หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เพราะการตั้งคำถาม สำคัญกว่าการหาคำตอบ

เพราะการตั้งคำถาม สำคัญกว่าการหาคำตอบ

18 กันยายน 2566
เพราะการตั้งคำถาม สำคัญกว่าการหาคำตอบ

“คำว่า Work Smart อาจไม่ได้หมายถึง เราต้องตัวใหญ่ที่สุด หรือมีสาขามากที่สุด แต่หมายถึงการใช้เทคโนโลยี ใช้สิ่งที่มีอยู่บนโลกใบนี้ให้เป็นประโยชน์ แล้วทำให้เราเก่งขึ้นกว่าเดิม”

นี่คือส่วนหนึ่งในบทสรุปของคุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หลังจบเวิร์กชอป 1,000 คำถาม เวิร์กชอปที่พัฒนาและวิเคราะห์ (A&D) พาผู้นำชาวเงินติดล้อกว่า 50 ชีวิตไปช่วยกัน ‘ตั้งคำถาม’ ตามชื่อเวิร์กชอป เพื่อให้ชาวเงินติดล้อสามารถเพิ่มศักยภาพตนเอง และเพิ่มศักยภาพองค์กรให้โตไกลไปกว่าเดิม แต่ด้วยวิธีไหน อย่างไร ใช้เทคโนโลยีอะไรเป็นตัวช่วย ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามที่มีคำตอบรอคอยอยู่ในเวิร์กชอปนี้

กิจกรรมแรกของเวิร์กชอป 1,000 คำถามคือ Gallery Walk ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้นำชาวเงินติดล้อได้เห็น ‘การบ้านเดี่ยว’ ของคนที่ทำมาได้ถูกต้อง ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงของการบ้านนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นที่คำตอบ แต่เน้นให้เห็นที่มาว่า ก่อนจะมาเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่เก็บรวมรวมข้อมูล จัดเตรียม ทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleansing) ไปจนถึงนำข้อมูลมาเชื่อมโยง จนได้บทวิเคราะห์เชิงลึกที่สามารถนำไปต่อยอดปฏิบัติได้จริง

จากนั้นคุณหนุ่มก็ชวนผู้นำชาวเงินติดล้อย้อนความทรงจำไปที่งาน Open Box เมื่อต้นปี 2566 ซึ่งมีธีมหลักคือ Smart Execution เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในปีนี้ ชาวเงินติดล้อจำเป็นต้อง

  • สนใจบริบทรอบตัว เช่น การมาถึงของเทคโนโลยี AI
  • จัดลำดับความสำคัญ บางครั้งสิ่งที่ไม่มีในแผนก็อาจต้องดึงขึ้นมาทำก่อนหากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เวิร์กชอป 1,000 คำถาม ที่เดิมไม่ได้มีอยู่ในแผน
  • ปรับตัว เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และง่ายขึ้น

“เพราะราคาของการไม่ปรับตัว อาจไม่ใช่แค่ทำให้ตามคนอื่นไม่ทัน แต่อาจทำให้องค์กรที่ไม่ปรับตัวอยู่ต่อไปไม่ได้ และต้องล้มหายตายจากไป”

 1,000 questions workshop smart execution

ทำไมต้องเป็นเวิร์กชอป 1,000 คำถาม และเวิร์กชอปนี้สำคัญอย่างไร

หลังการดูภาพยนตร์ Generative AI ซึ่งช่วยให้ผู้นำชาวเงินติดล้อเห็นภาพชัดขึ้นว่า AI ทำอะไรได้บ้าง และจะช่วยให้ชีวิตการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คุณเบอร์นาร์ด โช ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการตลาดและการพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ช่วยสรุปประเด็นจากหนังและอธิบายกิจกรรมต่อไปซึ่งเฉลยว่าทำไมเวิร์กชอปนี้จึงชื่อเวิร์กชอป 1,000 คำถาม พร้อมทั้งยังให้คำตอบว่าเวิร์กชอปนี้สำคัญอย่างไร นั่นคือ

“ผู้นำชาวเงินติดล้อจะต้องช่วยกันสร้างระบบข้อมูลผ่านการตั้งคำถาม เพื่อติด Speed ให้กับ Flywheel ของเงินติดล้อ”

