หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ จับเข่าคุยคนไอทีกับแนวคิด “ทำดีกว่าท่อง”

จับเข่าคุยคนไอทีกับแนวคิด “ทำดีกว่าท่อง”

28 เมษายน 2563
จับเข่าคุยคนไอทีกับแนวคิด “ทำดีกว่าท่อง”

เงินติดล้อ เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน เพราะเราเชื่อว่าระบบหลังบ้านที่ดี จะทำให้เราสามารถส่งมอบบริการที่สะดวกและรวดเร็วให้กับลูกค้าได้อย่างไม่ติดขัด วันนี้เรามาชวนคนไอที อย่าง คุณอิท - ณัฐธีร์ รุจิระชัยเวทย์ ผู้อำนวยการ แผนกบริหารจัดการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ กับวิธีการทำงาน ที่ว่า ‘ทำดีกว่าท่อง’ นั้นเป็นยังไง

“ทุกวันนี้ฝ่าย IT ของเรามีด้วยกันเกือบ 300 ชีวิต ส่วนหนึ่งคือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานกับเราไม่นาน อีกส่วนคือคนที่ทำงานกับเงินติดล้อมาตั้งแต่เริ่มแรก อย่างผมก็ทำงานกับเงินติดล้อมาประมาณ 10 ปีแล้ว เริ่มจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น BA (Business Analyst) คือทำหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการของยูสเซอร์ว่าอยากได้อะไร แล้วก็ไปคุยกับโปรแกรมเมอร์ เพื่อให้โปรแกรมเมอร์พัฒนาระบบที่สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาระบบให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งานได้”

สิ่งสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ

“ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราใช้เทคโนโลยีอะไร แต่อยู่ที่เรามีคนแบบไหนมากกว่า เงินติดล้อมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้คนของเรามีคุณภาพ มีค่านิยมที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง และกระหายการเรียนรู้ คนของเราก็เลยไปได้ไว สามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

อย่างเรื่องการนำ Scrum มาใช้ในองค์กร ซึ่งเริ่มมาจากปัญหาที่เราพบว่า เวลาเราพัฒนาซอฟท์แวร์ตัวเล็ก ๆ มันก็จะเสร็จไว แต่พอโปรแกรมใหญ่ขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น การแก้ระบบก็จะใช้เวลานานมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ถ้าจะเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินของเราให้เร็วขึ้นจาก 30 นาทีเป็น 10 นาที ก็อาจต้องใช้เวลาแก้ระบบกันนานหลายเดือน จนผู้บริหารของเรา ได้ไปอ่านหนังสือ Scrum : The Art of Doing Twice the Work in Half the Time แล้วก็คิดว่าการนำวิธีการแบบสกรัมมาใช้น่าจะแก้ปัญหาให้เราได้ ก็เลยส่งทีมงาน ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วยไปเรียนเรื่องสกรัมกันเลยที่ประเทศสิงคโปร์ พอกลับมาเราก็เซ็ตทีมทำงานแบบสกรัมขึ้นมาทันที ซึ่งทำให้สามารถลดเวลาทำงานลงมาจากเดิมได้มาก จากที่เคยใช้เวลาเป็นเดือนก็เหลือแค่ 10 วัน

ทำไมเป็นอย่างนั้น...เพราะถ้าทำงานแบบแต่ก่อน ก็ต้องเริ่มจาก BA (Business Analyst) เก็บความต้องการจากผู้ใช้หรือลูกค้า ซึ่งอาจใช้เวลาเก็บสัก 2 เดือน จากนั้น BA ก็ต้องไปคุยกับ SA (System Analyst) เพื่อให้ออกแบบระบบ และวิเคราะห์ระบบจากความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาสักเดือน จากนั้นก็ส่งต่องานให้กับ โปรแกรมเมอร์นำไปพัฒนาต่อเป็น Application ใช้เวลาอีก 2 เดือน จากนั้นก็ส่งต่อให้ UAT (User Acceptance Test) ทำการทดสอบระบบอีกสัก 2 เดือน กว่าผู้ใช้ปลายทางจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ก็ใช้เวลาไปหลายเดือน ซึ่งจุดนี้ที่เป็นปัญหาที่สำคัญ คือเมื่อพัฒนาจนเสร็จกระบวนการและนำไปใช้จริงนั้น ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทั้งหมด

เพราะอะไร...เพราะระหว่างการทำงานมันมีระยะห่าง และการสื่อสารระหว่างทางก็อาจมีการตกหล่นหรือผิดพลาดได้ แต่พอเปลี่ยนมาใช้วิธีการทำงานแบบสกรัม มันสามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันที”

ค่านิยมองค์กร เบื้องหลังความสำเร็จของ IT เงินติดล้อ

“ผมเป็นคนหนึ่งนะ ที่ท่องรายละเอียดของค่านิยมองค์กร 7 ข้อของเงินติดล้อไม่ได้ แต่ผมเชื่อมั่นว่าผมมีค่านิยมเหล่านี้อยู่แล้วในตัว และนำค่านิยมองค์กรมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ ไม่แพ้ใคร เพราะผมเชื่อว่า ค่านิยมองค์กรทุกข้อของเราสามารถใช้ส่งเสริมการทำงานได้ดีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อย่างเวลาผมต้องสัมภาษณ์พนักงานใหม่ ผมถามเรื่องประสบการณ์การทำงาน หรือทักษะในการทำงานน้อยมาก เพราะคำถามแบบนี้คนที่เคยทำงานมาก่อน หรือทราบระบบในการทำงาน ไม่ว่าใครก็สามารถอธิบายได้ แต่ถ้าอยากจะรู้ว่าคนที่เราจะรับเข้ามาทำงาน คิดแบบเดียวกับเราไหม เป็นพวกเดียวกับเราหรือเปล่า เราต้องแงะเขาด้วยปัญหาของการทำงาน เช่น ถ้าคุณเจอยูสเซอร์แบบนี้ คุณมีวิธีจัดการอย่างไร หรือถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น คุณจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นมุมมองความคิด หรือวิธีการแก้ปัญหาของเขา รวมถึงปฏิกิริยาที่เขาแสดงออกมา

