หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ชาวเงินติดล้อ ร่วมสร้าง “โลกสีเขียว”

ชาวเงินติดล้อ ร่วมสร้าง “โลกสีเขียว”

04 ตุลาคม 2564
ชาวเงินติดล้อ ร่วมสร้าง “โลกสีเขียว”

เรื่องราวนี้เริ่มมาจากความพยายามสร้าง “แรงกระเพื่อมเล็ก ๆ” เพื่อหวังจะขยายวงกว้างและมีพลังมากขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของ “ชาวเงินติดล้อ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันสร้าง “โลกสีเขียว”

“โลกสีเขียว” ที่ชาวเงินติดล้อกำลังร่วมกันสร้างนั้น มีความน่าสนใจตรงที่จุดเริ่มต้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่การมองเห็นปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่มีความพยายามร่วมมือกันหาทางแก้ไข และนำไปสู่ความสำเร็จได้ด้วย ความกระหายเรียนรู้ กล้าคิด กล้าลอง ที่เป็นค่านิยมขององค์กรที่ขาวเงินติดล้อทุกคนมีอยู่ในตัวเอง

บทความนี้จะบอกเล่าเส้นทางการสร้าง “โลกสีเขียว” ของชาวเงินติดล้อและวิธีการปลูกต้นกล้าของ “สำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม” ให้ค่อยๆเติบโตและงอกงามอย่างทุกวันนี้ ว่าเป็นมาอย่างไร

ทีม Business Support and Central Service (BSCS) หรือ ทีมบริการกลาง เป็นทีมหลักในการขับเคลื่อนเส้นทางการสร้าง “โลกสีเขียว” ของชาวเงินติดล้อ โดยเมื่อทีมมองเห็นปัญหาของการใช้พลังงานน้ำ ไฟต่างๆในอัตราที่สูงนั้น ได้พยายามช่วยกันแก้ปัญหาโดยเกิดเป็น “รณรงค์ลดการใช้พลังงาน” ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งต้นในการพยายามสร้าง “โลกสีเขียว” ก่อนจะเกิดโครงการต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย

“เนื่องจากงานของทีม BSCS จะเกี่ยวข้องกับการดูแลสาธารณูปโภค การใช้น้ำ ใช้ไฟ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงเรื่องแม่บ้าน งานเก็บขยะ ความปลอดภัยของสำนักงานใหญ่และสาขา และยังรวมถึงการใช้รถสำนักงานต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เชื่อมโยงอยู่กับสิ่งแวดล้อม

ทีม BSCS

ทีม BSCS เริ่มเห็นปัญหาการใช้พลังงานในปริมาณที่สูงมาตั้งแต่สำนักงานใหญ่ของเงินติดล้ออยู่ที่อาคารจุฑามาศ จึงเริ่มต้นจากการรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน ด้วยการนำสติ๊กเกอร์แปะตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนช่วยกันปิดไฟ-ปิดน้ำในช่วงที่ไม่ใช้

รวมถึงการรณรงค์ประหยัดน้ำมัน ไม่ว่าจะด้วยการดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพดีเพื่อจะได้ไม่กินน้ำมัน การเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันดีเซลมาเป็น B10 และเปลี่ยนจากเบนซินมาเป็น E20 ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้วยังส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วย

จนกระทั่งย้ายสำนักงานใหญ่มาที่อารีย์ ฮิลล์ ทีม BSCS ก็ใส่ใจตั้งแต่โครงสร้าง วางแผนคุยกับผู้รับเหมา ที่รับงานตกแต่งภายในตั้งแต่ต้น โดยให้เปลี่ยนหลอดไฟที่ใช้มาเป็นหลอดไฟ LED เพื่อจะได้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น ทยอยเปลี่ยนเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้หลอดไฟทั้งหมดได้เปลี่ยนเป็น LED หมดแล้ว”

ระหว่างทางของความพยายามสร้าง “โลกสีเขียว” ยังมี “บทเรียนดี ๆ” จากความกระหายเรียนรู้ และกล้าคิด กล้าลอง ตามค่านิยมชาวเงินติดล้อ ที่ทำให้ทีม BSCS ได้เรียนรู้ว่า ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพื้นที่และพฤติกรรมของผู้ใช้พื้นที่นั้น คือองค์ประกอบสำคัญที่นำเส้นทางนี้ไปสู่ความสำเร็จ

“ประมาณ 1-2 ปีที่แล้วเรามีการนำ Motion Switch (สวิตซ์ไฟที่ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อเปิด-ปิดการใช้งานอัตโนมัติ) มาลองใช้ในห้องประชุม แต่ลองไปได้แค่ 2 ห้องก็บ่นอุบ เพราะบางครั้งคนในห้องประชุมก็ตั้งใจประชุม นั่งกันนิ่ง ๆ แต่ Motion switch ตรวจจับไม่พบความเคลื่อนไหว ทำให้ไฟดับอัตโนมัติ คนก็ตกใจว่าทำไมจู่ ๆ ไฟถึงดับ

