การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ถูกปลุกเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ต้องความสำคัญ ซึ่งมีหลากหลายเป้าหมายตามกรอบของ UNDP ภายใต้กรอบดังกล่าวต่างมีเครื่องมือและกระบวนการที่แตกต่างกันไปตามบริบท
ESG เป็นอีกหนึ่งกระบวนการพัฒนาไปสู่เป้าความยั่งยืน เป็นเครื่องมือของนักลงทุนที่มักจะใช้เป็นกรอบเพื่อการตัดสินใจเลือกบริษัทเพื่อการลงทุน จึงเป็นการผลักดันให้องค์กรภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องมากยิ่งขึ้น ใครที่ทำอยู่แล้วก็เร่งทำให้ดียิ่งขึ้น ใครทำยังไม่ทำเริ่มให้ความสนใจและลงมืออย่างจริงจัง หากไม่ทำวันนี้ก็อาจจะตกขบวน
ท่ามกลางเส้นทางสู่ความยั่งยืน ที่ยังมีคำถามและความไม่ชัดเจน “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ ให้ความเห็นว่า “ESG บางทีมันเป็น Buzz Word (คำที่นิยมพูดกัน) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่โดยวิธีการ สิ่งที่อยากได้ ความรู้สึกยังไม่ชัด แล้วแต่ว่ามิติไหนเสียงดังก็จะได้รับความสนใจ เข้าใจว่า ESG เป็นคำจำกัดความ/กรอบของ Financial Investor มากกว่าที่ใช้เพื่อการตัดสินใจเลือกลงทุน แต่ภาพใหญ่ของความยั่งยืนที่มี 17 ข้อของ UNDP กรอบกว้างกว่าเยอะ”
ปิยะศักดิ์ขยายความถึงความไม่ชัดเจนเพราะส่วนใหญ่ยึดรูปแบบมากกว่าสาระ โดยยกตัวอย่างเรื่องของ G หรือ Corporate Governance เป็นเรื่องการแบ่งหน้าที่ให้ชัดระหว่างฝ่ายบริหารกับคณะกรรมการ กับผู้ถือหุ้น และพนักงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทหน้าที่ ที่ค่อนข้างชัด แต่หลายครั้งคนก็ไม่ได้ตระหนักว่า เมื่อสวมแต่ละหมวกแล้วการตัดสินใจจะแตกต่างกัน
“เช่น… ผมเป็นทั้งฝ่ายบริหารและกรรมการ ฉะนั้น ต้องใส่หมวกรักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นและผลประโยชน์พนักงานและธุรกิจ นี่คือเรื่อง Governance ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนของทั้งข้างบนข้างล่าง แต่ในแง่ธุรกิจ ทุกอย่างที่ทำล้วนมีผลกระทบธุรกิจทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ทางเลือกที่ต้องตัดสินใจในแต่ละวันจริงๆ ก็แฝงความตระหนักถึงมิติพวกนี้หมดเลย ต้องหาจุดสมดุล ให้ทุกคนได้สิ่งที่เขาอยากได้ ในขณะที่โจทย์ไม่ชัด”
“หรือทฤษฎี ตำราที่ว่า Governance ว่าควรทำอะไร อย่างไร แต่ในทางปฏิบัติ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กับประธานกรรมการ ไม่ควรเป็นคนเดียวกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทในไทย หรือในอเมริกา มีบริษัทหลายแห่งที่เจ้าของก่อตั้งขึ้นเองและนั่งทั้งสองตำแหน่ง แล้วทฤษฎีบอกว่าไม่ควรเป็นคนเดียวกัน ให้เลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ข้อเท็จจริงจะเวิร์กหรือไม่ ไม่มั่นใจ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ 20-30 ปีมาอย่างต่อเนื่องเขาก็ทำแบบนี้มา”
“หรือบางครั้ง ESG ก็มีความขัดแย้งกันอยู่ เช่น เราปล่อยสินเชื่อให้คนขายถ่านเพื่อขยายการค้าของเขา แต่ฝรั่งบอกว่าการเผาถ่านไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ปล่อย ขณะที่เราก็มีด้านสังคม ที่อยากให้คนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน บางทีก็เป็นความยาก ทุกเรื่องมีความซับซ้อนมากกว่าคำนิยามสั้นๆ (ความยั่งยืน) หลายคนไม่ดูรายละเอียด”
