อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่หากอัตราดอกเบี้ยขึ้น ผลกระทบกับลูกหนี้ย่อมตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น การทำความเข้าใจอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละประเภทจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คุณได้เตรียมความพร้อมทางการเงิน และวางแผนหาวิธีจัดการหนี้แต่ละก้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เงินติดล้อจะมาอัปเดตอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละประเภท และสินเชื่ออะไรที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบนี้
สำหรับใครที่ชอบฟัง Podcast เงินติดล้อมีช่องทางให้คุณได้ติดตามความรู้เกี่ยวกับการเงินสนุกสุดเพลิดเพลินแล้ว โดยใน EP.20 ดอกเบี้ยรถใหม่ 2566 จะเริ่มคิดแบบลดต้นลดดอก มีให้บริการทั้งใน Spotify และ Podbean
ผู้ดำเนินรายการ
คุณ มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร (ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมด้านการเงิน)
คุณ ปรเมษ บุญเศรษฐ (ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมด้านการเงิน)
ประเภทสินเชื่อพร้อมอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละประเภทจะมีการคิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกันออกไป ด้วยปัจจัยหลายประการรวมถึงระดับความเสี่ยงของสินเชื่อประเภทนั้นเช่น ต้นทุนของเงินทุน ระยะเวลาของเงินกู้ สภาวะตลาด ประวัติและความน่าเชื่อถือของผู้กู้ ซึ่งโดยทั่วไปสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงก็จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า เพื่อชดเชยผู้ให้กู้ที่รับความเสี่ยงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีไม่มีทรัพย์สินอะไรมาค้ำประกันกับผู้ให้กู้เลย มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่มีหลักประกันอย่างสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อรถยนต์
- สินเชื่อบัตรเครดิต ดอกเบี้ยร้อยละ 16
- สินเชื่อบัตรกดเงินสด ดอกเบี้ยร้อยละ 25
- สินเชื่อบัตรส่วนบุคคล ดอกเบี้ยร้อยละ 25
- สินเชื่อเช่าซื้อรถ เป็นไปตามประกาศของสคบ. รถยนต์ใหม่ไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี รถจักรยานยนต์ทั้งเก่าและใหม่ไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี
- สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2566 MRR จะอยู่ที่ 6.9%-7.5% โดยประมาณ
ดอกเบี้ยขาขึ้น ลูกหนี้จะมีวิธีจัดการหนี้อย่างไรบ้าง?
หากการหารายได้เสริมไม่ทันกับสถานการณ์การเงินในตอนนี้ หรือแค่ทำงานประจำอย่างเดียวก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว การหาวิธีลดรายจ่ายอาจเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เงินติดล้อขอแนะนำวิธีบริหารจัดการหนี้ทั้งหมดที่มีให้เข้าที่เข้าทาง เพื่อให้ลูกหนี้รับมือกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลมากที่สุด
1. ปิดบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน
บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่หลายคนเลือกใช้มากที่สุด แต่หากไม่วางแผนการใช้บัตรเครดิตให้ดี ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสินเชื่อที่สร้างปัญหาทางการเงินไม่ใช่น้อย ซึ่งการใช้ทั้งบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ยอดผ่อนชำระต่อเดือนควรอยู่ที่ 30% ของรายได้ หรือไม่เกิน 40% จึงจะดีที่สุด
อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทั้ง 3 ประเภทนี้ มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 16-25 ใครที่มีหนี้กลุ่มเยอะ ๆ ควรหาวิธีปิดบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน การลดรายจ่ายส่วนนี้ออกไปจะช่วยให้คุณมีเงินเหลือไปใช้หนี้ หรือใช้จ่ายส่วนอื่นได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น หยุดเอาบัตรนู้นมาโปะบัตรนี้ ที่จะทำให้เป็นการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และในอนาคตจะยิ่งบริหารจัดการหนี้ได้ยากกว่าเดิม
2. รวมหนี้เป็นก้อนเดียว บริหารจัดการง่ายกว่า
แล้วจะเอาเงินจากไหนไปปิดบัตรเครดิต? หากคุณมีทั้งหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ลองหาสินเชื่อที่ให้กู้เป็นเงินก้อนใหญ่อย่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หรือสินเชื่อทะเบียนรถเก๋ง-กระบะ สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเท่าตัวเลย เมื่อได้เงินก้อนมาก ให้นำไปปิดบัตรเครดิตหรือบัตรต่าง ๆ ที่ผ่อนไม่ไหว เพื่อที่จะได้เป็นหนี้ที่เดียวในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิมอย่างแน่นอน
3. เจรจากับสถาบันการเงิน
ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อประเภทไหนก็ตาม เมื่อคุณเริ่มเข้าใจสถานการณ์การเงินของตัวเองแล้วว่าน่าจะผ่อนไม่ไหว ให้รีบเจรจา พูดคุย กับสถาบันการเงินนั้น ๆ ทันที เพื่อขอปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ก่อนจะเลยวันกำหนดชำระ เพราะมีโอกาสสูงที่สถาบันการเงินจะเข้าใจสถานการณ์ของคุณ พร้อมนำเสนอเงื่อนไขที่พอจะช่วยคุณได้อย่างแน่นอน และอาจจะไม่ทำให้คุณต้องเสียประวัติเครดิตบูโรอีกด้วย
ดอกเบี้ยขึ้น สินเชื่อประเภทไหนได้รับผลกระทบมากที่สุด?
