หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เติบโตจากโอกาส และแข็งแกร่งจากพลังของ ‘การทำเพื่อคนอื่น’

เติบโตจากโอกาส และแข็งแกร่งจากพลังของ ‘การทำเพื่อคนอื่น’

22 มีนาคม 2565
เติบโตจากโอกาส และแข็งแกร่งจากพลังของ ‘การทำเพื่อคนอื่น’

บทความนี้เป็นเส้นทางแห่งโอกาสของ คุณเด็ด ฐิติเดช ศรีมารยาท ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มจากความกล้าและเปิดใจ ติดล้อสตอรี่ฉบับนี้คุณเด็ดพร้อมจะแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์บทเส้นทางแห่งโอกาสนี้เพื่อเป็นแนวคิดและพลังแห่งการเติบโตเสริมความแข็งแกร่งให้กับชาวเงินติดล้อทุกคน คุณเด็ดเริ่มต้นจากการค้นหาตัวเองและกล้าลองเปลี่ยนสายงานจากวิศวะคอมพิวเตอร์สู่การตลาด เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองได้เจองานที่ใช่ที่สุด “หลังจากเรียนจบ ผมก็เริ่มทำงานตามสายที่เรียนอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วผมก็รู้สึกว่ามันไม่สนุกอย่างที่คิดไว้ เลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองและพยายามหาคำตอบว่าที่จริงเราชอบอะไรและเราอยากทำอะไร ช่วงนั้นผมก็พยายามหาข้อมูลหลายๆ ด้านรวมถึงเรื่องการบริหารธุรกิจจากการอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร และพบว่าจริงๆ แล้วหลักการการทำธุรกิจมีความน่าสนใจ เพราะในสถานการณ์หนึ่งๆ เราสามารถตีโจทย์และหาวิธีแก้ไขได้มากกว่าหนึ่งวิธี แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ MBA- Marketing และในที่สุดก็มีโอกาสได้ทำงานในทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อกับธนาคาร”

ก้าวแรกจากความกล้าและเชื่อมั่น

เมื่อพบคำตอบที่คิดว่าใช่ คุณเด็ดยังให้โอกาสตัวเองอีกครั้งด้วยความกล้าและเชื่อมั่นของตนเองและบุคคลต้นแบบ “ผมย้ายมาทำงานที่เงินติดล้อเพราะเชื่อมั่นในและศรัทธาในคน เพราะตอนนั้นบริษัทก็ยังไม่ใหญ่และไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าวันนี้ แต่เนื่องจากผมเห็นหัวหน้าที่เคยทำงานด้วยกันแล้วย้ายมาทำที่เงินติดล้อดูมีความสุขและสนุกกับการได้ปล่อยพลัง ทำให้ผมเชื่อว่าเราก็คงสนุกกับการทำงานที่นี่เหมือนกันเลยตัดสินใจตามหัวหน้ามา ซึ่งหัวหน้าผมในวันนั้นก็ยังคงสนุกกับการทำงานที่เงินติดล้อมาจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับผมที่ได้รับโอกาสการเติบโตจากที่นี่มาร่วม 10 ปีแล้ว”

เปิดใจ เพื่อเปิดรับโอกาส

ในมุมมองของคุณเด็ด บริษัทเงินติดล้อคือ ‘องค์กรแห่งโอกาส’ เพราะนอกจากจะให้โอกาสลูกค้าได้มีชีวิตหมุนต่อได้ตามเจตนารมณ์ขององค์กร เงินติดล้อยังสร้างโอกาสเพื่อให้พนักงานได้ลองทำเพื่อพัฒนาตัวเองและเติบโต

“หนึ่งในวิธีของการสร้างองค์กรคือการสร้างคน แต่จริงๆ แล้วมีอีกวิธีที่ง่ายและไวกว่าคือการซื้อตัวคนเก่งๆ มาร่วมองค์กร ซึ่งหลายๆ ที่ก็ทำแบบนั้น แต่เงินติดล้อเลือกที่จะให้โอกาสคนข้างในได้เติบโตด้วยการส่งเสริมให้พนักงานได้เปิดตาในการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพในการทำงาน และเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับองค์กร”

"มุมมองในการทำงานเป็นเหมือนกรอบอย่างหนึ่ง ใครมีกรอบแค่ไหน จะสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองไปได้แค่นั้น บริษัทจึงส่งเสริมให้เราขยายมุมมองให้กว้างออกไปเรื่อยๆ ผ่านวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การส่งพนักงานไปเรียนรู้ ดูงาน ฝึกอบรม ฯลฯ และส่งเสริมให้พนักงานกล้าคิดกล้าลอง ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กรของเงินติดล้อ แต่สิ่งสำคัญในการเปิดตาและขยายมุมมองคือต้องพร้อมที่จะเปิดใจ เพราะถ้าเริ่มจากปิดใจก็คงเรียนรู้อะไรไม่ได้”