“หรือการบอกว่าจะหลีกเลี่ยงลงทุนในบริษัทผลิตอาวุธ บริษัทผลิตบุหรี่ ผลิตเหล้า คาสิโน แต่บริษัทพวกนี้ผ่านมากี่สิบปีแล้วก็ยังอยู่ โจทย์มันเลยไม่ง่าย เพราะนักลงทุนต้องการเงิน แล้วธุรกิจพวกนี้ทำเงินได้ มันจึงมีความขัดแย้งกันในตัว การผลักดันเรื่อง ESG จึงได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ไปไม่ถึงร้อย”
นายปิยะศักดิ์เชื่อว่า “ESG สุดท้ายแล้วอยู่ที่ ‘คน’ ว่าเขาเชื่อ หรือไม่เชื่อเรื่อง ESG ขนาดไหน เชื่อในทฤษฎีไหน เพราะมีหลายทฤษฎีมากเลย อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า บริษัทไม่มีงบซีเอสอาร์ แทนที่จะเอาเงินของผู้ถือหุ้นไปทำซีเอสอาร์ ในสิ่งที่ผู้บริหารอยากทำ มันจะดีกว่าไหม ถ้าเอาเงินไปจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น แล้วให้เขาไปบริจาคเอง”
ดังนั้น เมื่อสังคมยึดติดไปกับรูปแบบมากกว่าสาระ ทำให้มีความท้าทายในเชิงปฏิบัติ
ESG กลไกที่สวนทางตลาด
ESG เป็นเรื่องความยั่งยืนและเป็นเรื่องระยะยาวที่กว่าจะเห็นผล ขณะที่กลไกตลาดส่วนใหญ่ต้องการผลตอบแทนระยะสั้นมาก การใช้ ESG มาเป็นกรอบในการตัดสินใจลงทุน ปิยะศักดิ์มองว่านี่คือความยากของ ESG หรือ Sustainability เมื่อกลไกตลาดทุกวันนี้มีระยะสั้นมาก คือกำไรถ้าไม่ถึงเป้า 1 ไตรมาสหุ้นก็โดนทุบแล้ว มีนักวิเคราะห์เป็นกองทัพมานั่งเรียกร้อง มีกองทุนโทรมาบอกว่าจะขายหุ้น แล้วแรงจูงใจของฝ่ายบริหารหรือกรรมการบริษัทคืออะไร นี่คือความยาก ตอนนี้มันพันไปหมดเลย แต่เรามักจะบอกว่าอยากเห็นความยั่งยืนในระยะยาว แต่กลไกที่ชี้วัด (กำไร /โบนัส) 3 เดือน 6 เดือน มันไม่ไปด้วยกัน ดังนั้น การที่จะทำ ESG ได้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องมีแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดผล
ความยากที่สอง แม้ว่าจะมีแรงจูงใจที่จะให้ทำและเกิดผลใน 10 ปี แต่ความยากคือ ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ได้ตัดสินใจทำไปจะส่งผลให้อีก 10 ปีข้างหน้าดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ เราเห็นแต่ทิศทาง แต่คาดเดาผลยาก อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) บริษัท A บอกว่าจะไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน บริษัท B บอกจะไปด้วยถ่าน สุดท้ายบริษัท A ผิด โมเมนตัมไม่เกิด และใช้เงินลงทุนมหาศาล ถามว่าลงทุนแล้ว กลับลำได้หรือไม่ นี่เป็นอีกความท้าทาย คือเราเห็นแค่ทิศทาง แต่คาดเดาผลยาก
ความท้าทายอีกอย่างคือ นอกจากวัดกันด้วยกลไกระยะสั้นแล้ว วาระของกรรมการบริษัท 2 ปีแล้วต้องสลับกัน รวมทั้งหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายกันตลอด ผู้ถือหุ้นเปลี่ยน กรรมการบริษัทก็เปลี่ยน การขับเคลื่อนจึงยากและท้าทายตามไปด้วย
“ดังนั้น ESG คล้ายๆ ไมโครไฟแนนซ์ตรงที่ไม่มีทางแก้ปัญหาที่จะเห็นผลในระยะสั้นๆ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันทำ คือ ปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่โตขึ้นมาแล้วเข้าใจ แต่จะไปคาดหวังว่าคนที่โตมาด้วยบริบทอื่น จะให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ค่อนข้างยาก ที่จะเปลี่ยนทัศนคติแล้วขยายในวงกว้าง”
ความเชื่อ… สินเชื่อเท่ากับโอกาส
“ปิยะศักดิ์” บอกว่า “เงินติดล้อเป็นไมโครไฟแนนซ์ที่ช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะมีความเชื่อว่า ‘เครดิตหรือสินเชื่อเท่ากับโอกาส’ ด้วยการคลุกคลีในธุรกิจที่เห็นความเดือดร้อนของคน ที่ต้องไปกู้เงินนอกระบบค่อนข้างเยอะ และเราเห็นความไม่ถูกต้องของสิ่งที่เขาทำกัน จึงสร้างธุรกิจให้ความสำคัญที่สอดคล้องกับสังคม โดยเราเชื่อว่า ยิ่งเพิ่มให้คนเข้ามาในระบบที่ถูกต้องได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้สังคมแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น”
