หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เงินติดล้อ ร่วมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน

เงินติดล้อ ร่วมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน

21 ธันวาคม 2565
เงินติดล้อ ร่วมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาคำว่า ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นเทรนด์ ที่ทำให้องค์กรทั่วโลกฉุกคิด หันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและโลกมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการมุ่งหวังเพียงผลกำไร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลากหลายองค์กรได้ออกมาช่วยกันระดมสมองและกำลังในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนจากมุมมองและความถนัดของแต่ละองค์กรอย่างไม่ขาดสาย

และสำหรับเงินติดล้อคำว่าความยั่งยืนนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่เพิ่งมา แต่เป็นเรื่องที่ชาวเงินติดล้อยึดมั่นมาตลอด เพราะที่เงินติดล้อความยั่งยืนคือจุดเริ่มต้น หรือ เจตนารมณ์ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าและผู้คนในสังคมเพื่อให้มีชีวิตที่หมุนต่อได้และไม่กลับมาหาเราอีก และยึดแนวคิดนี้ไว้เสมอในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางของอนาคต

 

กลยุทธ์คือเครื่องสะท้อนเจตนา

กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความยั่งยืนของเงินติดล้อในทุกวันนี้ ได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย โดย Center for Impact Investing and Practice (CIIP) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย Temasek Trust ในฐานะองค์กรตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนถึง 5 เป้าหมายในมิติด้านสังคม คือ ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน, ส่งเสริมคุณภาพการศึกษา, การจ้างงานที่เป็นธรรมและและเศรษฐกิจที่เติบโต, ส่งเสริมนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน

แน่นอนว่าความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทางสังคมของเงินติดล้อในวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้นจากการทำตามกระแสสังคม หากแต่เกิดจาก ‘เจตนารมณ์’ ในการดำเนินธุรกิจของเงินติดล้อตั้งแต่เริ่มต้น ที่ต้องการสร้างโอกาสทางการเงินให้กับคนไทยในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งการเงินในระบบได้ (Underbanked) เงินติดล้อจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้คนในสังคมได้มีความรู้ด้านการเงินอย่างทั่วถึง เพราะเชื่อว่าการมีความรู้พื้นฐานด้านการเงินที่มั่นคงจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นอกจากการส่งเสริมให้ชาวเงินติดล้อร่วมกิจกรรมจิตอาสา เพื่อให้ความรู้ด้านการเงินกับชุมชนและกลุ่มคนที่ต้องการโอกาสกลุ่มต่างๆ แล้ว เงินติดล้อยังส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาตลอดอีกด้วย

แน่นอนว่าการได้รับการยกย่องในระดับเอเชียเป็นความภาคภูมิใจของชาวเงินติดล้อ และทำให้ชาวเงินติดล้อยิ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจพร้อมส่งพลังบวก เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

 

มองหาแรงบันดาลใจจาก ‘องค์กรที่คล้ายกัน’ เพื่อเติมพลังมุ่งสู่เป้าหมาย

เมื่อหนทางในการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนมาจากกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กร การจัดกิจกรรม NTL Leadership Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมระดมความคิดของผู้นำและกำหนดทิศทางขององค์กร เพื่อให้ทุกคนได้เห็นเป้าหมายเดียวกันจึงเป็นกิจกรรมที่เงินติดล้อให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาเงินติดล้อมักหาประสบการณ์เรียนรู้จากองค์กรชั้นนำระดับโลก ทั้งผ่านหนังสือ เช่น สตาร์บัคส์ (Starbucks) แอมะซอน (Amazon) เลโก้ (Lego) และจากการไปศึกษาดูงานจริงๆ ที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อะลีบาบา (Alibaba) ดิสนีย์ (Disney) แซปโปส (Zappos) ฯลฯ แต่กิจกรรม NTL Leadership workshop 2022 ของผู้นำชาวเงินติดล้อในปีนี้ เกิดขึ้นที่ ‘ดอยตุง’ เพราะดอยตุงไม่เพียงเป็นองค์กรสัญชาติไทยที่มีแนวคิดระดับโลก และยังมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่คล้ายกับเงินติดล้อ โดยเฉพาะเรื่องจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์กรด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้โอกาสผู้คนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์จากจุดแข็งที่มีอยู่ การมีวัฒนธรรมที่กล้าคิด กล้าลอง ไม่หยุดคิดค้นพัฒนา และการมีแนวคิดที่จะพัฒนาคนในสังคมได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ทั้งเงินติดล้อและดอยตุง ยังสร้างองค์กรจากภาพที่ติดลบเหมือนกันคือเงินติดล้อเคยมีอดีตที่คนภายนอกมองเป็นธุรกิจสีเทา คิดดอกเบี้ยสูง ก่อนจะพลิกเปลี่ยนมาสู่การเป็นองค์กรที่ช่วยให้โอกาสผู้คนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อสร้างโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนดอยตุงเริ่มต้นจากการที่คนในพื้นที่บุกรุกป่า ปลูกฝิ่น มาสู่การเป็นองค์กรที่มอบโอกาสให้ชาวบ้านได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพสู่สายตาชาวโลก

โดยการเดินทางไปดอยตุงครั้งนี้ยังทำให้เหล่าผู้นำชาวเงินติดล้อได้มีโอกาสร่วมกันสร้างฝาย เพื่อช่วยชะลอน้ำและเก็บกักน้ำ ซึ่งช่วยทำให้ป่าชุ่มชื้น และยังช่วยลดปัญหาการเกิดไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในหน้าแล้งอีกด้วย สำหรับการศึกษาดูงานที่ดอยตุงครั้งนี้ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจอย่างคาดไม่ถึง

“ประทับใจเรื่องราวของดอยตุงในการมีเป้าหมาย และเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ที่ต้องการช่วยให้ชาวบ้านเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ ซึ่งคิดว่าคิดว่าทุกองค์กรควรจะเป็นแบบนี้ และที่เงินติดล้อเราก็มีแนวคิดแบบนั้น”- วิริยาภา ธนลาภเจริญ, Operation Analyst ทีม Operations

“ดอยตุงเป็นองค์กรที่ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดผล แต่มีการวัดผลที่ชัดเจน ทำให้เห็นภาพและนำไปปรับปรุงต่อยอดได้ สามารถนำแนวคิดนี้เป็นแรงบันดาลใจในการปรับปรุงงานที่เรารับผิดชอบให้ดีขึ้นด้วย”- เบญจวรรณ พิรุฬห์รุ่งเรือง, Training Specialist ทีม Financial Education

“เบื้องหน้าเราจะเห็นแค่ว่าดอยตุงเป็นแบรนด์ที่ขายชา กาแฟ แต่พอได้มาฟังเรื่องราวขององค์กรเขาจริงๆ ผมประทับใจกับสิ่งที่เขาทำให้กับชาวบ้าน ชุมชน และสังคม มันเป็นอะไรที่มากกว่าที่เราเห็น เช่น การสร้างอาชีพและการช่วยให้ชาวบ้านเขาพึ่งตัวเองได้”- วรพล ทิพย์มณีมงคล, UI Designer ทีม Digital Transformation

“พอได้ฟังเรื่องราวและเจตนารมณ์ของดอยตุงก่อนที่ออกไปทำฝาย ทำให้เรามีกำลังใจและเห็นเป้าหมายชัดเจน ว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือสิ่งเล็กๆ ที่จะรวมกันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เหมือนกับการทำงาน เมื่อเราเข้าใจเป้าหมายของทีมและขององค์กรชัดเจนและตรงกัน จะทำให้เราไม่คิดจะจับผิด แต่ร่วมกันหาทางพัฒนาให้ดีขึ้น”- สุดารัตน์ ช้างแดง, Fraud Monitoring Officer ทีม Fraud

สุดท้ายการที่ชาวเงินติดล้อได้อยู่ร่วมกันในบรรยากาศขององค์กรที่เส้นทางและเป้าหมายที่ละม้ายคล้ายกัน ทำให้ทุกคนได้มีเวลาย้อนทบทวนเจตนารมณ์ เติมแรงใจให้กันเพื่อส่งต่อพลังบวก เข้าใจและเห็นทิศทางที่จะนำพาองค์กรมุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น