หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ คว้า ‘โอกาส’ อย่างไร ให้พาไปสู่ความสำเร็จ

คว้า ‘โอกาส’ อย่างไร ให้พาไปสู่ความสำเร็จ

11 สิงหาคม 2565
คว้า ‘โอกาส’ อย่างไร ให้พาไปสู่ความสำเร็จ

‘โอกาส’ เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนเคยมี

แต่สิ่งที่ทำให้ผลลัพธ์จากโอกาสแตกต่างกันออกไปก็คือ…บางคนอาจปล่อยให้โอกาสลอยหายไปเฉยๆ ขณะที่บางคนประสบความสำเร็จจากโอกาสที่ได้รับ และบางคนมีโอกาสอยู่ในมือ แต่กลับไม่รู้ว่าจะใช้โอกาสพาไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร

วันนี้ติดล้อสตอรี่มีคำตอบที่จะ ‘คว้าโอกาส’ อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

‘ภาคปอ’ พีระศักดิ์ แก้วโชติ – ผู้จัดการภาค EN คือหนึ่งในผู้นำระดับภาคของเงินติดล้อที่ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ระหว่างทางก่อนจะพบกับความสำเร็จที่ได้มาจากองค์กรแห่งโอกาส ในกิจกรรม Branch Leadership Offsite Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำทีมบริหารงานสาขาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และเปิดโอกาสให้เหล่าผู้นำได้แชร์ประสบการณ์พร้อมแลกเปลี่ยนคำแนะนำดี ๆ ระหว่างผู้นำชาวเงินติดล้อได้อย่างน่าสนใจ

วิ่งเข้าหาโอกาส และทำงานอย่างมีเป้าหมายเสมอ

‘ภาคปอ’ ยกประสบการณ์ที่พยายามวิ่งหาโอกาส โดยไม่มัวแต่รอให้โอกาสเข้ามาหา และมุ่งมั่นเพื่อทำตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้ว่า

“ก่อนหน้านี้ ผมเคยทำทั้งธุรกิจส่วนตัวคือการขายเสื้อผ้าในช่วงที่กำลังเรียน และเคยมีประสบการณ์เป็นพนักงานธนาคารข้ามชาติ จนกระทั่งได้รับโอกาสในการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของของเงินติดล้อ (ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อว่าศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ) ซึ่งเมื่อทำงานไปได้ 8 เดือน ผมก็เริ่มเห็นแนวทางว่าจะเติบโตได้ที่นี่ จึงเริ่มตั้งเป้าหมายแรกทันทีว่าจะต้องเป็นผู้จัดการสาขาให้ได้ภายในระยะเวลาปีครึ่ง และประมาณ 1 ปีกับ 2 เดือน ผมก็ได้เป็นผู้จัดการสาขาระนองตามที่ตั้งเป้าไว้

จากเป้าหมายแรกคือผู้จัดการสาขา ก็ขยับไปสู่ผู้จัดการพื้นที่ และขยับสู่เป้าหมายการเติบโตที่สูงขึ้นคือการเป็นผู้จัดการภาคเช่นทุกวันนี้ และแม้ทุกการขยับไปสู่เป้าหมายใหม่จะไม่ได้ราบรื่น แต่ภาคปอก็มีกลยุทธ์และแนวคิดที่ทำให้ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

ตั้งมาตรฐานให้สูง และให้ความรู้ ควบคู่การส่งต่อโอกาส

“ช่วงระหว่างผมเป็นผู้จัดการภาค มีโอกาสได้ไปดูแลทีมที่ภาคอีสานตอนเหนือ (EN) ซึ่งตอนนั้นผลงานอยู่ลำดับท้ายๆ แต่ผมคิดว่าเมื่อได้รับโอกาสนี้แล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด และผมก็เชื่อมั่นว่าจะนำอีสานไปสู่ความสำเร็จได้ ผมรับปากกับทีมว่าจะพา EN ขึ้นไปติด TOP 3 ของบริษัท ซึ่งโจทย์ที่ต้องแก้ตอนนั้นมีอยู่ 3 เรื่องคือ 1. เรื่องคนลาออก 2. เรื่องยอดขายที่ลดลง และ 3. เรื่องผลงานประกันที่ไม่ได้ตามเป้า ผมก็เริ่มจากศึกษาว่าปัญหาเกิดจากอะไร

เรื่องแรก คือการไม่สอนงาน ทำให้พนักงานใหม่ไม่เข้าใจผลิตภัณฑ์ พอไม่เข้าใจก็ขายไม่ได้ รายได้ไม่มีก็ลาออก ผมก็ให้รับคนใหม่ด้วยการหาคนที่ ‘เคมีตรงกัน’ และต้องมั่นใจว่าคนคนนี้มีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตเป็นผู้จัดการได้ ไม่ใช่แค่รับเข้ามาเป็นพนักงานสินเชื่อ ส่วนเรื่องที่ 2 ปัญหามาจากไม่มีช่องทางที่มากพอ ผมก็ให้เขาช่วยกันกำหนดว่าจะหาช่องทางเพิ่มจากลูกค้าในอาชีพใดได้บ้าง และในส่วนของยอดประกัน ตอนนั้น EN มีพนักงาน 280 คน คำนวณดูแล้วถ้าทุกคนขายได้คนละ 5 หมื่น ก็จะทำให้ EN ปิดเป้าได้ทุกเดือน ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้แน่นอน