ในช่วงดอกเบี้ยขึ้นแบบนี้ สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับคนที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดกับธนาคารต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) สำหรับการผ่อนในปีที่ 4 เป็นต้นไป หรือบางธนาคารอาจจะคิดดอกเบี้ยลอยตัวตั้งแต่ในปีแรกเลยก็มี ขึ้นอยู่กับโปรโมชันในช่วงนั้น ๆ โดยอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายจะมีความผันผวนไปตามค่า MRR หรือ MLR ของแต่ละธนาคาร เช่น MRR-3%, MRR-4% เป็นต้น แต่สำหรับสัญญาเงินกู้ของใครที่ยังอยู่ในช่วงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate) ก็จะยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นในช่วงนี้นั่นเอง
ลดดอกเบี้ยได้ง่าย ๆ ด้วยการ Retention หรือ Refinance
สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดทุกประเภท ดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้สามารถนำไป Retention หรือ Refinance เพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ให้มีความเหมาะสมกับคุณมากขึ้นได้ เช่น ระยะเวลาการผ่อนที่นานขึ้น หรือค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนที่น้อยลง เป็นต้น
เป็นการที่คุณยังคงผ่อนชำระกับธนาคารแห่งเดิมอยู่ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของความสะดวก อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หรืออาจจะยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า โดย Retention จะเป็นการขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาเงินกู้กับธนาคารเดิมแทนการย้ายไปธนาคารอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขอปรับลดดอกเบี้ย หรือขอคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ โดยผลการอนุมัติจะขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่งด้วยนั่นเอง
เป็นการย้ายหนี้ก้อนเดิมไปผ่อนชำระกับธนาคารแห่งใหม่ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นการเปลี่ยนเจ้าหนี้นั่นเอง โดยธนาคารแห่งใหม่อาจมาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ระยะเวลาการผ่อนที่นานขึ้น หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งการรีไฟแนนซ์สามารถช่วยคุณประหยัดเงินได้ในระยะยาว หรือได้ระยะเวลาการผ่อนที่นานขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ค่างวดผ่อนในแต่ละเดือนน้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม การรีไฟแนนซ์อาจมาพร้อมค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการปิดบัญชี และค่าปรับอื่น ๆ ตามที่ธนาคารแห่งเดิมกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ หรือค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าจดจำนองที่จะต้องจ่ายให้กับธนาคารแห่งใหม่
ดังนั้น ทำความเข้าใจประเภทสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยของคุณก่อนเสมอ และหากคุณกำลังผ่อนบ้านหรือคอนโด รีบเช็คสัญญาเงินกู้ว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของคุณเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เพื่อหาวิธีรับมือบริหารจัดการหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สรุป วิธีรับมือเมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น
ทำความเข้าใจวิธีคิดดอกเบี้ยของสัญญาเงินกู้ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญาเงินกู้ทุกครั้งด้วย เพราะคุณจำเป็นต้องวางแผนการเงินเพื่อให้ชำระหนี้ไหว โดยยอดผ่อนในแต่ละเดือนของหนี้ทั้งหมด รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ ก็จะไม่ทำให้เกิดความเครียดทางการเงินหากต้องเผชิญกับช่วงดอกเบี้ยขึ้น หากไม่วางแผนหาวิธีรับมือกับหนี้ของคุณให้ดี ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการผิดนัดชำระ ซึ่งจะส่งผลต่อประวัติเครดิตบูโรของคุณนั่นเอง หรือหากต้องการเงินด่วนจริง ๆ เราขอแนะนำสินเชื่อทะเบียนรถเงินติดล้อ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อทะเบียนรถเก๋ง-กระบะสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ดอกเบี้ยถูก กู้ง่าย ได้ไว และไม่ต้องใช้คนค้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Krungsri