สถานการณ์โควิด-19 ได้สร้างความเสียหายมหาศาล หลายคนรายได้หดหาย ห้างสรรพสินค้าที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนกลับลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง ทำให้นอกจากเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเงินไปด้วย สำหรับใครที่กำลังตั้งหลักและพยายามประคับประคองตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ คงต้องเริ่มวางแผนทางด้านการเงินกันเสียก่อน เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับอนาคต โดยลองเริ่มต้นจากการเช็กสุขภาพทางการเงินของตัวเองว่ายังสตรองอยู่หรือเปล่า จะได้วางแผนได้อย่างถูกต้อง
3 วิธีเช็กสุขภาพทางการเงินแบบง่ายๆ
ไม่ใช่แค่สุขภาพกายและใจเท่านั้นที่เราต้องหมั่นตรวจสอบตลอดเวลา แต่สุขภาพทางการเงินก็เช่นกัน เงินติดล้อขอแนะนำวิธีการตรวจสอบสุขภาพการเงินง่ายๆ 3 วิธี โดยอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย มาฝากกัน
การประเมินความมั่งคั่งสุทธิ
วิธีแรก เป็นการประเมินสุขภาพทางการเงินจากความมั่งคั่งสุทธิ โดยเปรียบเทียบระหว่างความมั่งคั่งสุทธิที่เรามีกับความมั่งคั่งสุทธิที่เราควรมี โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้
ความมั่งคั่งสุทธิที่เรามี = สินทรัพย์ทั้งหมด - หนี้สินทั้งหมดที่เรามี
ความมั่งคั่งสุทธิที่เราควรมี = อายุ x รายได้ต่อปี x10%
โดยสินทรัพย์ทั้งหมด จะนับรวมถึงเงินสด เงินฝากออมทรัพย์ สินทรัพย์เพื่อการลงทุน บ้าน รถยนต์ สร้อยคอทองคำ เครื่องประดับของมีค่า ส่วนหนี้สินนับทั้งหนี้สินระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี และหนี้สินระยะยาว อย่างเช่น บ้าน รถยนต์
ยิ่งความมั่งคั่งสุทธิที่เราควรมี มากกว่าความมั่งคั่งที่เรามีมากเท่าไร แสดงว่าเรามีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอมากเท่านั้น เราต้องหาทางเพิ่มรายได้และลดหนี้สินและรายจ่ายลงไป
การประเมินภาระหนี้สินต่อเดือน
วิธีการนี้เป็นการประเมินในระยะสั้น เหมาะสำหรับการดูว่าเรามีศักยภาพที่จะชำระหนี้เท่าไร จึงจะไม่เป็นภาระมากจนกระทบสุขภาพทางการเงิน เป็นการนำรายได้ทั้งหมดของเรามารวมกัน แล้วหาร 3 จากนั้นก็ให้รวมภาระหนี้สินของเราในแต่ละเดือน จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกัน ยิ่งภาระหนี้สินของเราน้อยกว่าเท่าไร แสดงว่าเรามีสุขภาพทางการเงินดีมากขึ้นเท่านั้น
รายได้ทั้งหมดของแต่เดือน ÷ 3 ≥ หนี้สินหรือจำนวนเงินผ่อนในแต่ละเดือน
ตัวอย่างเช่น เรามีรายได้ 15,000 บาท แสดงว่าในแต่ละเดือนเราไม่ควรจะมีหนี้มากกว่า 5,000 บาทต่อเดือน หากว่าเราผ่อนรถเดือนละ 7,000 บาท นั่นแสดงว่าเราขาดความมั่นคงทางการเงิน เพราะเงินที่เหลือนอกจากจะนำไปใช้จ่ายแล้ว เรายังต้องเก็บเอาไว้เป็นเงินออมและนำไปลงทุน เพื่อให้งอกเงย
การประเมินเงินออมฉุกเฉิน
เงินออมฉุกเฉิน คือ เงินที่เราเก็บเอาไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่เราไม่คาดคิด เช่น การตกงานกะทันหัน อุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย ยิ่งเรามีเงินตรงนี้มากเท่าไรจะช่วยให้เรามีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไปจะแนะนำให้มีเงินออมฉุกเฉินมากกว่ารายได้ปัจจุบัน 6 เท่าขึ้นไป หรือบางคนอาจจะสำรองไว้ 12 เดือน หรือ 1 ปีเลยทีเดียว หากว่าเรามีเงินออมฉุกเฉินมากกว่า 6 เท่า แสดงว่าสุขภาพทางการเงินของเราอยู่ในเกณฑ์ดี
อย่างไรก็ตาม เราต้องตระหนักไว้ว่า เงินออมฉุกเฉินเป็นเงินที่เราเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ไม่ใช่สินทรัพย์ หรือเงินสำหรับการลงทุนแต่อย่างใด
5 ขั้นตอนฟื้นฟูสุขภาพทางการเงินให้กลับมาแข็งแรง
