ลูกจ้างเช็กด่วน “กฎหมายแรงงาน” มีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องรู้

ลูกจ้างเช็กด่วน “กฎหมายแรงงาน” มีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องรู้
รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
หมายเหตุ ผ่อนมาแล้วเกินครึ่ง และไม่มีประวัติค้างชำระ ก็ขอสินเชื่อได้
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

นอกจากการติดตามเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำ การไปใช้สิทธิประกันสังคมในฐานะผู้ประกันตนในแต่ละปีแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้ เงินติดล้อถือโอกาสนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างจำเป็นต้องรู้มาฝากกันด้วย เผื่อวันใดวันหนึ่งถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบจะได้มีข้อมูลไปต่อสู้ มาเช็กสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานกันว่าให้หยุดได้กี่วัน ชั่วโมงการทำงานต่อวัน และเรื่องการลาออกตามกฎหมายแรงงาน ลาออกจากงานได้เงินอะไรบ้าง แล้วถ้าโดนไล่ออกนายจ้างต้องจ่ายเงินให้เราไหม หาคำตอบได้ในบทความนี้

ความสำคัญของกฎหมายแรงงาน ทำไมลูกจ้างจำเป็นต้องรู้?

กฎหมายแรงงานมีอะไรบ้าง

กฎหมายแรงงาน คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนายจ้างและลูกจ้าง มีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างใน 2 กรณี คือ คุ้มครองสุขภาพและอนามัยของลูกจ้าง และคุ้มครองรายได้ของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม แต่นายจ้างบางคนก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมบีบบังคับให้ลูกจ้างทำในสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่สนกฎหมาย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนายจ้างรู้ว่าลูกจ้างหลายคนไม่รู้เรื่องสิทธิ์ของลูกจ้างตามกฎหมาย เลยใช้ช่องโหว่ตรงนี้คอยเอาเปรียบอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ลูกจ้างจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของนายจ้าง มาดูกันว่า กฎหมายแรงงานมีอะไรบ้างที่ลูกจ้างจำเป็นต้องรู้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราตามกฎหมาย

เวลาทำงานของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน 

ลูกจ้างพักได้กี่นาทีต่อวันทำงาน ทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน ตามกฎหมายแรงงาน

นายจ้างบางคนก็เห็นแก่ได้จริงๆ มักให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลา และให้เวลาพักน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ คิดจะเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา หรืออาจใช้คำพูดหว่านล้อมเชิงให้เห็นใจกัน ไม่อยากโดนเอาเปรียบบ่อยๆ ต้องรู้ กฎหมายแรงงานให้เวลาทํางานของลูกจ้างวันละกี่ชั่วโมง และพักได้กี่ชั่วโมงต่อวัน ดังนี้

กฎหมายแรงงานกำหนดเวลาทำงานให้ไม่เกินกี่ชั่วโมง

กฎหมายแรงงานได้กำหนดเวลาทำงานไว้ตามประเภทของงานที่ลูกจ้างทำ ซึ่งแต่ละประเภทของงานก็จะมีระยะเวลาทำงานที่แตกต่างกันด้วย คือ

  • งานทั่วไป กฎหมายแรงงานกำหนดเวลาทำงานเอาไว้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เรื่องจะเริ่มงานเมื่อไหร่ หรือเลิกกี่โมง อยู่ที่นโยบายของบริษัทเลยว่ากำหนดไว้อย่างไร
  • งานอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง กฎหมายกำหนดเวลาทำงานไว้ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งงานที่จัดอยู่ในประเภทนี้ เช่น งานเชื่อมโลหะ งานเกี่ยวกับสารเคมี

กฎหมายแรงงานให้ลูกจ้างพักได้กี่ชั่วโมงต่อวัน

ถ้ามีการทำงานก็ต้องมีเวลาพัก เพราะลูกจ้างก็เป็นคนไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะทำงานได้ตลอดเวลา ซึ่งกฎหมายแรงงานได้กำหนดเวลาพักของลูกจ้างเอาไว้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และการพักครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือบางบริษัทอาจแบ่งเวลาพักให้เป็นช่วงๆ ใน 1 วันก็ได้