และผมบอกได้เลยว่าที่ฝ่าย IT เราส่งเสริมให้น้อง ๆ ได้พัฒนาตัวเอง และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ตามค่านิยมองค์กรเงินติดล้อที่ส่งเสริมเรื่องความกระหายการเรียนรู้ เพราะ IT จำเป็นมากที่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้รับกับธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างผมมีโอกาสจากการได้ไปศึกษาดูงาน ได้ไปเข้าคอร์สอบรมเรื่องต่าง ๆ เพราะผู้บริหารมอบโอกาสให้ ผมก็อยากส่งต่อโอกาสให้กับน้อง ๆ ต่อบ้าง แล้วก็ไม่จำเป็นที่การไปดูงานต้องตอบโจทย์งานที่เราทำอยู่อย่างเดียวเสมอไป อย่างผมไปดูงานที่ประเทศจีน สิ่งที่ผมได้กลับมาคือมุมมองด้านธุรกิจ ทำให้เห็นการนำออนไลน์มารวมกับออฟไลน์ด้วยวิธีที่ง่ายมาก แต่สามารถนำมาพัฒนาสินค้าและบริการอย่างได้ผล ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยนึกถึง เพราะเราเคยแต่มองทุกอย่างด้วยมุมแบบไอที ที่มองทุกอย่างซับซ้อนไปหมด

การมีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์แบบนี้ จึงเหมือนการเปิดมุมคิดใหม่ ๆ ในการทำงานของเราไปด้วย”

หนังสือคือคลังความรู้

“ผมเองก็ไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือนะ แต่พอได้ไปเทรน The Lean Startup (การใช้กระบวนการ และทรัพยากรที่น้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น) รวมถึงต้องกลับมาเซ็ตทีมสกรัมหลังจากที่ได้ไปเทรนมา เลยทำให้ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก เพื่อนำมาสร้างทีมและสอนน้อง ๆ เพราะเราได้รับแต่ขั้นตอนหรือกระบวนการจากการเทรนเท่านั้น แต่เมื่อทำจริง เราจะเห็นปัญหา แล้วหลัง ๆ ผมก็นำวิธีของผู้บริหารมาใช้ คือเอาหนังสือให้น้อง ๆ อ่านบ้าง เพราะเห็นผล จนตอนนี้กลายเป็นว่า เวลาซื้อหนังสือแต่ละที ผมต้องซื้อครั้งละ 4 เล่ม เพื่อมาแจกให้คนในทีมได้อ่านไปด้วยกัน

ผมเชื่อว่ายิ่งองค์กรสนับสนุนให้พนักงานใฝ่หาความรู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น และการมีวัฒนธรรมกล้าที่จะทำ กล้าที่จะลองของเราก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ ที่ทำให้องค์กรของเราวิ่งได้เร็วขึ้น และไกลขึ้น เพราะถ้าคนมีความกลัวที่จะทำผิดตั้งแต่ต้น ก็ไม่มีทางที่จะเกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาได้

เวลาที่น้องในทีมทำผิดพลาดบ้าง ผมก็ไม่ต่อว่านะ แต่จะทำให้เขาตระหนัก คือให้โอกาสให้น้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ และไม่ทำผิดพลาดซ้ำเดิมอีก ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีที่ผมได้เรียนรู้มาจากผู้บริหารเช่นกัน

สำหรับผม สิ่งที่นำพาเงินติดล้อให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำนวัตกรรมไอที ส่งมอบโอกาสให้คนฐานรากมีชีวิตที่สะดวก ง่าย และดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแท้จริง ก็คือ ‘ค่านิยมองค์กรเงินติดล้อ’ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่จำเป็นต้องท่องเพื่อจำ แต่ต้องทำเพื่อสร้างโอกาสดี ๆ ให้ทั้งกับองค์กร ตนเอง ลูกค้า รวมไปถึงสังคมด้วย”

Tips : ข้อดีของการทำงานแบบสกรัม

  • ลดระยะห่าง ลดความผิดพลาดจากการสื่อสาร ด้วยการทำงานที่ทุกคนในทีมเห็นภาพเดียวกัน
  • หลักการย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานชิ้นเล็ก ๆ ของสกรัม นอกจากจะทำให้งานเสร็จไวขึ้น และได้จำนวน
    งานมากขึ้นแล้ว ยังทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ทันกับเงื่อนไข หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
  • เกิดความโปร่งใสในการทำงาน หากเกิดการดีเลย์ขึ้นที่ส่วนใด ก็จะสามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ทันที
  • ช่วยสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างคนในทีม เพราะทำให้คนในทีมเข้าใจการทำงาน
    ของฝ่ายอื่น ๆ มากขึ้นจากการทำงานร่วมกัน
  • สร้างภาวะผู้นำและผู้ตามที่ดีขึ้นมาในทีม เพราะทุกคนในทีมมีโอกาสที่จะผลัดกันขึ้นมานำในสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญ
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น