สำหรับใครที่เช็กสุขภาพทางการเงินแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคั่งสุทธิ หนี้สิน เงินออมฉุกเฉิน แล้วพบว่าอ่อนแอไปเสียหมด เงินติดล้อมี 5 ขั้นตอน ในการฟื้นฟูสุขภาพการเงินที่ได้ผลจริงจากกองทุนการออมแห่งชาติ เพียงแค่เรามีวินัยและความตั้งใจจริง
ควบคุมค่าใช้จ่าย
ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่หรือเปล่า หรือว่าใช้ไปในแต่ละวันโดยที่ไม่กำหนดหรือบันทึกไว้ หากเป็นอย่างหลัง ให้ตั้งต้นใหม่และทำบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่กำหนดงบประมาณในการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
การไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเองและครอบครัว ทำให้เราไม่รู้ว่ามีรูรั่วทางการเงินอยู่ตรงไหน แต่ในทางกลับกันหากว่าเราทำบัญชีรายรับรายจ่ายและสรุปค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวด จะทำให้รู้ว่าตรงไหนที่เราควรประหยัด หรือเป็นรูรั่วทางการเงินของเรา บางคนอาจจะแปลกใจว่าเราหมดเงินไปกับค่าขนมขบเคี้ยวจำนวนมาก บางคนหมดเงินไปกับของจุกจิกที่ซื้อมาก็หายไป การทำบัญชีการเงินจึงช่วยให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยปรับงบประมาณการใช้เงินในแต่ละหมวดอย่างเหมาะสม และเตือนสติไม่ให้เราใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
จัดการหนี้สิน
ไม่ว่าจะมีหนี้สินมากหรือน้อยควรจัดการให้หมดโดยไว โดยเฉพาะภาระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง โดยพยายามชำระหนี้สูงกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดไว้ เพื่อลดต้นลดดอก และลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด หรือพยายามรวมหนี้เป็นก้อนเดียวแล้วหาสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดอัตราการผ่อนชำระ
เพิ่มพูนรายได้ หาช่องทางทำกิน
เราไม่ควรเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะหากวันหนึ่งตะกร้าหล่น ไข่จะแตกหมด รายได้ก็เช่นกัน เราควรจะมีรายได้จากหลายทาง เช่น จากเงินเดือน จากการค้าขาย จากการลงทุน อาจจะเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ช่วยให้เรามีเงินเพิ่มขึ้น ในระยะแรกอาจจะเป็นการนำรายได้นี้ไปชำระหนี้สิน แต่วันหนึ่งรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้นมาจะกลายเป็นเงินเก็บและเงินลงทุนในอนาคตได้อย่างแน่นอน
ลงทุนเพิ่มเติม ให้เงินต่อเงิน
แบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุน เล่นหุ้น ซื้อพันธบัตร แล้วแต่ว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน การสร้าง Passive Income เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ โดยให้เงินทำงาน แทนที่เราจะต้องหารายได้เพียงลำพัง แต่ข้อเตือนใจของการลงทุนคือการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง เราควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการลงทุน
วางแผนเกษียณ
แม้ว่าเราจะเป็น Workaholic หรือชอบทำงานแค่ไหน แต่ถึงช่วงอายุหนึ่ง ร่างกายของเราก็ต้องการการพักผ่อน และไม่สามารถหาเงินได้มากเท่าเดิม เราจึงควรวางแผนเกษียณไว้อย่างมั่นคง แบบง่ายๆ คือ เราคิดว่าจะหยุดทำงานตอนอายุเท่าไร มีชีวิตอยู่ถึงอายุเท่าไร และในแต่ละเดือนเราจะใช้เงินเท่าไร ให้ลองคำนวณ โดยบวกค่ารักษาพยาบาลและรายจ่ายอื่นๆ ไปด้วย แม้จะเป็นจำนวนเงินที่เยอะ แต่เราก็เป็นจุดหมายที่เราจะต้องไปถึงให้ได้
นี่คือวิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบสุขภาพทางการเงิน และวิธีฟื้นฟูสุขภาพทางการเงินแบบง่ายๆ แต่ต้องอาศัยวินัยในการปฏิบัติ สำหรับท่านที่กำลังมีปัญหาทางการเงิน ต้องการเงินด่วน สินเชื่อเงินติดล้อ ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติง่าย ได้เงินเร็ว ยินดีให้คำปรึกษาเพื่อให้คุณผ่านพ้นวิกฤตทางการเงิน และกลับมาสตรองอีกครั้งในเร็ววัน
สนใจหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม