หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ โอกาสของพนักงาน 1 คน ที่ได้ส่งมอบโอกาสต่อไปอีกไม่รู้จบ

โอกาสของพนักงาน 1 คน ที่ได้ส่งมอบโอกาสต่อไปอีกไม่รู้จบ

24 มีนาคม 2563
โอกาสของพนักงาน 1 คน ที่ได้ส่งมอบโอกาสต่อไปอีกไม่รู้จบ

“ที่เงินติดล้อ เราทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส คือสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ เราส่งมอบโอกาสทางการเงิน โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมต่อลูกค้า เรียบง่าย สะดวกและรวดเร็ว ผ่านความจริงใจของพนักงาน”

“โอกาส” ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยๆ แต่เป็นคำที่ชาวเงินติดล้อทุกคนคุ้นเคยดีทั้งในฐานะ “ผู้รับโอกาส” และ “ผู้ให้โอกาส” ในการมีชีวิตที่หมุนต่อได้ เราจึงใช้คำนี้มาเป็นรากฐานความคิดและแนวทางสำคัญในการปฏิบัติต่อๆ กันมาจนเกิดเป็นค่านิยมองค์กร ที่เป็นเสมือนเข็มทิศที่นำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

และอีกหนึ่งความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของ “โอกาส” ที่ชาวเงินติดล้อส่งต่อกันมาตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานส่งเอกสาร คือ การรับโอกาส ลงมือทำอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ ด้วยความมุ่งหวังให้โอกาสนั้นประสบความสำเร็จ แต่หากไม่ได้ผลตามที่หวัง นั่นก็จะเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเป็นไปดังความตั้งใจ สิ่งที่ชาวเงินติดล้อทำต่อไปก็คือการส่งต่อโอกาสให้คนอื่น

มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร หัวหน้าทีมนำความรู้สู้ชุมชนเพื่อชีวิตหมุนต่อได้ เป็น 1 ในพนักงานหลายพันคนของเรา ที่สะท้อนค่านิยมเงินติดล้อ “สร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาส สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน” อย่างชัดเจน นับตั้งแต่เริ่มต้นทำงานกับเงินติดล้อ ในตำแหน่งพนักงานส่งเอกสารเมื่อ 15 ปีก่อน และได้รับโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะได้รับหน้าที่เป็นผู้ส่งต่อโอกาสดีๆ ให้คนหลายพันคนในฐานะผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรม แผนกฝึกอบรมและพัฒนา และหัวหน้าทีม Financial Education ของเงินติดล้อ ผู้เข้าใจหัวอกของทั้งพนักงานและลูกค้าของเงินติดล้ออย่างลึกซึ้ง

พนักงาน (ที่ไม่ใช่แค่) ส่งสาร

มิ่งขวัญเริ่มต้นทำงานกับเงินติดล้อในตำแหน่งพนักงานส่งเอกสาร ด้วยวุฒิ ม.6 รับหน้าที่นำเช็คไปเข้าธนาคารเพื่อโอนเงินให้ลูกค้า

“ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจว่าเช็คแต่ละใบมีคุณค่าสำหรับลูกค้ามาก พอลองมาประกอบเรื่องเป็นจิ๊กซอว์ในภายหลังถึงเพิ่งรู้ตัวว่า เราเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ทำให้ลูกค้าได้เงินเร็ว” เขาลำดับความคิดนึกถึงตัวเองเมื่อปี 2548

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยี Internet Banking เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น มิ่งขวัญก็ได้รับโอกาสในการปรับตำแหน่งใหม่เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์โอนเงิน รับหน้าที่ตรวจเช็คความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ก่อนดำเนินการโอนเงินให้ลูกค้า ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อในเวลาต่อมา ในระหว่างนี้เองเขาก็ใช้เวลาช่วงเย็นในการศึกษาต่อจนจบ ปวส. และปริญญาตรีได้ในที่สุด บวกกับการเรียนรู้งานหลังบ้านจนแม่นยำดีแล้ว เขาจึงทำเรื่องขอย้ายตัวเองไปประจำที่เงินติดล้อ สาขาบางแค ยอมขี่มอเตอร์ไซค์ไป-กลับวันละ 120 กิโลเมตรจากบ้านย่านคลองหลวง ปทุมธานี เพื่อเรียนรู้งานที่ต้องพบปะเจอตัวลูกค้า ซึ่งต้องทำงานแบบครบวงจรตั้งแต่สัมภาษณ์พูดคุยกับลูกค้า เดินทางไปตรวจสอบที่อยู่อาศัย ดำเนินการโอนรถ ไปจนถึงขั้นตอนการติดตามในกรณีที่ลูกค้าไม่จ่ายค่างวด มิ่งขวัญทำงานในตำแหน่งนี้ได้เพียง 1 ปี ก็ได้รับการชักชวนจากสำนักงานใหญ่ให้กลับไปรับหน้าที่ผู้ฝึกอบรม

งานส่งสารสู่คนนับพัน

“คีย์เวิร์ดที่ทำให้ผมเปลี่ยนแนวความคิดจากคนที่เคยมองแค่ตัวเอง กลับมองให้กว้างขึ้นก็คือ ถ้าผมยังอยู่ที่สาขา ผมก็จะสอนคนได้แค่ 2-3 คน แต่ถ้าผมย้ายมาอยู่สำนักงานใหญ่ ผมจะสามารถสอนคนได้เป็นพันๆ คน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และเสริมคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งพอได้ลองทำจริงๆ ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้สอนและให้คำแนะนำกับเพื่อนๆ พนักงานให้เขาทำในสิ่งที่ควรจะเป็น” มิ่งขวัญเผยถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่พลิกบทบาทให้คนเดินสารอย่างเขากลายเป็นผู้ส่งสารมืออาชีพได้ในที่สุด ซึ่งถ้าถามว่าเขาเอาอะไรมาสอนคนอื่น และฝึกทักษะการสอนมากจากไหน – ประสบการณ์ล้วนๆ คือคำตอบ