แต่ผมเชื่อคนเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ทีมเชื่อด้วย สิ่งที่เน้นจึงเป็นเรื่อง ‘ค่านิยมเงินติดล้อ’ ซึ่งผมบอกผู้จัดการพื้นที่ทุกคนว่าต้องเป็นแบบอย่างและช่วยให้น้องๆ เข้าใจค่านิยมของเราให้ได้ ซึ่งพอทุกคนเข้าใจค่านิยมเหมือนกัน และเชื่อเหมือนกันว่าทำได้ ทุกคนก็ช่วยกันเต็มที่ทำให้ปิดรูรั่วที่มีได้สำเร็จ พอปิดรูรั่วได้ ทีมของเราก็มีชั่วโมงบินที่สูงขึ้น มีประสบการณ์และความชำนาญที่มากขึ้น ดังนั้นความสำเร็จจึงเกิดขึ้น และแนวทางการทำงานหลายๆ อย่างก็ได้รับรับการฝึกฝนจนกลายเป็นวินัย

เคล็ดลับความสำเร็จของ EN ซึ่งกลายเป็นหลักในการทำงาน และการใช้ชีวิตของผมกับทีมจึงมาจากสิ่งเดียวคือ ‘วินัย’ ทีมเราไม่ได้เก่งมาก แต่เพราะทุกคนมีวินัย ทุกคนช่วยกันเป็นทีมเวิร์ค เราจึงทำทุกอย่างได้”

ไม่ลืมแรงบันดาลใจและใฝ่เรียนรู้

แนวคิดอีกอย่างที่ภาคปอให้ความสำคัญ เมื่อคว้าโอกาสไว้ได้ก็คือเราต้องไม่ลืมแรงบันดาลใจที่ทำให้เราเลือกเดินเส้นทางนี้ และใฝ่เรียนรู้

คนแรกที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจและให้โอกาสผมก็คือ ‘พี่สิทธิ์’ พงค์สิทธิ์ รักชาติ-ผู้จัดการภาค SO ที่นำใบสมัครมาให้ผมเขียนที่แผงขายเสื้อผ้า และเป็นที่มาของประโยคที่ใช้หยอกผมวันนี้ว่า ‘กูหยิบมึงขึ้นมาจากข้างถนน’

คนที่สองคือ ‘พี่รัก’ สมรัก รัตนมหาสกุล-ผู้จัดการอาวุโสภาค CN ที่สัมภาษณ์และรับผมเข้ามาทำงาน สอนวิธีการยึดรถ และสอนผมปล่อยสินเชื่อ

คนที่สามคือ ‘พี่วุฒิ’ วุฒิพงศ์ ทองแก้วเกิด - ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริหารงานขายสาขาภาคธุรกิจกรุงเทพและงานขายประกันภัย ผู้จัดภาคคนแรกของผมที่สอนผมทุกอย่าง

คนที่สี่คือ ‘พี่บอย’ บัญชา เรืองแสง – ผู้จัดการภาค CE ซึ่งให้โอกาสผมได้เรียนรู้การทำงานที่ท้าทายในภาคเหนือซึ่งแตกต่างจากที่ผมคุ้นเคยมาก่อน

และคนที่ห้า คือ ‘พี่อู๊ด’ อุชิน พิศมัย – ผู้จัดการภาค ES ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอยากจะเป็นผู้จัดการภาค เพราะเห็นพี่อู๊ดซึ่งเป็นผู้จัดการภาคแล้วประสบความสำเร็จ ขึ้นเวทีรับรางวัลมากมาย

นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสเรียนรู้จากคนรอบข้างที่เป็น ‘ต้นแบบ’ ทั้ง ‘พี่โชค’ ศุภโชค อัครกุลยศ – ผู้อำนวยการอาวุโส-บริหารงานขายสาขาและบริหารช่องทางการขาย ซึ่งทำให้ผมเรียนรู้ว่าการสอนงานที่ดีต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ‘พี่เอ็ม’ ฉวีมาศ แย้มยิ้ม – ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายพัฒนาและบริหารงานขายสาขาและฝ่ายพัฒนาคุณภาพสินเชื่อ ที่สอนให้ลงรายละเอียดกับทุกอย่างเพื่อจะได้เข้าใจปัญหาของลูกน้องและช่วยลูกน้องแก้ปัญหาได้ และ ‘คุณหนุ่ม’ ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล – กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เงินติดล้อ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงก็สามารถวางตัวให้ลูกน้องเข้าถึงได้

ทุกคนจึงเป็นเสมือนหุ้นส่วนความสำเร็จในชีวิตผม รวมถึงผู้จัดการพื้นที่ ผู้จัดการสาขา น้องๆ พนักงานสินเชื่อ เพราะถ้าไม่มีทุกคนช่วยผลักดัน ผมคงไม่มีโอกาสทำเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จได้เลย”

และทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่เป็นกุญแจไขไปสู่วิธี ‘คว้าโอกาส’ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของคนที่พร้อมจะเรียนรู้

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น