ๋ยหมุนวนอยู่อย่างนี้

“หนี้กับดอกเบี้ยมีแต่จะงอกเพิ่มทุกวัน จนต้องลดเงินที่เคยส่งให้ลูกกับเมียลง จะเล่าให้ลูกเมียฟังก็ไม่กล้าเล่า มันเครียด...อาศัยสูบบุหรี่ช่วยเอา”

การเข้ามาของทีม Financial Education ช่วยสร้างโอกาสให้ลุงตุ๋ย ลุงสามารถเลือกที่จะคว้าโอกาสที่จะ “เปลี่ยนชีวิต” หรือปล่อยโอกาสนี้ไปและหันกลับไปอยู่กับ “ชีวิตเก่า” ที่สร้างหนี้วนอยู่อย่างนั้นอย่างที่เคยเป็นมา

ไม่มีใครสามารถเลือกแทนหรือบังคับให้ลุงทำทุกอย่างเพื่อ “เปลี่ยนชีวิต” ได้หรอก นอกจากตัวลุงเอง

“เปลี่ยนชีวิต” ไม่ใช่เรื่องง่าย

แม้ว่าลุงตุ๋ยคิดมาตลอดว่าชีวิตเก่ามันเป็นชีวิตที่มีแต่ความซวย ความล้มเหลว ความผิดพลาด ถึงได้จน และไม่รวยเหมือนคนอื่นเขาสักที แต่เมื่อได้รับโอกาสในการ “เปลี่ยนชีวิต” เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเข้าจริงๆ มันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

“บุหรี่” แม้ว่าจะรู้ว่าหมดเงินไปแค่ไหนกับค่าบุหรี่ แต่การหักห้ามใจไม่ให้สูบบุหรี่ก็ยากกว่าที่คิด

ลุงตุ๋ยสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 15-16 จนตอนนี้อายุ 50 กว่า อยู่ดีๆ จะโยนบุหรี่ทิ้งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเช่นกัน

แต่ทีมงานก็คอยให้กำลังใจลุงตุ๋ยตลอดเวลา พร้อมกับแนะนำให้ลุงค่อยๆ ลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงวันละมวน สองมวน เช่นเดียวกันกับหวย ลุงยังซื้อได้แต่ลดจำนวนการซื้อลง เหลือครั้งละ 100 ไม่เกิน 200 บาท

ทีม Financial Education เห็นว่าลุงตุ๋ยไม่ต้องเลิกขาดกับหวยก็ได้ ถ้ามันทำให้ชีวิตของลุงได้มีความสุขและช่วยสร้างความหวังบ้าง แต่ต้องซื้อให้น้อยลงและไม่ให้กระทบกับเงินส่วนอื่น

“เพราะนอกจากเขาจะสอนให้ผมจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย ยังสอนให้ผมแบ่งเงินใช้จ่ายออกเป็นกองๆ และกองหนึ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าชีวิตนี้จำเป็นต้องมีก็คือ “เงินออม”

ระหว่างนั้นลุงก็ยังพยายามจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายอยู่ทุกวัน และเริ่มเห็นตัวเลขจากเงินที่เคยใช้ซื้อบุหรี่ทุกวัน เปลี่ยนเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกวันในฝั่งเงินออมแทน ลุงตุ๋ยก็มีแรงที่จะลดการสูบบุหรี่จนเหลือแค่วันละมวนเดียวได้ จนตัดสินใจได้เด็ดขาดว่า “เลิกสูบมันไปเลยก็แล้วกัน”

ผมใช้เวลาสู้กับความอยากสูบบุหรี่ไปพักใหญ่ๆ จนเอาชนะมันได้ คงเพราะผมรู้ว่าลุงทำไปเพื่ออะไร และจริงๆ มันเป็นความหวังที่ผมตั้งใจมาตลอดว่าจะทำในวันที่ผมเกษียณจากการเป็น รปภ.

