หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ 4 วิธีประเมินวัฒนธรรมองค์กรจากหลายมุมมอง

4 วิธีประเมินวัฒนธรรมองค์กรจากหลายมุมมอง

10 กรกฎาคม 2566
4 วิธีประเมินวัฒนธรรมองค์กรจากหลายมุมมอง

วัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมและมวลรวมความสุขในการทำงานของพนักงาน ทั้งยังเป็นสิ่งที่ดึงดูด Talents ให้เข้ามาร่วมงานด้วยกัน องค์กรที่มุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมที่ดีจึงควรเริ่มต้นด้วยการประเมินวัฒนธรรมในปัจจุบันของตัวเอง เพราะจะช่วยให้ผู้นำเข้าใจว่าจุดยืนขององค์กร สิ่งที่องค์กรคิด เชื่อ และปฏิบัติตามกันอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับขั้นตอนที่ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนหรือคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีคุณภาพและเปี่ยมล้นด้วยความสุข และนี่คือวิธีการประเมินวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถทำได้ง่ายๆ
 

สังเกตการณ์ปฏิสัมพันธ์ของคนในทีม

วัฒนธรรมของบริษัทที่จะแข็งแกร่งและยั่งยืนที่สุดมักจะถูกสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนในองค์กร ขณะที่ประเมินวัฒนธรรมองค์กร ให้วิเคราะห์ดูว่าพนักงานในองค์กรมีการสื่อสารพูดคุยและทำงานร่วมกันอย่างไร โดยเริ่มจากการตั้งคำถามพื้นฐานว่า
  • พวกเขาเคารพความเห็นและยอมรับฟังไอเดียของกันและกันหรือเปล่า?
  • คนในทีมทำงานเข้ากันได้หรือเปล่า?
  • สภาพแวดล้อมในที่ทำงานส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองที่แปลกใหม่อย่างเสรีหรือไม่?
ถ้าลองซาวด์เสียงแล้วรู้สึกว่าคำตอบของคำถามเหล่านี้ยังไม่ใช่ สิ่งหนึ่งที่พอช่วยได้คือการให้คนในทีมทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานร่วมกันเพื่อให้ได้เรียนรู้กันมากขึ้น

 

รวบรวมข้อมูลจากพนักงาน

การประเมินวัฒนธรรมองค์กรผ่านการสำรวจความเห็นของพนักงานเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแบบสำรวจที่นิยมใช้กันคือแบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงานและ Pulse Survey ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นวิธีการประเมินความพึงพอใจและความเป็นอยู่ของพนักงานที่ใช้กันมานาน ข้อดีคือให้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้นอยู่กับคำถามที่ถามและสามารถเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของพนักงานเพราะเป็นการตอบแบบไม่เปิดเผยตัวตน ส่วนข้อเสียคือใช้เวลาหลายเดือนในการวิเคราะห์และนำมาประเมินผล ส่วนแบบสอบถามที่สั้นกว่าอย่าง Pulse Survey นั้นมีข้อดีคือเป็นแบบสอบถามที่สั้นกว่าทำให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานได้เร็วกว่า แต่ข้อมูลที่ได้ก็อาจจะไม่ละเอียดเท่าแบบแรก

 

การใช้ข้อมูลจากหลายแผนก

แผนกการเงิน ทรัพยากรบุคคล และปฏิบัติการมักมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำมาประเมินวัฒนธรรมองค์กร เช่น จำนวนการขาดงานแบบไม่มีเหตุผล การใช้วันลาป่วยหรือลากิจ รวมถึงอัตราการรับพนักงานเข้ามาเพิ่มและการรักษาพนักงาน ยิ่งวัฒนธรรมองค์กรแข็งแรงมากเท่าไหร่ ระยะเวลาที่พนักงานอยู่ในบริษัทก็ยิ่งเพิ่ม และระยะเวลาที่หารับคนใหม่เข้ามาแทนที่คนเก่าที่ลาออกไปก็ยิ่งน้อย

อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลภายนอก

นอกจากนี้ยังมีแหล่งข้อมูลภายนอกให้สำรวจเมื่อประเมินวัฒนธรรมองค์กร แหล่งข้อมูลเหล่านี้รวมถึงเว็บไซต์รีวิวบริษัท เช่น Glassdoor, Indeed และ WorkVenture ฟีดแบ็กจากเว็บไซต์ภายนอกมีความสำคัญต่อการประเมินวัฒนธรรมองค์กรเพราะเป็นการตรวจสอบว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบริษัท การไม่ระบุตัวตนจะช่วยให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์กรได้อย่างตรงไปตรงมา ในกรณีที่บริษัทได้คะแนนรีวิวต่ำก็ถือเป็นสัญญาณให้รีบปรับปรุงเพราะถ้าปล่อยไว้นานๆ เข้าก็เตรียมโบกมือลาพนักงานปัจจุบัน และเตรียมรับมือกับการรับพนักงานใหม่ๆ อีกจำนวนมากได้เลย!

 

สรุป

หลังจากที่องค์กรได้ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมองค์กรมาถึงจุดที่แข็งแรงแล้ว ก้าวต่อไปคือรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้วัฒนธรรมองค์กรเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อให้ทุกคนในองค์กรมีความสุข เราจึงควรหมั่นประเมินวัฒนธรรมองค์กรอย่างตรงไปตรงมาเพื่อประสิทธิภาพ เพราะจะช่วยให้เห็นว่ามีส่วนไหนบ้างที่ปรับแก้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เห็นว่ามีส่วนไหนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว และเข้าใจความต้องการของพนักงานจนสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกว่า


หากใครต้องการมุมมองและไอเดียเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร สามารถมาเข้าร่วม TIDLOR Culture Wow และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องค่านิยมกับพวกเราสิ! สนใจติดต่อ 02-792-1990 หรือกรอกข้อมูลที่นี่เพื่อรอการติดต่อกลับจาก Culture Gangster
 

ที่มา
https://www.achievers.com/blog/5-simple-ways-assess-company-culture/
https://beehivepr.biz/how-to-evaluate-organizational-culture/
 
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น