ในปัจจุบันบทบาทของเหล่าหัวหน้าไม่ใช่แค่การออกคำสั่งอีกต่อไปแล้วเพราะบทบาทใหม่ที่กำลังมาแรงคือการเป็น “โค้ช” เพราะการโค้ชคือการดึงศักยภาพของสมาชิกในทีมแต่ละคนออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งบริษัท ลูกทีม และแม้แต่ตัวหัวหน้าเองในระยะยาว แล้วหัวหน้าจะทำหน้าที่เป็นโค้ชไปด้วยได้อย่างไร และต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้
แนวคิด Manager as Coach คืออะไร?
แนวคิด Manager as Coach คือแนวคิดที่หัวหน้าจะทำหน้าที่คล้ายกับโค้ช โดยกระตุ้นให้ทีมทำเป้าหมายของแต่ละโปรเจ็กต์ให้สำเร็จ มีส่วนร่วมในการพัฒนาทีม ช่วยแต่ละคนสร้างจุดแข็งและลดจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด และยังช่วยส่งเสริมให้ทีมทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจในการทำงาน
ประโยชน์ของการ Coaching
พนักงานอยู่กับบริษัทนานขึ้น
การโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของคนในทีมให้ออกมามากที่สุดเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณมองเห็นคุณค่าในตัวคนในทีม ทำให้พวกเขาเชื่อใจคุณและเคารพความคิดเห็นของคุณ ส่งผลให้พวกเขาอยากทำงานที่บริษัทนี้นานขึ้นเพราะพวกเขาสัมผัสได้ว่าคุณให้ความสำคัญกับการเติบโตทางหน้าที่การงานและความสำเร็จของพวกเขา
ทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับคนในทีมดีขึ้น
การ Coaching ทำให้คุณเข้าใจสมาชิกในทีมมากขึ้น คุณจะได้เรียนรู้ว่าเป้าหมายของแต่ละคนคืออะไร มีทักษะด้านไหน สนใจอะไรเป็นพิเศษ และเมื่อคุณรับฟังและช่วยให้คนในทีมพัฒนาตัวเอง พวกเขาก็จะรู้สึกไว้วางใจคุณมากขึ้น
Performance ของทีมดีขึ้น
เพราะเมื่อแต่ละคนในทีมพัฒนาตัวเอง ภาพรวมของทีมก็จะพัฒนาขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้การส่งเสริมให้คนในทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยังทำให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากกว่า
Manager จะพัฒนาตัวเองให้เป็น Coach ได้อย่างไรบ้าง?
หา Frame Work ที่เหมาะกับตัวเอง
Frame Work คือสิ่งที่ช่วยไกด์วิธีการพูดคุยกับสมาชิกในทีมเพื่อให้การสนทนามีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยตัวอย่าง Frame Work ที่ใช้กันทั่วไปคือ GROW และ AOR
Frame Work: GROW จะเหมาะกับการนัดคุยแบบ 1:1
- Goal: อันดับแรกต้องคิดก่อนว่าต้องการได้อะไรจากบทสนทนานี้ เช่น อยากให้พนักงานเรียนรู้อะไรหรือพัฒนาส่วนไหน
- Reality: รับฟังว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร แนวทางปัจจุบันที่ใช้อยู่ได้ผลไหม อะไรที่ดีอยู่แล้วและอะไรที่ควรปรับปรุง
- Option: หัวหน้าและลูกทีมพิจารณาทางเลือกที่มีร่วมกัน
- What's next: ขั้นตอนสุดท้ายคือการวางแผนว่าจะใช้วิธีการอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัจจุบันให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ส่วน Frame Work AOR จะเหมาะกับการใช้ประเมิน Performance ในการทำงานหรือการติดตามว่ามีการพัฒนาในส่วนไหนบ้าง
- Action: ทำอะไรไปบ้าง?
- Observation: ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร?
- Reflection: คิดว่ามีส่วนไหนที่ทำได้ดีและมีส่วนไหนที่ยังปรับปรุงได้?
ประเมินสมาชิกในทีม
หัวหน้าสามารถประเมินสมาชิกในทีมเพื่อปรับวิธีการโค้ชให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยสามารถแบ่งออกคร่าวๆ เป็น 4 ระดับ ดังนี้
- Novice คือ พนักงานใหม่ที่ต้องการคำแนะนำในเรื่องที่สมาชิกในทีมคนอื่นๆ มองว่าง่าย แต่พวกเขามักจะเต็มใจรับฟังและเรียนรู้
- Doer คือ พนักงานที่มักเข้าใจบทบาทหน้าที่และวิธีการทำงานอย่างกว้างๆ ถึง แต่อาจต้องการคำแนะนำเป็นครั้งคราวสำหรับงานที่ซับซ้อนมากขึ้น
- Performer คือ พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี มักจะทำงานได้เกินความคาดหมายของหัวหน้าไม่ค่อยทำงานพลาด และสามารถปรับปรุงตนเองได้แม้ได้รับคำแนะนำเพียงเล็กน้อย
- Master คือ พนักงานที่มีความรู้และประสบการณ์สูงในสายงานของตน และสามารถทำงานได้เร็วกว่าคนอื่นและทำงานที่ท้าทายมากกว่าคนอื่นได้ พนักงานเหล่านี้สามารถเป็นทั้งครูและโค้ชที่ยอดเยี่ยมและเป็นทรัพยากรที่มีค่าในทีม
ถามคำถาม
ถามคำถามปลายเปิด เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกในทีมให้คำตอบที่จริงใจและรอบคอบเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของตัวเองที่รวมถึงการบอกเล่าจุดแข็งและจุดอ่อน หัวหน้ายังสามารถใช้การสนทนาเหล่านี้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในทีมได้อีกด้วย
ตั้งใจฟัง
พยายามสนับสนุนให้สมาชิกในทีมให้ฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมาแล้วใช้ทักษะ Active Listening หรือการฟังโดยพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายพูดไปด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมความไว้วางใจให้เกิดขึ้นภายในทีมทำให้ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
ให้กำลังใจและ Empower สมาชิกในทีม
ส่งเสริมให้สมาชิกในทีมเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองและโอบรับโอกาสในการเติบโตที่เข้ามา สนับสนุนให้พวกเขาพัฒนาทักษะของตัวเองและให้โอกาสพวกเขาได้ลองตัดสินใจด้วยตัวเองเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเชื่อใจพวกเขา
สรุป
Coaching เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำและหัวหน้าเพราะนอกจากจะทำให้ผลงานในภาพรวมดูดีขึ้นแล้วการโค้ชยังช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับสมาชิกในทีมแน่นแฟ้นมากขึ้นอีกด้วย เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดจากการโค้ชคือความสัมพันธ์ที่เกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างก็ให้ความไว้วางใจและเคารพซึ่งกันและกัน
หากใครต้องการเรียนรู้แนวคิดการปลุกปั้น Leadership ในสไตล์เงินติดล้อเพื่อขับเคลื่อนองค์กร สามารถมาเข้าร่วม TIDLOR Culture Wow และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องค่านิยมกับพวกเราสิ! สนใจติดต่อ 02-792-1990 หรือกรอกข้อมูล
ที่นี่เพื่อรอการติดต่อกลับจาก Culture Gangster
ที่มา:
https://ca.indeed.com/career-advice/career-development/manager-as-coach https://www.zavvy.io/blog/manager-as-coach#strong%F0%9F%92%AA-5-step-system-to-help-your-managers-become-effective-coachesstrong