เติบโตจากโอกาสของบทเรียนที่ไม่สำเร็จ

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดที่เงินติดล้อไม่ได้มาจากการเรียนรู้ผ่านเส้นทางของความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังมาจากการเรียนรู้ผ่านสิ่งที่ทำแล้วไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับประสบการณ์ของคุณเด็ด “โดยปกติทุกครั้งก่อนที่เงินติดล้อจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราจะมีการทดสอบในสเกลเล็กๆ ก่อน เพื่อจะได้ไม่เจ็บตัวมาก และตอนนั้นเราเริ่มทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘ผลิตภัณฑ์ไม่โอนเล่ม' ผมและทีมงานทำงานหนักพอสมควรเพราะต้องตระเวนไปเทรนให้น้องๆ สาขาในภาคต่างๆ ตั้งแต่เหนือ อีสาน และภาคกลาง แต่ผลตอบรับกลับไม่เวิร์คอย่างที่คิดไว้ ทั้งที่ในความคิดผมคือผลิตภัณฑ์นี้น่าจะขายง่าย เพราะลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ขนส่ง ไม่ต้องเสียภาษีเพื่อโอนเล่มทะเบียนเหมือนที่ผ่านๆ มา และตัวเล่มก็ยังเป็นชื่อลูกค้าไม่ต้องเปลี่ยนมาเป็นชื่อบริษัท จนกระทั่งผมลงไปเทรนน้องๆ ที่สาขาภาคใต้และได้เจอกับทีมงานที่มีใจร่วมด้วยช่วยกันกับผม คือเขาฟังแล้วเขาบอกเฮ้ย…มันดี เขาเห็นด้วย เดี๋ยวจะพูดข้อดีของผลิตภัณฑ์แบบนี้ๆ จะได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้เริ่มมีตัวเลขความสำเร็จออกมาซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ภาคอื่นๆ เชื่อมั่นและร่วมมือร่วมใจทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เติบโตขึ้น การไม่ประสบความสำเร็จในโปรเจกต์นี้จึงทำให้ผมเรียนรู้ว่า หนึ่ง…เราไม่ต้องกลัวการผิดพลาด แต่จงเรียนรู้จากสิ่งที่เราพลาดไปและนำมาปรับให้ดีขึ้นได้ สอง…ถ้าเจอทีมงานที่มีใจร่วมด้วยกับเรา ไม่ว่างานจะยากแค่ไหนเราก็ไปต่อได้ สาม…การล้มเหลวในครั้งที่ผ่าน ๆ มา ไม่ได้หมายความว่าครั้งต่อไปต้องล้มเหลวซ้ำอีก สี่…ต้องหาให้ได้ว่าตัวแปรอะไรที่จะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เหมือนเดิม แจกนั้นจงปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ให้ดีขึ้น และห้า…เราได้เรียนรู้ว่าการทำงานกับคนที่เก่งมาก แต่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ ผลลัพธ์มักจะไม่ดีและไม่สนุกเท่าทำงานกับคนที่ไม่เก่งมากแต่มีใจไปไหนไปกันกับเรา ซึ่งทั้งหมดคือบทเรียนที่ต้องส่งต่อให้น้อง ๆ เพื่อจะได้ไม่พลาดซ้ำ”

การทำเพื่อคนอื่น สร้างพลังได้มากกว่าทำเพื่อตัวเอง

“ผมเรียกแนวคิดนี้ว่าเป็น” ‘กฎของจักรวาล’ (Law of Universe) คือพอเราเติบโตขึ้นมา หน้าที่ของเราคือต้องสร้างและส่งต่อให้น้อง ๆ และทีมงานได้เติบโตขึ้นมาแทนเรา และที่เงินติดล้อเราเชื่อว่าผู้นำต้องสร้างผู้นำ ไม่ใช่สร้างผู้ตาม ความสำเร็จของเราจึงวัดจากความสำเร็จและเติบโตของน้อง ๆ ฉะนั้นเราก็ต้องพยายามสร้างโอกาสให้กับน้องๆ ในทีมของเรา

บรรยากาศการทำงานเพื่อส่งต่อโอกาส

ดังนั้นเวลาที่เราเจอปัญหาหรือรู้สึกท้อบ้างเราจะไม่จมอยู่นาน เพราะการคิดเพื่อคนอื่นจะทำให้เรานึกถึงคนข้างหลังว่าถ้าเราแย่…คนข้างหลังจะไปต่อกันอย่างไรในขณะที่เขารอการซัพพอร์ตจากเราอยู่ ซึ่งก็แน่นอนว่าการคิดแบบนี้มันไม่ง่ายเหมือนการคิดเพื่อตัวเองที่นึกอยากจะทิ้งอะไรก็ทิ้งไปได้ทันที แต่การที่ภาพเราชัดว่ากำลังทำอะไร และทำเพื่อใครจะผลักดันพลังในตัวของเราให้เพิ่มขึ้น เหมือนเป็นการตอบแทนที่เราเลือกทำในสิ่งที่ควรทำและควรเป็นตามกฏและกลไกของจักรวาล และนี่คือคำตอบจากเส้นทางโอกาสและการเติบโตจากพลังของ ‘การทำเพื่อคนอื่น’ ตามแบบฉบับของ ‘ชาวเงินติดล้อ’

3 แนวคิดเพื่อการเติบโตและแข็งแกร่ง

  1. เปิดใจ-เพื่อเปิดตา เพราะถ้าเริ่มจากปิดใจก็คงเรียนรู้อะไรไม่ได้
  2. ไม่กลัวที่จะผิดพลาด แต่จงเรียนรู้จากสิ่งที่เราพลาดไปและนำมาปรับให้ดีขึ้นได้
  3. มองภาพใหญ่ และผลักดันพลังของตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น