ดังนั้น คุณภาพชีวิตคนจะดีขึ้นถ้ามีการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นธรรม โปร่งใส และเท่าเทียม เพราะสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง กับสังคมที่ผู้มีรายได้ปานกลางขนาดใหญ่ ความต่างอยู่ที่คำว่า “โอกาส”
มีวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ครอบครัว 1 ครอบครัว ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีแบบไม่สะดุดเลยเรื่องการเงินจึงจะไต่สถานะจากคนจนขึ้นมาอยู่รายได้ระดับปานกลางได้
“โจทย์เงินติดล้อจึงไม่ใช่ดึงเขาขึ้นมาจากตรงนั้น แต่มีจุดยืนชัดว่า ในระหว่างทางการไต่สถานะ ถ้าเขาเจอหลุมบ่อ (เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย ค่าเทอม ที่ต้องใช้เงิน ฯลฯ) อุปสรรคอะไร เงินติดล้อจะอุ้มให้เขาไปต่อได้ สโลแกนจึงออกมาว่า “ชีวิตหมุนต่อได้” แต่การเดินทางหรือการดำเนินชีวิตเป็นของเขา เพราะหลายอย่างไม่เกี่ยวกับเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีวินัย มีสติ มีความอดทน มีความขยัน หลายอย่างมากที่เงินติดล้อให้ไม่ได้ แต่เราเป็นเครื่องมือที่เป็นโอกาสให้เขาหยิบมาใช้เพื่อไปต่อ เมื่อเขาก้าวสู่การมีรายได้ระดับปานกลาง สามารถใช้บริการธนาคารได้ ก็ไม่ต้องยุ่งกับเราแล้ว นี่เป็นจุดที่เราแฮปปี้”
พร้อมย้ำว่า “ภารกิจเรามีแค่นั้น เราโฟกัสแค่นั้น แต่เราก็คิดต่อว่าเราจะไปต่ออย่างไร เราเริ่มจากจุดนี้ก่อน ทำให้เขาไปต่อไปได้ ตอนนี้เราเริ่มลดต้นทุนทางการเงินให้เขาได้ ก็จะช่วยร่นระยะเวลาจาก 20 ปี ให้เขาเร็วขึ้นมานิดหนึ่ง แต่จุดยืนของเรา จะไม่ดึงเขาขึ้น หรือหารายได้ให้เขา แต่เราจะเป็นเครื่องมือให้เขาหากินเอง”
ในด้าน Governance หรือธรรมาภิบาล การที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เรื่องธรรมาภิบาลมีความสำคัญ เพราะต้องตระหนักว่าเงินทุนส่วนใหญ่มาจากคนอื่น เรามีฐานะเป็นผู้ดูแลเงินของคนอื่น สิ่งที่ทำจะสะท้อนสิ่งที่เจ้าของเงินอยากได้ ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันต้องได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีธรรมาภิบาลในมุมอื่นที่ต้องให้น้ำหนักด้วย
ในด้าน Environment ปีนี้มีการขับเคลื่อนเรื่อง ESG กันมาก ทางทีมก็มาดูว่า เม็ดเงินที่บริษัทใช้จ่ายอยู่ตรงไหนบ้าง และจะเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดความสูญเปล่าได้อย่างไร อย่างสาขาที่มีอยู่พันกว่าสาขา วัสดุที่ใช้ในการทำป้ายจำนวนมากจะเลือกใช้อย่างไรที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม หรือบริษัทมีรถยนต์ 400 กว่าคัน มาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่รักษาโลกมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ เป็นต้น
ปิยะศักดิ์บอกว่า ความยากของ ESG ในแง่ธุรกิจ คือ ทุกอย่างที่ทำล้วนมีผลกระทบทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม การตัดสินใจในแต่ละเรื่องต้องตระหนักถึงมิติเหล่านี้ ในขณะที่โจทย์ไม่ชัด แม้จะมีตำรา มีทฤษฎีบอกไว้ แต่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรูปแบบมากกว่าสาระ จึงต้องหาจุดสมดุลให้ได้
จุดสมดุล SDGs กับ 4 เป้าหมายของ “เงินติดล้อ”
สำหรับเงินติดล้อ ปิยะศักดิ์บอกว่า การหาจุดสมดุลเรื่องนี้ค่อนข้างชัดด้วยการตั้งเป้าหมายที่จับต้องได้ก่อน โดยมีเป้าหมาย 4 ด้านสำหรับ SDGs
- ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน
- ส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
- เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและเศรษฐกิจที่เติบโต
- สร้างนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน โดยพยายามผลักดันผู้กำกับดูแล ให้ทุกรายที่ทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ส่งข้อมูลให้เครดิตบูโร อย่างน้อยเพื่อเป็นฐานข้อมูลและสร้างโอกาสให้คนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า จริงๆ รู้ว่ามีบางอย่างที่ทำแล้วได้กำไรมากกว่านี้ แต่เราเลือกที่จะไม่ทำ ฉะนั้น การ Walk the Talk เป็นเรื่องสำคัญ
มิติการศึกษา มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงมีโครงการการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ชุมชน และทางอ้อมโดยมีความเชื่อว่า ถ้าเราทำให้คนไม่มีความกังวลเรื่องเงิน เรื่องแหล่งเงินทุน โดยสามารถลดต้นทุนให้เขากู้ได้ต่ำกว่านอกระบบได้แล้ว โดยธรรมชาติของคนทั่วไปที่มีลูก เขาจะให้ความสำคัญกับการศึกษา จัดสรรเงินไปเรื่องการศึกษาของคนรุ่นถัดไป
การจ้างงานอย่างเป็นธรรมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินติดล้อมีพนักงานกว่า 6 พันคน เกี่ยวพันกับหลายครอบครัว มีการวางแผนการเงินพนักงานไปถึงเกษียณ ให้มีเงินเก็บเพียงพอ ไม่เป็นภาระของคนรุ่นถัดไป นี่คือข้อคิดแรก ระหว่างทางสร้างโอกาสให้เขาเติบโตด้วย รวมทั้งดูแลในหลายมิติอื่นๆ เช่น คลินิกปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้
“การดูแลพนักงานก็เช่นเดียวกัน walk the talk ทุกคนถามว่าทำไมต้องทำ เพราะอยากให้เขาทำงานทุ่มเทเต็มที่กับบริษัท บริษัทก็ควรจะดูแลเขา นี่คือหลักคิด และสิ่งที่พยายามทำ ทำให้เป็นตัวอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทอื่นทำเช่นเดียวกัน จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร”
นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อต้องการให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เงินติดล้อทำอะไร คนอื่นทำตาม ตัวอย่าง เช่น หลายคนไม่มีกำลังซื้อประกันรถยนต์ พอเกิดอุบัติเหตุ เกิดเรื่องไม่คาดคิดกับกระแสเงินสด เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเขาก็ติดขัดมาก เงินติดล้อจึงทำให้ประกันรถยนต์เป็นสิ่งทีเข้าถึงได้ง่าย ผ่อน 0% พอเราทำได้ ความต้องการก็เปลี่ยน คู่แข่งทั้งอุตสาหกรรมต้องหันมาทำบ้าง ทำให้ไม่มีใครต้องเสียดอกเบี้ยซื้อประกันอีกต่อไป เราขับเคลื่อนสังคมผ่านนวัตกรรม ทำให้การเปลี่ยนแปลง
“เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกำแพงใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน คือ ต้นทุน โดยเฉพาะคนที่ต้องการเม็ดเงินน้อย ถ้าไม่คิดค่าธรรมเนียมกับดอกเบี้ยสูงๆ ผู้ให้บริการจะไม่คุ้ม ขณะที่การลงทุนเทคโนโลยีในแต่ละหน่วยจะทำให้ค่าบริการลดลง โอกาสที่จะไปถึงกลุ่มที่อยู่ในชนบทมากๆ ต้องการเม็ดเงินน้อยจะเป็นไปได้ และบางจุดที่เทคโนโลยีทำกำไรได้ ก็สามารถนำกำไรนี้ไปอุดหนุนอีกจุดหนึ่งให้เกิดจนกว่าจะคุ้มต้นทุนได้ แต่ต้องอดทนมาก เพราะเป็นเรื่องระยะยาว”
เงินติดล้อทำมา 10 ปี เพิ่งจะเห็นผลที่จับต้องได้ แต่ก็ทำให้ 3-4 ปีที่ผ่านมา ถูกนักวิเคราะห์ว่า ทำไมต้นทุนถึงสูง