ตอนนี้ลุงตุ๋ยได้ขยับเข้าใกล้คำว่า “เปลี่ยนชีวิต” แต่แน่นอนว่า...ไม่ง่าย

ช่วงนั้นหนี้นอกระบบที่มีอยู่ห้าหมื่นห้าพอจะเริ่มลดลงไปบ้างแล้ว เพราะระหว่างพยายาม “เปลี่ยนชีวิต” ทีม Financial Education ก็ช่วยคุยกับเจ้าหนี้นอกระบบให้ว่าจะขอให้ผมคืนเงินต้นก่อนสัก 5 พัน เพื่อให้ดอกเบี้ยงวดถัดไปลดลง ทำให้ภาระที่ต้องจ่ายหนี้แต่ละเดือนน้อยลง

ทีมยังแนะนำให้ลุงตุ๋ยผ่อนหนี้เจ้าที่น้อยกว่าให้หมดก่อน ส่วนอีกเจ้าก็จ่ายไปตามปกติ เพื่อให้หนี้หมดไปทีละเจ้า

พอผมเริ่มมี “เงินเก็บ” ก็เริ่มมี “เรื่องให้ต้องจ่าย” เพิ่มขึ้นมา ลูกคนโตเริ่มมีความต้องการใช้เงินเพิ่ม แล้วก็เริ่มมีคนโน้นคนนี้มาขอยืมเงิน มันเป็นเหมือนบททดสอบว่าผมจะยังคงมี “วินัยที่จะผ่อนหนี้” และมี “วินัยที่จะเก็บเงินออม” ไว้ได้แค่ไหน

นอกจากนี้ลุงตุ๋ยยังต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกคนกลางเรียนหนังสือแค่ ม.3 หรือจะส่งให้เรียนหนังสือต่อไปจนจบดี เพราะกลัวจะส่งลูกเรียนไม่ไหว ตอนนั้น...ผมตัดสินใจไปแล้วว่า จะไม่ให้ลูกเรียนต่อ

แต่พอหนี้ของผมลดลงจนเหลือสองหมื่นห้า ทีมจากเงินติดล้อที่ช่วยผมไว้จากความตาย (จากการเป็นหนี้) และชวนให้ผมเข้าโครงการ “ศึกษาการใช้ชีวิตของคนเป็นหนี้ ในกลุ่มอาชีพต่างๆ” ศึกษาพฤติกรรมกลุ่มอาชีพ (หนึ่งในโครงการให้ความรู้ด้านการเงินดำเนินงานโดยทีม Financial Education- บริษัท เงินติดล้อฯ) พวกเขาช่วยเจรจากับ “เงินติดล้อ” เพื่อให้ผมกู้เงินไปโปะหนี้นอกระบบ ทำให้จากที่ผมเคยจ่ายดอกเบี้ยให้หนี้นอกระบบอยู่ร้อยละ 20 เหลืออยู่แค่ร้อยละ 2 เท่านั้น จากที่เคยจ่ายหนี้เดือนละ 5,000 ก็เหลือจ่ายแค่เดือนละ 1,600 ผมจึงเริ่มมองเห็นโอกาสที่จะส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือต่อไปได้

“เปลี่ยนชีวิต”ตัวเอง เพื่อ ชีวิตของครอบครัว

ที่จริง ในระหว่างที่ผมกำลัง “สู้” เพื่อจะ “เปลี่ยนชีวิตตัวเอง” ผมก็เกือบกลายเป็นพ่อที่ตัดโอกาสในการมี “ชีวิตที่ดีขึ้น” ของลูกและครอบครัวไปแล้ว

โชคดี…ที่ผมตัดสินใจเล่าเรื่องที่คิดว่าจะไม่ส่งให้ลูกคนกลางเรียนต่อ ให้ “เพื่อน” ในทีม Financial Education ของเงินติดล้อฟัง และได้รับคำแนะนำว่าความรู้ ความเท่าทันเทคโนโลยีเป็นอาวุธที่สำคัญของคนทุกวันนี้ ถ้าลูกๆ ไม่ได้เรียนต่อคงมีชีวิตลำบาก แต่ถ้าพวกเขาได้รับโอกาสนั้นอนาคตของเขาพวกเขาและครอบครัวก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

เขาไม่เพียงแค่บอกผมให้ลองคิดทบทวนใหม่ แต่ยังไปหาข้อมูลตัวเลขมาเปรียบเทียบให้ผมดูด้วยว่าเงินลงทุนการศึกษาของลูกๆ ผม จะตอบแทนกลับมาเป็นรายได้เท่ากับเงินที่ได้ผมได้ลงทุนเรื่องการศึกษาให้กับลูกไปภายในระยะเวลา 10 ปีหลังจากเขาเรียนจบ

ด้วยเรื่องนี้ผมย้อนนึกถึงว่าอาจจะเพราะผมได้รับโอกาสน้อยชีวิตถึงได้เป็นแบบนี้ เมื่อวันนี้มีโอกาสผมจะปล่อยให้ชีวิตของลูกต้องเป็นเหมือนผมอีกหรือ…ทั้งๆ ที่ตอนนี้ผมพอหาทางพอที่จะให้ลูกๆ เรียนต่อได้

ในเมื่อผมสู้…เพื่อ “เปลี่ยนชีวิต” มาได้ถึงขนาดนี้ ผมจะสู้อีก…เพื่อแบ่งปัน “โอกาส” นี้ให้ลูกและครอบครัวได้มีอนาคตที่ดีขึ้น

“ความสุข” กลับคืนมา

ผมไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ผมกำลังทำนี้จะเรียกว่าเป็นความ “ฟุ่มเฟือย” สำหรับคนที่กำลังใช้หนี้อยู่หรือเปล่า แต่เป็นความจริงที่ผมไม่ได้พบกับครอบครัวพร้อมหน้า 5 คนพ่อแม่ลูกมานานมากแล้ว เพราะช่วงที่เป็นหนี้ ผมไม่มีแม้แต่เงินที่จะซื้อตั๋วรถโดยสารกลับไปหาครอบครัวให้หายคิดถึงเลย

“วันนี้ ผมพาครอบครัวมาเลี้ยงฉลองกันที่ MK นะครับ”

ผมส่งข้อความและภาพครอบครัวที่กำลังยิ้มอย่างมีความสุข ที่ขอให้พนักงานของร้านช่วยถ่ายให้ ส่งไปให้ทางไลน์ของ “เพื่อน” ในทีม Financial Education

“ดีใจด้วยครับ ขอให้มีความสุขมากๆ กับอาหารมื้อนี้กันทุกคนนะครับ” ข้อความตอบกลับเด้งกลับมาในทันที

เป็นอีกครั้งที่ผมรู้ว่าพวกเขาไม่ได้แค่พร้อมจะให้คำแนะนำกับผม หรือแค่พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้ผมไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังเข้าใจชีวิตคนธรรมดาๆ อย่างผม ที่อยากจะมีโอกาส “เติมความสุข” ให้กับตัวเองและครอบครัวบ้าง

มื้อนี้เป็นมื้อแรกจริง ๆ ที่ผมมีโอกาสได้พบกับ “ความสุข” ที่หายไปนานจากชีวิตผม

“วันนี้...ผมหมดหนี้แล้ว”

หลังจากผ่อนหนี้งวดสุดท้ายไป ผมก็เริ่มมองภาพชีวิตของตัวเองในวันเกษียณชัดเจนขึ้น ผมอยากมีเงินเก็บไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ขับไปขายน้ำตามซอยต่าง ๆ อย่างที่เคยฝันไว้ เพราะผมเองไม่เคยคิดว่าจะอาศัยพึ่งพาลูกไปตลอดชีวิต เงินเก็บที่ผมมีอาจไม่ได้มากมาย และความฝันที่ผมมีก็ไม่ได้ฟังดูไม่ยิ่งใหญ่อะไร

แต่ผมได้รับโอกาสใหม่ที่ทำให้ผม “เปลี่ยนชีวิต” ไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นได้แล้ว

คุณล่ะ...“เปลี่ยนชีวิต” ได้แล้วหรือยัง

...

ขอบคุณ “เพื่อน” (ทีมงาน Financial Education บริษัท เงินติดล้อฯ) ทุกคน

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น