หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เรียนรู้วิธี ‘สร้างคน’ เพื่อร่วมกัน ‘สร้างองค์กร’

เรียนรู้วิธี ‘สร้างคน’ เพื่อร่วมกัน ‘สร้างองค์กร’

20 ธันวาคม 2564
เรียนรู้วิธี ‘สร้างคน’ เพื่อร่วมกัน ‘สร้างองค์กร’

เรื่องราวการเติบโตจากการได้รับโอกาส ของบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการสร้างนวัตกรรม ‘อารีเกเตอร์’ (Areegator) แพลตฟอร์มเสนอขายประกันออนไลน์ของเงินติดล้อ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้นายหน้าประกันภัยรายย่อยมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัย ด้วยทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเองได้ง่ายขึ้นไปพร้อมกันด้วย

เส้นทางแห่งโอกาสที่นำพา ‘คุณโก้’ ชาญฤทธิ์ สุกปลั่ง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และกลยุทธ์นายหน้าประกันภัย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมวางแผนและพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘อารีเกเตอร์’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณโก้ตัดสินใจเข้าร่วมงานในตำแหน่ง Management Trainee กับบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส (CFG) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆ ในเครือ AIG ที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ก่อนจะมีการรีแบรนด์และเติบโตขึ้นเป็นบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

ตลอดเวลา 13 ปีที่คุณโก้เติบโตไปพร้อม ๆ กับเงินติดล้อก็เต็มไปด้วยเรื่องราวการเรียนรู้จากองค์กรที่มีความเชื่อและวัฒนธรรมของการให้โอกาส ซึ่งทำให้คนในองค์กรได้ดึงความสามารถที่มีออกมาใช้อย่างเต็มที่และพัฒนาศักยภาพให้เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด

ห้องประชุมผู้บริหาร : ห้องเรียนของคนทำงานที่ใฝ่รู้

‘วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์’ ที่เกิดขึ้นในฟากฝั่งยุโรปและอเมริกา ซึ่งทำให้ AIG ตัดสินใจขายทรัพย์สินบางส่วนรวมถึงบริษัท CFG ให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำให้คุณโก้ที่จบปริญญาโทด้านไฟแนนซ์จากอเมริกา และเข้ามาทำงานกับ CFG ได้เพียงปีเดียวต้องตั้งคำถามกับเส้นทางการทำงานของตัวเองในเวลานั้นว่า…ควรจะอยู่ทำงานที่ออฟฟิศห้องแถวในจังหวัดปทุมธานีต่อหรือควรหางานใหม่ที่น่าจะมีอนาคตดีกว่า

แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ทำให้คุณโก้ได้มาร่วมทีม FP&A (Financial Planning & Analysis) ซึ่งเป็นงานที่รักและทำให้ได้เข้าไปร่วมนำเสนอเรื่องการเงินในห้องประชุมทีมผู้บริหารและบอร์ดของบริษัทหลายต่อหลายครั้ง และทำให้คุณโก้ตัดสินใจ ‘หมุนต่อ’ ไปกับเงินติดล้อในเวลานั้น ด้วยเหตุผลว่า

“การได้เข้าไปนั่งฟังการประชุม ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า…แม้ตอนนั้นทีมผู้บริหารเงินติดล้อจะเป็นทีมเล็ก ๆ แต่ก็เป็นทีมที่มีความสามารถมาก และทุกครั้งที่ได้เข้าไปอยู่ในห้องประชุมคือประสบการณ์ที่มีค่า เพราะทำให้ได้เรียนรู้จากมุมมองจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Risk (ฝ่ายบริหารความเสี่ยง) Finance (การเงิน) และทีม Business (ฝ่ายบริหารธุรกิจ) ซึ่งเหมือนการได้สั่งสม ‘คู่มือการตัดสินใจ’ ว่าถ้าต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้นเราควรจะต้องทำอย่างไรหรือตัดสินใจแบบไหน”

เรียนรู้ผ่านการอยู่นอก ‘Comfort Zone’