ต่อด้วยคุณนอร์ธ ธีวินท์ จิตรสถาพร จากฝ่ายวิเคราะห์และพัฒนา ที่มาเล่าถึง Generative AI แบบใกล้ตัวชาวเงินติดล้อมากขึ้นว่า

“ทุกวันนี้เรามีทีมนักวิเคราะห์ที่กระจายตัวอยู่ในฝ่ายต่างๆ ที่ใช้ Tableau (โปรแกรมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล) กันมากกว่า 200 Licenses ใช้กันจนทดแทน Excel ได้เลย บ่งบอกให้เห็นถึงความต้องการที่จะนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (Data-Driven) อย่างทั่วถึง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เราก็พร้อมที่จะปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทันที”

จากนั้นก็เป็นช่วงเวลาแยกย้ายกันเข้ากลุ่ม เพื่อคัดและเลือกคำถามที่แต่ละกลุ่มเตรียมกันมา
 

เวิร์กชอป 1,000 คำถามมีวิธีสร้างการเรียนรู้แบบไหน อย่างไร และอะไรบ้างคือสิ่งที่ผู้นำชาวเงินติดล้อได้เรียนรู้

วันที่ 2 ของเวิร์กชอปเริ่มด้วยการประกาศรางวัล ‘THE BEST HOMEWORK’ ผลงานการบ้านเดี่ยวยอดเยี่ยม (จากผลโหวตของเพื่อนๆ) โดยมีรางวัลเป็นหมวกที่ส่งตรงจากอเมริกา
ตามมาด้วยการเล่าถึงการสร้าง Data Flow หรือการเก็บ และการคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลของเงินติดล้อโดยคุณดิ๋ง เทพศักดิ์ มะเปี่ยม จากฝ่าย เทคโนโลยีสารสนเทศ

และต่อด้วยการให้ผู้นำชาวเงินติดล้อเล่นเกมส์ Data Dash เกมส์จำลองสถานการณ์การเก็บ คิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลจริงผ่านตัวต่อ LEGO โดยช็อตเด็ดคือ หากเจ้าหน้าที่รวบรวมและจัดเก็บข้อมูล (Data Collector) เก็บข้อมูลมาขาดหรือเกิน คนที่เป็น Leader ของกลุ่มจะต้องเตรียมวิ่งรอบห้อง!

การออกแบบ ‘เกมส์’ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเพื่อสร้างการเรียนรู้ จึงทำให้ผู้นำชาวเงินติดล้อเข้าใจความสำคัญของคุณภาพของข้อมูล และการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังช่วยให้ทีมที่เป็น วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) และ นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) ทำงานได้ง่ายขึ้น

เช่นที่คุณกบ ทัศนะ ลักษณคำ จากฝ่ายพัฒนาคุณภาพสินเชื่อ พูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ว่า

"เกมส์ทำให้เห็น Journey ว่ากว่าจะได้ Data มายากแค่ไหน และถ้าเริ่มจากการใส่ Data ที่ถูกต้องทุกอย่างก็จะไวและง่ายขึ้น”

แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือคำเฉลยของคุณนอร์ธที่บอกว่า ทีมของเราใช้ ChatGPT ในการออกแบบเกมส์และเวิร์กชอป และใช้ Midjourney ในการออกแบบภาพประกอบ โดยทั้งหมดใช้เวลาเพียง  1 ชั่วโมงเท่านั้น

“ถ้าไม่มี AI เราคงต้องใช้เวลานานกว่านี้แน่ๆ”

วันสุดท้ายของเวิร์กชอป ผู้นำชาวเงินติดล้อมีโอกาสลองสร้างภาพจากโปรแกรม Midjourney ที่สามารถวาดรูปผ่านคำสั่งเพียงไม่กี่คำด้วยเทคโนโลยี 'แปลงข้อความเป็นภาพ' (Text-to-Image) โดยต้องฝึกใช้ ‘พร้อมท์’ (Prompt) การเขียนข้อความหรือประโยคอธิบายสิ่งที่ต้องการให้ AI สร้างออกมาให้เหมือนภาพต้นแบบที่กำหนดไว้ นั่นก็คือภาพ ‘ข้าวเหนียวหมูปิ้ง’

จากนั้นก็ให้แต่ละทีมบรรยายความรู้สึกของการมาร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้ออกมาเป็นภาพ และส่งตัวแทนมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง

ก่อนปิดเวิร์กชอป คุณหนุ่มได้ช่วยสรุปแกนหลักที่มีอยู่ในเวิร์กชอปนี้ว่า

  • ช่วยฝึกการตั้งคำถาม คำถามคม คำตอบดี
  • เรียนรู้ และปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีมา Disrupt
  • การสื่อสารสำคัญ ทุกครั้งที่มีเวิร์กชอป ความเข้าอกเข้าใจระหว่างชาวเงินติดล้อด้วยกันจะเพิ่มมากขึ้น เช่นครั้งนี้ ‘คนใช้ข้อมูล’ เข้าใจ ‘คนทำข้อมูล’ มากขึ้น
  • ความเข้าใจ ทำให้ชาวเงินติดล้อไม่ต้องคุยกันด้วยเอกสาร ช่วยให้ Silo น้อย

“เวิร์กชอป เป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ สร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อดึงศักยภาพของคนออกมา ผู้นำก็เช่นกัน หน้าที่ของผู้นำคือการสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนให้คนในแผนก คนในองค์กรสามารถขยายความสามารถของตนเองได้แบบไร้ขีดจำกัด และผมเชื่อว่าหลังจากนี้องค์กรของเราจะเปลี่ยนไปอีกจากศักยภาพที่เพิ่มขึ้น”

วันนี้การทำงานแบบ Work Smart พร้อมเรียนรู้และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ จึงเป็นคำตอบของการเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งความเร็วให้กับ Flywheel ของเงินติดล้อ.... แต่เรื่องราวยังหมดยังไม่จบอยู่เพียงเท่านี้ เรายังจะต้อง ‘ไม่หยุดเรียนรู้’ และพร้อม ‘ปรับตัว’ เพื่อให้ก้าวนำและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
 

ส่วนหนึ่งของ AHA Moment จากเวิร์กชอป 1,000 Questions

"เวิร์กชอปนี้ทำให้เห็นความสำคัญของบริบทในการทำธุรกิจ ทำให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้น บางทีข้อมูลก็ไม่ได้ถูกไปทั้งหมด เทคโนโลยีไม่ได้มาแทนที่คน แต่มาช่วย Recommend และ Connect คนเข้าด้วยกัน” วรุตม์ นามศิริพงศ์พันธุ์ ฝ่ายบัญชีและการเงิน

"ประทับใจ Agenda ของเวิร์กชอป เนื้อหาต่างๆ ที่เราได้รับ ทำให้เห็นความสำคัญของข้อมูล บวกกับการได้ทำงานแบบ Cross functional ทำให้เข้าใจ Matrix ของทีมอื่น ๆ ได้รู้จักแผนกอื่นมากขึ้นไปอีก” พุฒิภา โชติกวรวุฒิ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ

"การตั้งคำถามที่ดี ที่คม มีผลกับผลลัพธ์ของงาน  และยังได้เรียนรู้ว่าเรามีปริมาณของข้อมูลเยอะ จึงจำเป็นที่แต่ละฝ่ายต้องกำหนดนิยามของข้อมูลให้ตรงกัน” วิริยาภา ธนลาภเจริญ ฝ่ายปฏิบัติการ

"ชอบการตั้งคำถามทั้งกับสิ่งที่มีอยู่แล้วและสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะถ้าเราสามารถตั้งคำถามถึงสิ่งที่กำลังจะทำได้ และเราอยากรู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง ก็จะช่วยอุดช่องวางในกระบวนการคิดได้ดีขึ้น และหากเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว การตั้งคำถามก็จะช่วยดีไซน์การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดเพิ่มเติมได้” วรรณจรี ศศิสุริยาภูมิ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

"อยู่เงินติดล้อมาหลายปี และเห็น Culture ของที่นี่ที่มีการตั้งคำถามตลอดเวลา และคำถามที่ตั้งก็ทำให้เราไปที่ Chapter ใหม่ๆ ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามา มีเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยเราทำงาน ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มทักษะในการตั้งคำถามที่ตรงประเด็นมากขึ้น คมมากขึ้น” ณัฐวัฒน์ อนันตธนนิษฐ์ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ

"ชอบความกล้าของบริษัทที่กล้าทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในองค์กร และขอบคุณที่ให้ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของวิศวกรก่อสร้าง NTL GPT…ตื่นเต้นที่จะได้เห็นการใช้งานจริง” ธนากร จันทรังษี ฝ่ายนายหน้าประกันภัย

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น