หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ปลูกความเข้าใจความจน แบบคนเงินติดล้อ

ปลูกความเข้าใจความจน แบบคนเงินติดล้อ

17 ธันวาคม 2563
ปลูกความเข้าใจความจน แบบคนเงินติดล้อ

เมื่อทีมงานสื่อสารการตลาด (Marketing Communications) ได้รับการบ้านให้ตีโจทย์ประโยคที่ว่า ‘It’s Expensive to Be Poor’ และนำเสนอออกมาเป็นชิ้นงาน เพื่อที่จะใช้สื่อสารให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความหมายที่ซ่อนไว้อยู่ในประโยคนี้ จึงเป็นที่มาของ Happy Time หรือ ชั่วโมงการแบ่งปัน กิจกรรมดี ๆ ภายในองค์กรของเงินติดล้อ ที่จัดขึ้นเป็นประจำเพื่อแชร์เรื่องราวที่น่าสนใจ ที่แต่ละฝ่ายงานได้ไปเรียนรู้มา เพื่อส่งต่อให้กับคนในองค์กร

Happy Time ตอน Behind the Scenes หรือเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น 1 แคมเปญ จึงถูกจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ มาร์เก็ต...ติ้งกิ้ง (ชวนชาวเงินติดล้อมาเก็ต Thinking) ที่ทีมงานสื่อสารการตลาดสวมบทบาทเป็น Creative Agency โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 ทีม เพื่อมาขายไอเดียในหัวข้อ ‘It’s Expensive to Be Poor’

เบื้องหลัง กว่าจะเป็น 1 แคมเปญ

เริ่มต้นด้วย ‘ทีมจนน่ะสิ’ มาเปิดมุมมองที่ทำให้เข้าใจความจนมากขึ้น ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของรายได้น้อย ที่สวนทางกลับรายจ่ายที่สูง (เนื่องจากต้นทุนการใช้ชีวิตแพง) และเวลาที่ต้องใช้ไปในแต่ละวัน ที่แต่ละคนไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างผ่านสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต คือ ‘นมกล่อง’ ที่แทบจะทุกบ้านต้องซื้อให้ลูกหลานกิน คนจน...ยังเข้าถึงสินค้านี้ด้วยต้นทุนที่แพงกว่า ชิ้นงานจึงถูกออกแบบให้เข้าใจได้ง่าย โดยใช้เครื่องหมายไม่เท่ากับ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความไม่เท่ากัน ของการซื้อนม 1 กล่อง กับการซื้อนม 1 แพค (12 กล่อง) ทำไมคนรายได้น้อย ถึงเลือกซื้อของทีละน้อยชิ้น หรือขนาดเล็ก…ก็เพราะความสามารถในการเข้าถึง เป็นที่มาของไอเดีย ‘ต้นทุนชีวิตเราไม่เท่ากัน’

ขณะที่ ‘ทีมธรรมดี’ ชี้ให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากประโยค ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ที่อธิบายให้เห็นว่าจำนวนคนรวยในเมืองไทยมีเพียงกระจุกเดียว ในขณะที่จำนวนคนจนมีแนวโน้มที่จะกระจายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากผลชี้วัดของสภาเศรษฐกิจโลก ที่ให้ประเทศไทยติดอันดับ 25 จาก 110 ประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ

รวมถึงชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทำให้คนจน ‘ขาดโอกาส’ ในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น โอกาสในการเข้าถึงบริการจากสถาบันทางการเงินในระบบ เนื่องมาจากรายได้ที่ไม่แน่นอนและไม่หลักฐานแสดงรายได้ที่ชัดเจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสที่จะได้รับบริการทางสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพ คอนเซ็ปต์ไอเดียของทีมธรรมดี แสดงให้เห็นแง่มุมของความจนที่หลายคนมองข้าม หรืออาจคิดไม่ถึงผ่านทางเลือกที่ ‘คนจนจำเป็นต้องเลือก’ เพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต อย่างเช่น ตั๋วรถเมล์เที่ยวละ 9 บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 6 บาท และการกู้หนี้นอกระบบ ที่ดูเหมือนถูก...แต่แท้ที่จริงแล้ว ‘แพงกว่าที่เห็น’ เพราะใต้ความถูก...มีความแพงซ่อนอยู่ และหลายอย่างมันคือตัวเลือกของคนที่ไม่มีทางเลือก