หลังจากเงินติดล้อย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่อาคารจุฑามาศ  คุณโก้และเพื่อนร่วมงานชาวเงินติดล้อระดับหัวหน้างานของแต่ละฝ่ายก็ถูกดึงให้ออกจาก ‘Comfort Zone’ หรือการทำงานอยู่เพียงในฝ่ายตัวเอง เพื่อมาวางแผนกลยุทธ์การทำงานในอีก 3 ปีข้างหน้าร่วมกันในห้องที่เรียกว่า ‘War Room’

“ตอนนั้นเราได้เรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ปัญหาทางธุรกิจ และฝึกคิดจากคำว่า “So What” ที่คุณหนุ่ม
(ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล MD เงินติดล้อ) จะถามกลับมาตลอด เพื่อให้เราฝึกทักษะหาคำตอบว่าสิ่งที่คิดขึ้นมานั้น…คิดหรือทำไปเพื่ออะไร ซึ่งแรก ๆ ก็จะค่อนข้างยาก แต่พอได้ฝึกคิดหลาย ๆ ครั้งเข้าก็จะได้คำตอบของ So What ที่เร็วขึ้น ชัดขึ้น และคมขึ้น”

นอกจากนี้ การมีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยังสร้าง ‘มิตรภาพ’ และสร้างความเข้าใจในการทำงานของฝ่ายอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เร็วขึ้นตามไปด้วย

เปิดโลกทัศน์ผ่าน ‘ห้องเรียนไร้พรมแดน’

การมีโอกาสได้ไปเทรนนิ่ง สัมมนา หรือศึกษาดูงานจากเคสที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่าง ๆ เป็นการเพิ่มมุมมอง เพิ่มการเชื่อมต่อที่ทำให้สามารถหาสิ่งที่ยังขาดหายไปในการทำธุรกิจได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่คุณโก้เชื่อว่าช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนได้เป็นอย่างดี

ผมเป็นหนึ่งในชาวเงินติดล้อที่ได้รับโอกาสเดินทางไปเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนรู้เรื่องไมโครไฟแนนซ์ที่อิตาลี อินโดนีเซียและกัมพูชา ไปดูเทคโนโลยีของบริษัทฟินเทคและอินชัวร์เทคที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ รวมถึงอเมริกาและอังกฤษซึ่งเป็นแหล่งรวมของบริษัทฟินเทคระดับโลก อีกทั้งยังได้เดินทางไปเรียนรู้การทำธุรกิจของอาลีบาบาถึงสำนักงานใหญ่ในจีน

รวมถึงยังได้เดินทางไปเรียนรู้โมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การพัฒนา ‘‘อารีเกเตอร์’ แพลตฟอร์มประกันภัยของเงินติดล้อ

Learn and Expose to best practice to broaden vision

‘สนามจริง’ โอกาสของการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด

แต่ไม่ว่าจะผ่านการเรียนรู้จากโอกาสที่ได้รับมากี่รูปแบบ โจทย์ที่ท้าทายคนทำงานที่สุดก็คือการ ลงสนามจริง ในภารกิจที่ใหญ่ขึ้น มีทีมงานที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้น และต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น

ปี 2016 คุณโก้ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในตำแหน่ง Deputy CFO ที่ Hattha Kaksekar Limited หรือ HKL (บริษัทสินเชื่อในเครือธนาคารกรุงศรีที่กัมพูชา) ซึ่งเป็นบททดสอบใหญ่อีกครั้งที่คุณโก้ต้องเรียนรู้เพื่อข้ามผ่าน

“ความท้าทายหนึ่งที่แตกต่างคือ ตอนอยู่ที่เงินติดล้อหากอยากได้เงินมาปล่อยสินเชื่อก็แค่ให้ผู้บริหารเซ็น แล้วถอนเงินจากกรุงศรีมาเพื่อไปปล่อยสินเชื่อได้เลย แต่พอมาทำงานที่กัมพูชากว่าจะได้สินเชื่อมาปล่อยสัก 1 ร้อยล้านบาท เราต้องไปดิวกับสถาบันการเงินประมาณ 15-20 เจ้า และการทำสัญญาแต่ละสัญญาก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่าจะเสร็จสิ้นและเขายอมปล่อยเงินมาให้เรา