ในกรณีที่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาที่เกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไปต้องมีเวลาพัก ซึ่งเวลาพักนี้ควรเกิดขึ้นก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา และเวลาพักต้องไม่น้อยกว่า 20 นาที แปลว่าถ้าหมดเวลางานปกติแล้ว และให้เริ่มทำงานล่วงเวลาต่อเลย ถือว่านายจ้างกำลังเอาเปรียบคุณอยู่ ทั้งนี้ คุณอาจต่อรองกับทางนายจ้างเพื่อหาเวลาที่เหมาะสมได้

วันหยุดงานของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

กฎหมายแรงงาน วันหยุดประจำปี วันหยุดตามประเพณีไทย มีกี่วัน

ใน 1 สัปดาห์ของการทำงานต้องมีวันหยุดงานด้วย อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าลูกจ้างก็เป็นคน ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะสามารถทำงานได้ตลอดทั้งสัปดาห์ และในประเทศไทยเรามีวันสำคัญทางศาสนาที่เป็นวันหยุดมากมาย เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งวันเหล่านี้มักหยุดไม่ต้องทำงาน และเพื่อป้องกันการโดนเอาเปรียบมาดูกันว่า วันหยุดตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ให้ลูกจ้างเท่าไหร่บ้าง?

กฎหมายแรงงานกำหนดให้มีวันหยุดต่อสัปดาห์ต้องเป็นเท่าไหร่

ตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดต่อสัปดาห์เป็น 1 วัน โดยต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็มีหลายบริษัทที่เพิ่มวันหยุดให้ลูกจ้างมีวันหยุด 2 วันและทำงานเพียงแค่ 5 วันเท่านั้น ซึ่งในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างเหมือนเดิม ไม่มีสิทธิ์หักเงินออกเด็ดขาด!

วันหยุดตามประเพณีในปฏิทิน กฎหมายแรงงานกำหนดไว้กี่วัน

วันหยุดตามประเพณีคือสิ่งที่ลูกจ้างควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะได้พักผ่อนกายใจแบบเต็มที่ ซึ่งวันหยุดตามประเพณีตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ที่ 13 วันต่อปี ถ้าวันหยุดเหล่านี้ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ต้องชดเชยให้ อีกทั้งนายจ้างต้องจ่ายค่าแรงให้เหมือนเดิม ไม่มีสิทธิ์หักเงินออกในวันหยุด

ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจ ลาคลอด ได้กี่วันตามกฎหมายแรงงาน

ลูกจ้างลาคลอด ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อนได้กี่วันตามกฎหมายแรงงาน

นี่คือสิ่งที่ลูกจ้างทุกคนต้องรักษาสิทธิ์เอาไว้ มีสิทธิ์ในการใช้วันลาเท่าไหร่ก็ควรใช้ให้เต็มที่ ถ้าวันลาเหลือบางบริษัทก็จะไม่ชดเชยเป็นเงินให้ ดังนั้น เพื่อให้คุณไม่โดนเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง มาดูกันเลยว่า 1 ปีจะลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจ ลาคลอดได้กี่วันตามสิทธิ์ของลูกจ้างประเทศไทย

ใน 1 ปีลาพักร้อนได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

วันลาพักร้อนหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต้องมีไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี และในกรณีที่ลูกจ้างทำงานมามากกว่า 1 ปี บริษัทอาจเพิ่มวันลาพักร้อนให้มากกว่า 6 วันในปีถัดๆ ไป ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง แต่อยากให้คุณทวงถามด้วยว่า ในกรณีที่ใช้วันลาพักร้อนไม่ครบในปีนั้นๆ สามารถนำไปทบในปีถัดไปได้ไหม ถ้าทบไม่ได้จะเปลี่ยนเป็นเงินได้หรือเปล่า ถ้าทุกกรณีที่กล่าวมาไม่สามารถทำได้ แปลว่าลูกจ้างต้องใช้สิทธิ์วันลาพักร้อนให้เต็มจำนวนที่มี รักษาสิทธิ์ตัวเองกันด้วยนะครับ