“ทีม 343” ขยายความคำว่า จน ผ่าน 3 มุมมอง คือ จนเงิน (รายได้น้อย จ่ายแพงกว่า) จนเวลา (เสียเวลากับการเดินทาง การรอคิว) และจนโอกาส (โอกาสทางการศึกษา การแพทย์ การเข้าถึงการเงิน โอกาสในการมีสิทธิ์เลือก) โดยชวนชาวเงินติดล้อ มาร่วมเป็นกระบอกเสียงให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความจน และคนจนได้มากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคม

ทีมงานทั้ง 3 ทีม

จบการนำเสนอของทีมงานทั้ง 3 ทีม ด้วยการให้ชาวเงินติดล้อที่ร่วมฟัง รวมถึงที่รับชมผ่าน Facebook LIVE ได้ร่วมโหวตชิ้นงานที่โดนใจ งานนี้นอกจากทีมสื่อสารการตลาด จะได้ฝึกฝนเหลาไอเดียความคิด รวมถึงได้แชร์เบื้องหลังการทำงาน กว่าจะออกมาเป็น 1 แคมเปญการตลาดที่โดนใจคนนั้น เบื้องหลังการทำงานที่แท้จริง คือการที่เราต้องทำความเข้าใจลูกค้าของเราอย่างแท้จริง เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสม โดยมีการสื่อสารเป็นเครื่องมือ

ปิดท้ายด้วยเจ้าของโจทย์ คุณหนุ่ม - ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ ที่อธิบายทิ้งท้ายก่อนปิดงาน ว่า

“ที่ผ่านมา เราใช้เวลาในการปลูกฝังค่านิยมองค์กร 7 ข้อ จนผมเชื่อว่าวันนี้ไม่มีชาวเงินติดล้อคนไหนที่ไม่เข้าใจ แต่เราอาจจะยังใช้เวลาไม่มากพอในการพูดถึงและเน้นย้ำให้ชาวเงินติดล้อได้เข้าใจถึงเจตนาของบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง และนี่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่เราพยายามสื่อสาร เพื่อให้ชาวเงินติดล้อได้เข้าใจลูกค้าของเรามากขึ้น

จริงๆ คำว่า ‘ความจน’ อาจจะไม่ได้อธิบายถึงกลุ่มลูกค้าทั้งหมดของเรา แต่เงินติดล้อมีลูกค้าที่เป็นคนกลุ่มนี้จริง ๆ และมีจำนวนไม่น้อย สิ่งที่แต่ละทีมนำเสนอในวันนี้ อาจจะสื่อสารได้โดนใจแต่ละคนแตกต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายไม่แตกต่าง คำถามต่อไปคือ เมื่อเข้าใจแล้วเงินติดล้อสามารถทำอะไรได้ต่อ เพื่อจะออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

...พนักงานสาขาต้องเข้าใจว่าควรนำเสนอผลิตภัณฑ์ใด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหรือช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ แผนกสินเชื่อต้องรู้ว่าลูกค้าเราหน้าตาเป็นอย่างไร แผนก Operation ควรต้องเข้าใจว่าปัญหาของลูกค้าคืออะไร ฝ่ายเปิดสาขา ต้องเข้าใจว่าทำไมทำเลที่โดดเด่น เห็นง่ายถึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่อยากให้เกิดกรณีที่ลูกค้าตั้งใจจะมาหาเรา แต่ไปหาผิดบริษัท เพราะความสับสนหรือเข้าใจผิด หรืออยากมาหาเรา แต่หาสาขาไม่เจอ ซึ่งอาจทำให้เขาต้องกลับไปอยู่ในวังวนหนี้นอกระบบ หรือได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรมที่ซ้ำเติมชีวิตของเขามากยิ่งขึ้น

เราต้องเน้นย้ำความเข้าใจนี้กันบ่อย ๆ เพราะหากชาวเงินติดล้อทุกคนเข้าใจกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ของเราจริง ๆ ก็จะทำให้การให้บริการ หรือการคิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อลูกค้าทำได้ดียิ่งขึ้น”

งานในวันนี้ เป็นอีกครั้งที่ย้ำเตือนถึงเจตนาที่ดี และความตั้งใจของเงินติดล้อที่ว่า เราทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส คือสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ และชาวเงินติดล้อต่างก็มุ่งมั่นทำงาน ด้วยความเชื่อเดียวกันนี้ เพื่อร่วมกันส่งมอบโอกาสทางการเงิน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมต่อลูกค้า เรียบง่าย สะดวก และรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ชีวิตของลูกค้าหมุนเงินต่อได้

  • ดูเพิ่มเติมดูอีก 8 ภาพ
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น