หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ถอด DNA ผู้นำหญิงแกร่ง…อาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้ปั้นธุรกิจประกันภัย จากศูนย์สู่ความสำเร็จ

ถอด DNA ผู้นำหญิงแกร่ง…อาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้ปั้นธุรกิจประกันภัย จากศูนย์สู่ความสำเร็จ

01 พฤศจิกายน 2566
ถอด DNA ผู้นำหญิงแกร่ง…อาฑิตยา พูนวัตถุ  ผู้ปั้นธุรกิจประกันภัย จากศูนย์สู่ความสำเร็จ

ในยุคที่คนส่วนใหญ่วาดภาพความสำเร็จในชีวิตว่าคือการได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่มั่นคง คงมีคนเพียงไม่กี่คนที่จะยอมเดินออกมาจากโอกาสที่หลายคนใฝ่ฝัน แล้วเลือกมาทำงานกับบริษัทสินเชื่อเล็กๆ ที่ในเวลานั้นแทบจะไม่มีใครรู้จัก

คุณอาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหารระดับสูงด้านนายหน้าประกัน  หรือ ‘พี่เปิ้ล’ ที่น้องๆ พนักงานเรียกกันอย่างคุ้นเคยจนติดปาก ก็คือหนึ่งในไม่กี่คนที่ตัดสินใจก้าวออกมาจากบริษัทยาระดับโลก และมาทำงานกับบริษัทสินเชื่อสัญชาติไทยซึ่งในเวลานั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆ อย่าง ‘เงินติดล้อ’ เพราะเธอเป็นคนชอบทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตง่ายๆ พร้อมปรับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา และตื่นเต้นเสมอกับโอกาสที่จะได้สร้างความเติบโตไปพร้อมกับองค์กรด้วยวิธีการและแนวคิดใหม่ๆ

แน่นอนว่าเส้นทางที่เธอเลือกเต็มไปด้วยความท้าทาย เธอเริ่มงานที่เงินติดล้อด้วยการเป็นผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resources หรือ HR) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นฝ่าย Happy People หรือ HP และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับโอกาสให้มาช่วยสร้างธุรกิจนายหน้าประกัน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของเงินติดล้อในเวลานั้นควบคู่ไปกับการดูแลงาน HP

ถึงแม้ว่าความรู้ด้านธุรกิจประกันของเธอในเวลานั้นจะเป็นศูนย์ แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ปีคุณอาฑิตยาก็สามารถปลุกปั้นธุรกิจนายหน้าประกันของเงินติดล้อให้ทะยานขึ้นมาเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ของตลาดโบรกเกอร์ประกันภัยในประเทศไทยได้ อีกทั้งยังได้รับรางวัลการันตีด้านเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) จากเวทีประกวดชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ความสามารถในฐานะผู้นำทัพหญิง ‘ประกันติดล้อ’ ของคุณอาฑิตยาได้เป็นอย่างดี

และสิ่งที่น่าสนใจพอๆ กับเส้นทางการทำงานของคุณอาฑิตยาก็คือแนวคิดที่นำพาเธอไปสู่ความสำเร็จซึ่งถูกถ่ายทอดไว้ในบทสัมภาษณ์นี้

“โชคดีที่เรารู้ตัวตั้งแต่ตอนเด็กๆ ว่าเราเป็นคนไม่เก่ง แต่เราเรียนรู้ว่าถ้าพยายามก็จะทำทุกอย่างให้สำเร็จได้ และเชื่อว่าในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ถ้าอยากรู้ก็ต้องเรียน อยากเข้าใจก็ต้องถาม ถ้าอยากสำเร็จก็ต้องทุ่มเท ต้องถกแขนเสื้อแล้วลงไปทำจริงๆ”

นี่คือสิ่งที่คุณอาฑิตยาบอกตัวเองมาตลอด และเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญที่นำทางให้เธอสามารถข้ามผ่านทุกความท้าทายมาได้

“สมัยเรียนประถม เราก็สงสัยว่าทำไมเพื่อนที่วิ่งเล่นอยู่ด้วยกันกับเราเขาถึงสอบได้ที่ 1 ก็เลยลองหยุดวิ่งเล่นแล้วหันมาอ่านหนังสือเหมือนเพื่อนบ้าง ซึ่งจำได้ว่าเราอ่านหนักมาก พอผลสอบออกมา เออ…เราก็ได้ที่ 1 เหมือนกัน เลยกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตลอดว่าถ้ามีอะไรที่ไม่รู้ก็จะพยายามอ่าน พยายามหาข้อมูลเพื่อให้ได้รู้”


ค้นพบตัวตน ที่ ‘เงินติดล้อ’

คุณอาฑิตยาเล่าย้อนเส้นทางการเรียนและการทำงานที่ผ่านมาของเธอว่า หลังจากจบปริญญาตรีภาควิชาการธนาคารและการเงินจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการพัฒนาองค์กร หรือ Organization Development เพราะไม่อยากทำงานเกี่ยวกับตัวเลข โดยเริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้าน Organization Design และมีโอกาสเปลี่ยนสายไปทำงานด้าน Telecoms อย่างดีแทค ซึ่งเป็นแบรนด์น้องใหม่ไฟแรงในขณะนั้น ตามด้วยการทำงานในบริษัทยาอย่างไฟเซอร์ ก่อนจะค้นพบว่า ‘เงินติดล้อ’ คือที่ที่เหมาะกับตัวตนที่แท้จริงของเธอ

“ทำงานที่ไฟเซอร์ ดูแลงานด้านกลยุทธ์องค์กรทั้งประเทศไทยและเวียดนามมาประมาณ 7 ปี ก็มีบริษัทจัดหางาน มาชวนว่าสนใจอยากไปคุยกับบริษัทสินเชื่อเล็กๆ สัญชาติไทย ที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และมีผู้บริหารที่เคยมีประสบการณ์มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง GE มาบริหารและตั้งใจทำให้บริษัทนี้เติบโตจริงๆ บ้างไหม ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าลองมาคุยดู แล้วค่อยตัดสินใจอีกที

พอได้คุยกับ MD เงินติดล้อในเวลานั้น เขาก็เล่าเรื่องเงินติดล้อให้ฟังก็เกิดความสนใจขึ้นมานะ แต่พูดจริงๆ ว่าตอนนั้นเราไม่รู้จักเงินติดล้อหรอก จริงๆ แล้วบริษัททำอะไรบ้างก็ไม่แน่ใจ แต่ก็พอคุ้นชื่อบ้างจากในโฆษณาทีวี ถ้าถามว่าทำไมเราสนใจก็คงเป็นเพราะว่าสายงาน HR ที่ยังต้องสร้าง HR Operations แบบนี้ ธุรการด้านการเงินที่บริหารผ่านสาขาแบบนี้ เราก็ไม่เคยทำมาก่อน ความคาดหวังที่คุยกันคือมาสร้างทุกอย่างใหม่หมด พอฟังดูแล้ว Scope of Work ก็น่าจะสนุกและมีอะไรใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้ ให้เราได้สร้าง ได้ทำเยอะ

แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างงานแรกที่ได้ทำคือรับสมัครคนมาทำงานที่สาขาของเงินติดล้อ ซึ่งตอนนั้นกำลังจะขยายสาขาใหม่เพิ่มอีกเยอะมาก ถึงเราจะเคยดูแลงาน HR มาก่อนก็จริง แต่ก็ไม่เคยทำ Operations ที่ต้องคัดคนมาทำงานครั้งละเยอะๆ แบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาข้อมูล ต้องเรียนรู้วิธีการที่จะทำให้มันเวิร์ค

อีกอย่างคือไม่เคยทำงานในบริษัทที่มีสาขาเยอะๆ มาก่อน พอต้องไปรับสมัครคนมาทำงานในสาขาที่ต่างจังหวัดก็สนุกมาก เพราะเราเกิดและโตมาในกรุงเทพ เรียนก็เรียนที่กรุงเทพ แต่งานนี้ทำให้เราได้ไปต่างจังหวัดหลายจังหวัดไม่เคยไปมาก่อน เปิดหูเปิดตามาก ทั้งขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร

และพอทุกๆ วันของการทำงานเป็นเรื่องสนุก เลยทำให้เราพบว่าที่นี่เหมาะกับนิสัยและตัวตนของเรา เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ ได้ริเริ่ม ลองทำสิ่งใหม่ๆ แล้ว ที่เงินติดล้อยังเป็นสังคมสบายๆ ง่ายๆ เกือบทุกคนเข้าถึงง่าย ใส่กางเกงยีนส์เสื้อยืดมาทำงานก็ได้ ทานข้าวแบบไหนก็ได้ ซึ่งเหมาะกับคน อยู่ง่าย เป็นสายลุยแบบเรา”


ปั้นทีม HP ให้เป็นมากกว่าทีมหลังบ้าน

การมีโอกาสได้ดูแลงาน HP ที่เงินติดล้อ ไม่เพียงทำให้คุณอาฑิตยาและทีม HP เป็นหนึ่งในแกนสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันให้ชาวเงินติดล้อร่วมกันสร้าง ‘วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร’ ที่ไม่เหมือนใคร แต่สะท้อนความเป็น ‘ชาวเงินติดล้อ’ อย่างชัดเจนได้สำเร็จ

 อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคุณอาฑิตยาคือการปั้นทีม HP เงินติดล้อ ให้เป็นมากกว่าทีมหลังบ้าน

“สิ่งแรกที่พยายามบอกน้องๆ ในทีมคือ HP อย่างเราไม่ใช่ผู้คุมกฎ เพราะเพื่อนๆ พนักงานทุกคนเป็นมืออาชีพมากพอ รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้นภารกิจของทีมจึงควรเป็นการคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องห่วงข้างหลัง ทำให้ทีมของเรามีโอกาสสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้พนักงาน ให้ทุนเรียนต่อปริญญาโท หรือแม้แต่ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทเอกชนที่ให้สิทธิ์พนักงานกว่า 5,000 คน มีโอกาสจองซื้อหุ้น TIDLOR ที่ราคา IPO เพื่อร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตไปด้วยกัน

แต่ที่ประทับใจที่สุดคือทุกคนในทีม HP เปิดใจกว้างและสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เราพยายามบอกมาตลอด นั่นคือการเป็นทีมที่ไม่ได้คอยเดินตามหลัง แต่เป็นทีมที่เข้าใจและช่วยซัพพอร์ตธุรกิจได้ด้วย ทำให้เมื่อบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะต้องมีทีม HP ร่วมประชุมด้วย และทุกฝ่ายงานต้องหันมาเตือนกันว่าอย่าลืมบอก HP นะ เพราะทีม HP จะช่วยคิดว่าจะต้องเตรียมพร้อมน้องๆ สาขาที่เป็นทีมหน้าบ้านอย่างไร”


สร้างทีมประกัน จากความรู้ที่เป็นศูนย์

ระหว่างที่กำลังสนุกและมีความสุขกับการปั้นทีม HP คุณอาฑิตยาก็ได้รับมอบหมายจากคุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล MD ให้ดูแลและสร้างทีมนายหน้าประกันภัย ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่เงินติดล้อต้องการสร้างควบคู่กันไปด้วย

“วันรุ่งขึ้นหลังจากรับปากกับนายไปแล้วก็ยังงงๆ กับตัวเองอยู่เหมือนกันว่าแล้วเราจะเริ่มต้นยังไงดี เพราะความรู้ในเรื่องงานประกันของเราในตอนนั้นคือไม่มีเลย สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุดในเวลานั้นก็คือลุย เรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน และก็โชคดีที่ตอนนั้นน้องๆ ในทีม HP ทุกคนสามารถดูแลงานของตัวเองได้ดี และเข้าใจทิศทางการทำงานที่คุยกันมาตลอด ทำให้เรามีเวลาที่จะทุ่มเทสร้างทีมประกันขึ้นมาใหม่ได้

พอเริ่มมีความรู้ว่าโบรกเกอร์ประกันต้องทำอะไรบ้างจากการหาข้อมูลและถามคนนั้นคนนี้ ที่สำคัญต้องขอบคุณทีมงานและพี่ๆผู้บริหารจากบริษัทประกันที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเราที่ได้แชร์ความรู้และประสบการณ์ เราก็เริ่มทำการบ้านเพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้เข้าใจว่าเราจะสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้นกว่าที่โบรกเกอร์เจ้าอื่นมอบให้ลูกค้าได้อย่างไร และคิดต่อว่าควรจะเพิ่มทีมอะไรบ้าง เช่น ทีมอนุมัติงานประกันให้สาขา, ทีม Insurance Coach เพื่อให้ไปสอนพนักงานสาขาในเรื่องการขายประกัน และช่วยไกด์ให้น้องๆ มั่นใจกับการขายประกันมากขึ้น

นอกจากนี้เรายังสร้างทีมรับเรื่องเคลม ซึ่งมาจากความเข้าใจปัญหาของลูกค้าที่บางครั้งไม่สามารถเคลียร์กับบริษัทประกันภัยได้ เราเลยคิดสร้างทีมนี้มาเพื่อช่วยประสานเรื่องการเคลมระหว่างลูกค้ากับบริษัทประกัน โดยมอบหมายให้ทีมงานคนที่มีความรู้เรื่องประกัน รับฟัง เข้าใจลูกค้า และมีทักษะการเจรจาเข้ามาสร้างทีมนี้ ซึ่งเรามีความตั้งใจอย่างมากที่จะดูแลลูกค้าของเราเพื่อสร้างความพอใจและสบายใจให้กับลูกค้า”


พร้อม ‘ถกแขนเสื้อ เพื่อลงมือทำ’ และกล้าที่จะเสี่ยง

ข้อดีของการเริ่มต้นสร้างงานประกันจากทีมเล็กๆ ที่คุณอาฑิตยาเล่าก็คือทำให้มีโอกาสลงไปดูในทุกๆ รายละเอียดด้วยตัวเองไปพร้อมๆ กับน้องๆ ในทีม