“ตอนผมทำงานอยู่ฝ่ายเครดิต ยังไม่มีทีมฝึกอบรม เวลามีน้องเข้ามาทำงานใหม่ก็มักมาเรียนรู้งานจากผม ผมก็เริ่มสอนงานเล็กๆ น้อยๆ จากประสบการณ์ของตัวเองที่ผ่านงานมาก่อน ประกอบกับผมต้องติดต่องานกับสำนักงานใหญ่เลยทำหน้าที่เหมือนตัวกลางในการสื่อสารความต้องการระหว่างสาขากับสำนักงานใหญ่ไปในตัว ทำให้เมื่อบริษัทเริ่มเขียน SOP (Standard Operation Procedures) ฉบับแรกขึ้น ผมจึงมีโอกาสได้ศึกษาโครงสร้างของเนื้องานโดยละเอียด เมื่อนำมาผนวกเข้ากับประสบการณ์ที่เจอหน้างานจริง ทำให้ผมสามารถยกตัวอย่างแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ มาเล่าให้น้องๆ พนักงานใหม่เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งผมได้ทำการฝึกอบรมด้านสินเชื่อให้กับผู้จัดการสาขาและผู้จัดการพื้นที่ด้วย ผมจึงเริ่มชอบการสอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ส่งต่อโอกาสในวงกว้าง

หลังจากทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมให้กับพนักงานในองค์กรมาได้พักใหญ่ มิ่งขวัญได้รับโอกาสดีๆ อีกครั้งในปี 2556 เมื่อเงินติดล้อเริ่มต้นโครงการอบรมให้ความรู้ทางการเงินกับลูกค้าสินเชื่อตลาดสด จนทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางรายสามารถปลดหนี้ได้จนหมด และสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ต่อยอดไปสู่โครงการ “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” ในปี 2558 ที่ขยายขอบเขตการให้ความรู้ด้านการเงินไปสู่ชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่งานที่ง่าย แต่มิ่งขวัญรวมถึงทีมงานเงินติดล้อไม่เคยหมดกำลังใจ

“ผมกับทีมงานอาสาสมัครจะลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจก่อนทุกครั้งว่า พฤติกรรมของคนในแต่ละชุมชนเป็นอย่างไร เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร บริโภคอะไรเป็นหลัก ผมจะได้หาเคสตัวอย่างที่กระแทกใจมาแชร์ในวันฝึกอบรม เพื่อสะกิดให้เขาได้ฉุกคิดว่าถ้ายังคิดและใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป บั้นปลายชีวิตจะแย่ลงเรื่อยๆ โดยแนวทางที่ผมสอนจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่า ต้องปลดหนี้แบบไหน แต่ผมจะสมมุติสถานการณ์ให้ผู้เข้าร่วม กล้าที่จะบอกว่า เขาเป็นหนี้จากอะไร เช่น หนี้ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่าย ขาดการวางแผนการเงิน เหตุไม่คาดฝัน หรือหวังรวยทางลัด แล้วผมก็จะค่อยๆ เจาะไปถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เช่น เห็นคนโน้นมีก็อยากได้ อยากมีบ้าง เลยทำให้ตัวเองให้เป็นหนี้ พอรู้สาเหตุแบบนี้แล้วจะป้องกันอย่างไร หรือถ้ามีหนี้แล้วจะค่อยๆ เคลียร์อย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด การให้ความรู้ทางการเงินผ่านการอบรมควบคู่ไปกับการอนุมัติสินเชื่อจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีแก่ประชาชน เขาจะได้ตระหนักว่าเงินที่กู้ไปนั้นจะก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ จะนำเอาเงินไปใช้ประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร” มิ่งขวัญเล่าถึงแนวทางการทำงานถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ที่ล่าสุดเขากับทีมบุกไปให้ความรู้ถึงในรั้วเรือนจำ ในโอกาสที่เงินติดล้อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” รับหน้าที่ออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ความรู้ด้านการเงินเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาด

ส่งต่อโอกาสในวงกว้าง

“ยิ่งทำงานตรงนี้มากขึ้น ผมก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น ตอนนี้ผมกำลังศึกษาต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเติมมุมมองในระดับมหภาคให้กับตัวเอง มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า สิ่งที่เราทำ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นลงมือ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แค่ทำแล้วเรามีความสุข และคนที่ได้รับความรู้จากเราสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง แค่นี้ก็พอแล้วในกำลังของเรา

ผมว่าเราต้องเปิดโอกาสให้กับตัวเราเองก่อน พอเราได้รับโอกาสมาแล้ว เราก็ควรแบ่งปันโอกาสสู่คนรอบข้างให้ได้มากที่สุด จากนั้นโอกาสก็จะอยู่ทั่วทุกที่ และเมื่อไรก็ตามที่คนจำนวนมากคิดแบบนี้ สังคมของเราก็จะมีแต่การช่วยเหลือกันและกัน” มิ่งขวัญให้คำนิยามกับคำว่าโอกาส ที่ไม่เพียงต่อยอดความสำเร็จให้กับชีวิตเขาเอง แต่ยังแตกหน่อออกไปเป็นประโยชน์สู่สังคมในวงกว้าง ที่ขยายวงออกไปเรื่อยๆ ภายใต้การขับเคลื่อนของเงินติดล้อ วงล้อทางการเงินที่ไม่เคยหยุดหมุนไปข้างหน้า

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น