ใน 1 ปีลาป่วยได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

วันลาป่วยตามกฎหมายแรงงานสามารถลาได้ตามวันที่ป่วยเลยครับ แต่ถ้าลาป่วย 3 วันขึ้นไปลูกจ้างต้องส่งใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลเพื่อเป็นหลักฐาน โดยบริษัทส่วนใหญ่มักจะกำหนดไว้ว่าวันลาป่วยของลูกจ้างสามารถทำได้ 30 วันต่อปี เพราะกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี แปลว่าลาป่วยได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเกิน 30 วันต่อปีบริษัทไม่จ่ายเงินก็ได้

ใน 1 ปีลากิจได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

การลากิจหรือการลาเพื่อทำธุระอันจำเป็น ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิ์ในการลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วัน และต้องได้รับค่าจ้างจากการทำงานตามปกติ โดยลากิจจะทำเรื่องลาไว้ล่วงหน้า หรือส่งใบลาย้อนหลังก็ย่อมได้

ใน 1 ปี ลาคลอดได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

ลูกจ้างสามารถลาคลอดได้ 98 วันตามสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน โดยวันลาจะนับรวมตั้งแต่วันฝากครรภ์​ วันตรวจครรภ์ วันคลอด และจะนับรวมวันหยุดอื่น ๆ ที่มีในระหว่างวันลาด้วย ซึ่งการลาคลอดนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างในจำนวนเงินเท่ากับอัตราล่าสุดที่จ่าย และจ่ายไม่เกิน 45 วัน

ใน 1 ปีลาทำหมันได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

ลาทำหมันเป็นสิทธิ์ที่ลูกจ้างสามารถทำได้ โดยระยะเวลาในการลาทำหมันขึ้นอยู่กับข้อกำหนด และการออกใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเหมือนเคย ไม่มีสิทธิ์หักเงิน และเป็นคนละส่วนกับลาป่วยด้วย

ใน 1 ปีลาไปรับราชการทหารได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเวลาประกาศรับสมัครงานหลายบริษัทมักจะเขียนเงื่อนไขไว้ว่า “รับคนที่ผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว”​ เพราะไม่อยากให้การทำงานขาดตอน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ลูกจ้างสามารถลางานได้เท่าที่ทางการทหารเรียกให้ไป โดยบริษัทจะจ่ายเงินค่าจ้างให้ในวันลาแต่ไม่เกิน 60 วันต่อปี

ใน 1 ปีลาไปบวชได้กี่วันตามสิทธิของลูกจ้าง

หากเป็นพนักงานบริษัทเอกชน จะไม่มีกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการลาบวช จำนวนวันลาจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท ถ้าบริษัทของคุณไม่มีสวัสดิการลาบวช อาจต้องใช้วันลาพักร้อน หรือลากิจแทน ส่วนข้าราชการสามารถลาบวชได้ 120 วัน แต่ต้องยื่นขอลาล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน และต้องรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน

ค่าชดเชยออกจากงาน การลาออกตามกฎหมายแรงงาน

โดนไล่ออก โดนบีบให้ออก ต้องได้เงินค่าชดเชย เงินค่าตกใจไหม

หลายครั้งที่นายจ้างมักใช้เล่ห์เหลี่ยมของตัวเองเพื่อหว่านล้อม หรือบังคับขู่เข็ญให้ลูกจ้างเซ็นใบลาออกด้วยตัวเอง โดยที่บางครั้งลูกจ้างไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ลูกจ้างจำเป็นต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน ว่าถ้าลาออกจากงานได้เงินอะไรบ้าง หรือในกรณีโดนไล่ออกจากงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยออกจากงานให้เราเท่าไหร่

ลาออกจากงาน จำเป็นต้องบอกล่วงหน้าไหม ขอเงินชดเชยประกันสังคมได้หรือเปล่า?

ตามกฎหมายแรงงานไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าการลาออกต้องบอกนายจ้างล่วงหน้าไหม ลูกจ้างสามารถลาออกได้เลยโดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า แต่คราวนี้ต้องมาดูกันว่าในสัญญาจ้างได้เขียนเงื่อนไขอะไรเอาไว้ไหม เช่น ถ้าจะลาออกต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนายจ้างก็จะได้เตรียมตัวหาคนมารับช่วงต่อจากงาน