เลยต้องมาวิเคราะห์พื้นที่กันใหม่ว่าที่ไหนบ้างที่ผู้ใช้งานไม่ต้องใช้งานเป็นประจำ และไม่จำเป็นต้องเปิดไฟตลอดเวลา ในที่สุดเราก็เปลี่ยนการใช้ Motion Switch ไปไว้ที่บริเวณเครื่องปริ้นท์เอกสารซึ่งเป็นจุดที่เหมาะสม เพราะเมื่อคนปริ้นท์งานเสร็จก็จะเดินออกมา ไฟก็จะดับอัตโนมัติเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวบริเวณนั้น จะเห็นได้ว่าการทำงานตลอดเส้นทางนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และเรียนรู้ที่จะมองให้รอบด้านมากขึ้น”

อีก “บทเรียนสำคัญ” ของทีม BSCS มาจาก “การรณรงค์ให้ชาวเงินติดล้อคัดแยกขยะ และทิ้งขยะแต่ละประเภทลงถังขยะรีไซเคิลอย่างถูกต้อง” ซึ่งนำมาสู่การออกแบบถังขยะรีไซเคิลที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และนำมาสู่การ “กำหนดพิกัด” ตั้งถังขยะรีไซเคิลได้อย่าง “ถูกที่ ถูกฝ่าย”

“ก่อนจะถังขยะรีไซเคิลจะมีหน้าตาอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ เราลองกันมาแล้วหลายแบบ เริ่มจากใช้ถังขยะต่างสี แล้วก็ติดป้ายข้างบนว่าถังสีไหนใช้ทิ้งขยะอะไร แต่พอนำไปวางก็ยังไม่ค่อยมีการแยกขยะกันสักเท่าไหร่

ในความพยายามครั้งที่ 2 เราเลยปรับช่องของฝาถังให้พอดีกับขนาดของขยะแต่ละชนิดที่ต้องการให้ทิ้ง เช่นถังขยะที่ต้องการให้ทิ้งขวดพลาสติกก็เจาะฝาให้พอดีกับขวดน้ำ แต่ก็ยังมีคนที่ไม่ทิ้งตามนั้นอยู่ดี

จนสุดท้ายเราคิดวิธีออกแบบถังขยะใหม่ ให้มีรูปลักษณ์ที่ดูแล้วรู้ทันทีว่าต้องทิ้งอะไร อย่างถังสำหรับทิ้งขวดพลาสติกก็ออกแบบฝาครอบถังเป็นรูปขวด แล้วแยกเป็นช่องให้ทิ้งฝาขวด และช่องทิ้งพลาสติกหุ้มขวด ส่วนตัวขวดก็หย่อนลงถังได้เลย แม่บ้านจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปแยกอีกรอบ

ถังใส่กระป๋องอลูมิเนียม อย่างกระป๋องเบียร์ กระป๋องน้ำอัดลม จะดีไซน์ถังให้เป็นรูปกระป๋องอลูมิเนียม แล้วเจาะช่องให้ใส่ได้เฉพาะกระป๋องอลูมิเนียมเท่านั้น ส่วนถังใส่กระดาษใช้แล้วเป็นถังที่ทำมาจากกระดาษลัง ซึ่งเรารับมาจาก SCGP (บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง) หนึ่งในพาร์ทเนอร์เรื่องสิ่งแวดล้อมของเรา ถังขยะ E waste สำหรับทิ้งอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์มีพิษ เช่น หูฟัง มือถือเก่า แท่นชาร์ตเก่า สายชาร์ตเก่า ฯลฯ เราก็รับมาจาก AIS ซึ่งอยู่ในเครือข่าย E Waste”

ส่วนเรื่องจุดติดตั้ง ก็เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ว่าถังขยะประเภทอะไร เหมาะกับจุดประสงค์ของผู้ใช้พื้นที่บริเวณไหน

“อย่างถังกระดาษ A4 รีไซเคิล เราไปตั้งที่บริเวณปริ้นท์เอกสาร ส่วนถังรับกระดาษลัง นำไปตั้งใกล้ ๆ กับฝ่าย IT ซึ่งมีการสั่งอุปกรณ์ที่ต้องแกะกล่องกันบ่อย ๆ พอนำถังใส่กระดาษลังไปวางใกล้ ๆ ฝ่าย IT ก็ทิ้งได้สะดวกขึ้น”

นอกจากนี้ ทีม BSCS ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการบอกถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะที่จับต้องได้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น ขวดน้ำพลาสติกที่มาจากการคัดแยกขยะ เราก็สื่อสารว่าจะมีการนำไปบริจาคที่ “วัดจากแดง” เพื่อแปรรูปเป็นเส้นใยและนำไปทำเป็นผ้าไตรจีวรถวายพระ ส่วนกระป๋องและฝากระป๋องอลูมิเนียม เราจะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อนำไปทำเป็นขาเทียมให้กับผู้พิการ กระดาษใช้แล้วก็นำส่งให้โรงงานกระดาษนำไปรีไซเคิลต่อ ขณะที่ขยะมีพิษก็จะได้รับการนำไปทำลายอย่างถูกวิธี

“เราพยายามใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาประกอบ เพื่อให้เห็นภาพและเป้าหมายได้ดีขึ้น เช่น ถึงวันนี้ เงินติดล้อบริจาคขวดพลาสติกให้วัดจากแดงไปแล้วจำนวน 164 กิโล ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นผ้าไตรจีวรได้จำนวน 328 ผืน หรือหากลดการกินกาแฟจากแก้วพลาสติก 1 แก้ว จะลดการสร้างขยะได้ถึง 4 ชิ้น (คือตัวแก้ว ฝา หลอดพลาสติก ถุงหิ้ว) และถ้าเปลี่ยนมาใช้แก้วส่วนตัวทุกวันที่มาทำงาน 5 วัน จะลดขยะได้ถึง 20 ชิ้น แต่หากตลอดทั้งปี ชาวเงินติดล้อทุกคนร่วมใจกันใช้แก้วส่วนตัว จะลดขยะจากแก้วกาแฟพลาสติกได้ถึง 6 ล้านชิ้น”

ปริมาณทรพยากรที่ ชาวเงินติดล้อช่วยกันรักษ์โลก

จนถึงวันนี้ ทีม BSCS ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์โครงการ Go Green ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการติดตั้งโซลาร์ เซลล์ ด้านหน้าสาขา เพื่อให้แสงสว่างแทนหลอดไฟ โครงการรณรงค์ลดขยะอินทรีย์ (สั่งอาหารแค่พออิ่ม) เป็นต้น

กุญแจแห่งความสำเร็จของทีม BSCS มาจาก “ความร่วมมือ ร่วมใจ”ของชาวเงินติดล้อที่พร้อมหมุนไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“เวลาที่เงินติดล้อทำอะไร จะไม่ได้ทำกันอยู่แค่ฝ่ายเดียวหรือทีมเดียว แต่จะได้รับความร่วมมือจากทีมอื่น ๆ ด้วยเสมอ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมตกแต่งสำนักงานใหญ่และสาขาในธีม “ลดโลกร้อน” ให้ตกแต่งฝ่ายและสาขาของตนเองจากวัสดุเหลือใช้ เราก็ได้รับความร่วมมือจาก “ทีม DIY” ทำวิดีโอ สอนการประดิษฐ์ของตกแต่งจากของเหลือใช้ และช่วยนำกระป๋องอลูมิเนียมที่รวบรวมได้มาทำเป็นต้นคริสต์มาส นำขวดพลาสติกมาทำเป็นโคมไฟ ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจในการคัดแยกขยะได้ดีขึ้น

การสื่อสารที่ทีม Culture ช่วยสร้างความสนุกผ่านกิจกรรม “ทุกวันพุธ ชวนเธอมากรีน” ใน Facebook ชาวเงินติดล้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ชาวเงินติดล้อช่วยกัน Green ด้วยการถือถุงผ้าใช้แก้วส่วนตัว คัดแยกขยะ ฯลฯ และโพสต์ภาพมาร่วมสนุกเพื่อลุ้นว่าวันนี้จะมีใครบิงโกบ้าง

รวมถึงการสั่งทำของพรีเมียมและของรางวัลต่าง ๆ ที่นำมาใช้แจกพนักงานในแต่ละกิจกรรมก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดเชื่อมโยงกับการรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ถุงผ้า หรือขวดน้ำ เป็นต้น”

และที่สำคัญที่สุดคือ “ผู้บริหารเงินติดล้อ” ที่มีบทบาทเป็นทั้ง “กองหนุน” และ “ผู้นำทาง” ในการสร้าง “โลกสีเขียว” ของเรา

ทุกคนรู้หรือไม่ว่าการนำกระดาษ A4 ที่ผลิตมาจากกระดาษรีไซเคิลมาใช้ในสำนักงานก็มาจากแนวคิดของคุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ (MD)

นอกจากคุณหนุ่ม ก็มีทีมผู้บริหารเองที่ทำให้น้อง ๆ ดูเป็นตัวอย่างในทุก ๆ วันไม่ว่าจะเป็นการนำแก้วน้ำ ขวดน้ำ ส่วนตัวมาทุกวัน หรือถือถุงผ้ามาตลอด”

และนี่แหละคือเรื่องราวของแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ จากการร่วมมือ ร่วมใจของชาวเงินติดล้อทุกคน ทั้งหมดนี้ได้รวมกันเป็น “พลัง” ที่ทำให้ “โลกสีเขียว” ของชาวเงินติดล้อขยายวงกว้างใหญ่อย่างมั่นคงขึ้นทุก ๆ วัน

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น