อย่างไรก็ตาม พนักงานที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิดค้นได้ มีคนได้ประโยชน์ เขาได้ช่วยเหลือคนอื่นอยู่ จุดนี้สำคัญ เพราะเขาไปที่ไหนก็ได้ถ้าจะเอาเงินเดือนเท่านี้ แต่เขาเลือกจะทำเรื่องยากกับเรา เทียบกับที่อื่นได้เงินเดือนเท่าเดิม ทำงานง่ายกว่า แต่ความเชื่อในการสร้างประโยชน์มันมีคุณค่าเพิ่มขึ้นมาอีกนอกจากเงินเดือน และกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้คนมาทำงาน
ด้านโครงสร้างพื้นฐานก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ผลักดันคือการส่งเสริมให้เครดิตบูโรเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ เพราะการสร้างไทยแลนด์ 4.0 หรืออะไรก็ตามต้องมีข้อมูล เงินติดล้อกำลังพยายามผลักดันและเป็นตัวอย่างให้ทำตาม และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของเงินติดล้อ อย่างการปล่อยสินเชื่อ เก็บและส่งข้อมูลให้เครดิตบูโร แปลว่าเรามีต้นทุน แม้เป็นเรื่องที่ยากของธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นอาจจะไม่ต้องการ แต่เป็นเรื่องควรจะทำ
“โจทย์เรา เราจะลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าฐานลูกค้า 1 ล้านคน ขณะที่เราส่งข้อมูล สร้างประวัติให้คนไปเครดิตบูโร 2-3 ล้านรายแล้ว ส่วนพนักงานที่สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตอนนี้ 90% แล้ว เพื่อเป็นเครื่องมือหลักให้เขามีเงินออมตอนเกษียณ และพยายามผลักดันให้ออมมากกว่านี้ นอกจากนี้มีคลินิกช่วยพนักงานที่ติดหนี้ ช่วยเขาจัดการเรื่องเงิน ให้ความรู้เรื่องการเงิน แม้ไม่มีตัวชี้วัดเป็นตัวเลข เราดูจากคอมเมนต์ เราดูเชิงคุณภาพ และพอใจกับสิ่งที่ได้และต้องทำไปเรื่อยๆ”
ปิยะศักดิ์กล่าวว่า “สิ่งที่ผมคิดว่าทำได้ คือประกาศตัวตนของเราให้ชัด ถ้ามีเวลาลองไปอ่านจดหมายที่เขียนถึงท่านเจ้าของร่วมเงินติดล้อ เราพยายามประกาศตัวตนขององค์กรของเราและสื่อสารถึงผู้ถือหุ้นว่า…
“เราอยากบอกผู้ถือหุ้นและนักลงทุนว่า หากไม่ชอบในสิ่งที่เราทำ ไม่ต้องซื้อหุ้นเราก็ได้ เรายินดีรับฟังข้อเสนอ ความคิดเห็น เราจะกลับไปพิจารณา แต่การตัดสินใจอยู่เราและกรรมการบริษัท เพราะเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น แต่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเลือกหุ้นบริษัทอื่นๆ มากมาย ไม่ต้องเลือกเราก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราค่อยๆ สร้างจุดยืนของเรา”
พร้อมยกตัวอย่าง “กรณีบริษัทแอปเปิล เขามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นสายชาร์จ วัสดุที่เขาใช้มันดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้นทุนสูงขึ้น เขาทำได้สองอย่าง คือ ยอมรับกับ Margin ที่ต่ำลง หรือไปคิดราคาลูกค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะบ่นว่าต้นทุนสูงขึ้น และผู้บริโภคจะบ่นถ้าสินค้าแพงขึ้น แต่แอปเปิลยืนยันในเรื่องกรีนเพราะช่วยลด Carbon Footprint เขาก็บอกว่า เราเคารพสิทธิของคนที่จะเลือกหุ้นตัวอื่น เราเคารพสิทธิคนที่จะไปเลือกมือถือยี่ห้ออื่น เพราะลูกค้า นักลงทุนมีทางเลือก แต่ถ้าอยากใช้แอปเปิลก็ต้องเลือกแบบนี้ อันนี้เป็นทางเลือกในการดีไซน์บริษัทของเขา”
“ผมเคยเห็นผลสำรวจ ESG ที่มีเป็นร้อยหน้า และสะท้อนความไม่เข้าใจ คือ มีเจตนาดี แต่การยึดติดรูปแบบมากเกินไปทำให้สิ่งที่ทำสูญเปล่า เสียเวลา เป็นต้นทุน ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสบายใจหรือเปล่าที่ได้คะแนนสูงๆ จากคนอื่น แต่ผมจะนอนหลับ ฝันดี และสบายใจว่า พอตื่นมาเราทำให้โลกใบนี้ สังคมนี้มันดีขึ้น แล้วไม่ต้องเอาตัวเองไปวัดด้วยกฎเกณฑ์ของคนอื่น”
ที่มา: Thaipublica