การลาออกไม่ใช่แค่บอกปากเปล่า แต่ต้องเป็นการลาออกแบบมีลายลักษณ์อักษร และการลาออกโดยบอกล่วงหน้า 30 วัน ถือว่าเป็นการลาออกแบบรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพราะในอนาคตทั้งลูกจ้างและนายจ้างอาจจะได้ร่วมงานกันอีก ซึ่งการเขียนใบลาออกเอง ลูกจ้างจะยังคงได้เงินค่าจ้างในเดือนสุดท้ายที่ทำงานด้วย

และการลาออกแปลว่าลูกจ้างอาจจะขาดรายได้ แต่คุณยังมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยประกันสังคม โดยสามารถลงทะเบียนคนว่างงานได้เลย ซึ่งในกรณีที่ลาออกจากงานด้วยตัวเอง ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้ 45% ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วันครับ แล้วที่สำคัญต้องส่งเงินประกันสังคมมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนด้วย

โดนนายจ้างไล่ออก บีบให้ออกด้วยการบังคับแบบไม่เต็มใจ ทำยังไงได้บ้าง

เรื่องนี้มีหลายคนโดนกันมาแล้ว ที่นายจ้างอยากไล่ลูกจ้างออกแต่ไม่อยากใช้วิธีไล่ออก เลยใช้วิธีบีบบังคับให้ลูกจ้างเซ็นใบลาออกเองเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ในกรณีนี้ลูกจ้างไม่ต้องเซ็นใบลาออกก็ได้ มีสิทธิ์ปฏิเสธทุกกรณีที่โดนบังคับ หรือข่มขู่ให้เซ็นใบลาออก ดังนั้น ถ้าโดนไล่ออกจากงานฟ้องได้ไหม? กรณีถูกบีบบังคับให้เซ็นใบลาออกแบบนี้ สามารถส่งเรื่องไปยังกรมแรงงานเพื่อฟ้องร้องได้เลยครับ

และในกรณีที่ถูกเลิกจ้างและลูกจ้างเต็มใจที่จะโดนเลิกจ้าง ทางนายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง 2 ประเภท คือเงินชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง กับค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ)​ โดยเงินค่าชดเชยเหล่านี้จะถูกจ่ายตามอายุงานของลูกจ้างที่ได้ทำงานกับบริษัทนี้มา โดยสามารถแจกแจงได้ คือ

  • ลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชย 30 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชย 90 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชย 180 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชย 240 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชย 300 วัน
  • ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินค่าชดเชย 400 วัน

ซึ่งเงินค่าชดเชยและเงินค่าตกใจที่ลูกจ้างจะได้รับจะเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายก่อนจะโดนเลิกจ้าง โดยเงินค่าตกใจหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจะจ่าย 1 งวดเท่านั้น

นอกจากนี้ หลังจากที่ลูกจ้างโดนนายจ้างเลิกจ้างแล้ว สามารถขึ้นทะเบียนคนว่างงานได้เลยที่ประกันสังคม โดยประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้ 70% ในระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

สรุป สิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

และนี่คือสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานที่จำเป็นต้องรู้เอาไว้ เพื่อต่อสู้กับพวกนายจ้างสุดเล่ห์เหลี่ยมที่จ้องจะเอาเปรียบลูกจ้างเมื่อมีโอกาส ถ้าสังเกตให้ดีเรื่องราวระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะมีเรื่อง “เงิน” เพราะว่าโลกทุกวันนี้หมุนไปได้ด้วยเงินทั้งนั้น นายจ้างก็มักจะเอาเปรียบเรื่องเงินๆ ทองๆ จากลูกจ้างอยู่เสมอ ดังนั้น การรู้กฎหมายแรงงานเอาไว้เลยเป็นประโยชน์มากๆ แม้เงินทองเป็นของนอกกายก็จริง แต่ในเศรษฐกิจอย่างนี้ลูกจ้างมีสิทธิ์ในด้านกฎหมายอะไรก็ควรรักษาเอาไว้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินค่าจ้าง เงินชดเชย และเงินค่าตกใจ เพราะถ้าเงินไม่พอใช้จริงๆ ก็สามารถไปขอกู้สินเชื่อทะเบียนรถยนต์เองในอนาคตก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : lb.mol.go.th, dharmniti, legal.labour.go.th, itax
รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
หมายเหตุ ผ่อนมาแล้วเกินครึ่ง และไม่มีประวัติค้างชำระ ก็ขอสินเชื่อได้
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น