แต่โพส-อิทที่ผมเขียนว่า ‘Keep Learning’ ที่แปะไว้บนโต๊ะทำงานตั้งแต่วันแรก เตือนตัวเองได้ว่าอย่าถอดใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่หรือใหญ่แค่ไหนก็ต้องพยายามเรียนรู้ต่อ เพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ

และทุกอย่างก็เพิ่มประสบการณ์ให้ผมได้มากขึ้นจริง ๆ คือนอกจากจะได้รู้จักสถาบันการเงินจากยุโรปและเอเซียเพิ่มขึ้น ยังทำให้รู้วิธีการอ่านหนังสือสัญญาเงินกู้ที่หนาเป็นปึก และทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าการเปิดรับกับความเปลี่ยนแปลงและการท้าทายตัวเองคือสิ่งที่จะทำให้เราไม่หยุดนิ่ง”

Challenging job with Great support from NTL and BAY

โอกาสร่วม ‘พัฒนาธุรกิจใหม่’ ให้องค์กร เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมกระหายการเรียนรู้

การได้รับโอกาสเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณโก้เข้าใจ Why ในธุรกิจประกันของเงินติดล้อได้อย่างชัดเจน ซึ่งนำมาสู่การพัฒนา ‘อารีเกเตอร์’ เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถส่งต่อโอกาสให้กับคนตัวเล็ก ซึ่งทำธุรกิจนายหน้าประกันให้สามารถขยายธุรกิจและฐานลูกค้าจากการมีผลิตภัณฑ์ประกันให้ลูกค้าเลือกได้หลากหลายขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนในสังคมเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘อารีเกเตอร์’

ขณะเดียวกันแพลตฟอร์ม ‘อารีเกเตอร์’ ก็สร้างโอกาสให้คุณโก้ได้เติบโตและเรียนรู้ไปกับการบริหารและพัฒนาธุรกิจในขอบข่ายที่กว้างขึ้น

“อารีเกเตอร์ ทำให้ผมได้เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานขึ้นอีกมาก ทั้งในรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากการให้ตัวแทนขายประกันได้ทดลองใช้งานจริง การนำไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์ไปแชร์ในงาน RISE Tech Conference ที่ฮ่องกง เพื่อฟังแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันว่าคิดอย่างไรกับทิศทางของแพลตฟอร์มแบบนี้

รวมถึงการต้องดูแลทีมที่ใหญ่ขึ้น เพราะ ‘อารีเกเตอร์’ เป็นเหมือนธุรกิจอีกยูนิตหนึ่ง ที่ต้องมีทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่าย Operations มาช่วยกันทำงานและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีให้การทำงานของคนในทีมง่ายขึ้นด้วย”

เพราะบทสรุปหนึ่งที่คุณโก้ได้รับมาตลอดเส้นทางการเรียนรู้ที่เงินติดล้อก็คือ เมื่อได้รับโอกาสก็ควรหาทางสร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาสให้กับคนอื่น ๆ ด้วย

และนี่ก็คือเรื่องราวที่เป็นบทพิสูจน์ว่า ‘องค์กรที่สร้างคน…ย่อมได้คน (ร่วม) สร้างองค์กร’

Tips : 5 สิ่งที่ควรมีบนเส้นทางการเรียนรู้

  1. มองเป้าหมาย และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  2. เปิดรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น
  3. เติมความคิดเชิงบวก เพื่อสร้างพลังใจให้ไปต่อ
  4. ใช้เวลาเรียนรู้แนวคิดดี ๆ จากคนที่มีประสบการณ์
  5. ให้โอกาสคนอื่น และเปิดรับโอกาสที่เข้ามาหาตัวเอง
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น