“ทุกคืนเราจะต้องมานั่งดูว่าน้องอนุมัติงานไปแล้วกี่เคส ใครอนุมัติงานผิดบ้าง เพราะจะอ่านทุกเคสเลย แล้วก็ชวนน้องแต่ละคนเลยมานั่งคุยเพื่อให้เข้าใจ เพราะเราเริ่มจากศูนย์ เราต้องมานั่งดีไซน์กระบวนการทำงานทุกๆ อย่างกันเองตั้งแต่ต้นจนจบ สร้างไปเรียนรู้ไปและรื้อไปด้วยเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนั้นบอกเลยว่าทุกๆ ทีมก็อยากจะช่วยทีมประกันนะ แต่ตอนนั้นเราเองนี่แหละที่ไม่สามารถบอกคนอื่นๆ ได้ว่าเรากำลังทำอะไรและอยากให้เขาช่วยทำอะไร เลยต้องลงมือลุยกันเองทั้งหมดก่อน หรืออย่างการสร้างระบบ เรามีทีม IT ตรงกลางคอยช่วยเขียนระบบให้

แต่ตอนนั้นความรู้เรื่อง User Experience (UX) และ User Interface (UI) ก็ยังไม่มี เราก็ต้องมาดีไซน์ ระบายสีหน้าจอระบบกันเองว่าอยากได้แบบนี้ๆ อยากให้น้องๆ สาขาคลิกแล้วไปต่อตรงไหน แต่ละหน้าจอแต่ละปุ่มใช้คำว่าอะไร แต่ที่เป็นความท้าทายจริงๆ คงเป็นการสร้างแพลตฟอร์มย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระบบกลางที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทประกัน และน้องพนักงานสาขาสามารถเข้ามาเลือกนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้กับลูกค้าได้เลือก และนำเสนอขายให้กับลูกค้าได้ทันที และตอนนั้นทางทีม IT ก็บอกข้อจำกัดว่าระบบนี้ไม่สามารถทำ Pilot Test เพื่อใช้กับบางพื้นที่ก่อนได้ ถ้าจะขึ้นระบบนี้ก็ต้องขึ้นพร้อมกันเพื่อใช้กับทุกสาขาทั่วประเทศ ดังนั้นความเสี่ยงคือถ้าระบบล่ม สาขาทั้งหมดทั่วประเทศก็จะไม่สามารถขายประกันได้เลย และระบบสำรองก็ไม่มีด้วย ทางเลือกตอนนั้นจึงมีแค่ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’

ช่วงระหว่างนั้นเราก็ต้องออกไปเทรนให้กับสาขาทั่วประเทศเองด้วย เพราะทีมตอนนั้นมีกันแค่ไม่กี่คน ระบบก็ยังไม่ลงตัว จำได้ว่าเทรนไปก็ต้องโทรถาม IT ไปด้วยว่าหลังจากกดตรงนี้แล้วต้องทำยังไงต่อนะ แถมยังโปรโมทกับน้องๆ ไปเยอะเลยว่ากดตรงนี้แล้วแค่หนึ่งอึดใจกรมธรรม์ก็จะออกมาชีวิตทุกคนก็จะง่ายขึ้น ปรากฏว่าถึงวันขายจริงคลิกส่งงานเข้าระบบไปสองวันแล้วกรมธรรม์ก็ยังไม่ออกมาเลย

ตอนนั้นเครียดมาก เพราะสาขาก็กระหน่ำโทรมาถาม ทั้งทีมนอกจากจะไม่ได้กินข้าวเที่ยง ยังนั่งทำงานกันถึงตีหนึ่งทุกคืน กว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ 100% ก็ใช้เวลาระยะหนึ่งเลย แต่เราก็ทุ่มเทตั้งใจที่จะสร้างระบบกลางที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้เพื่อให้น้องสาขาทั่วประเทศสะดวกและสามารถนำเสนอขายได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งถ้าไม่ใช่ที่เงินติดล้อเราก็คงทำแบบนี้ไม่ได้ เรื่องนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในบทเรียนที่ดีและท้าทายมากสำหรับเรา”

ถึงตรงนี้หลายคนก็คงได้คำตอบแล้วว่า ‘พลังสำคัญ’ ที่นำพาคุณอาฑิตยาให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการทำงานก็คือ ‘Mindset’ เปิดรับโอกาสที่เข้ามา พร้อมปรับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา และกล้าคิดกล้าลอง ที่มีอยู่ใน DNA ของเธอนั่นเอง

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น