หน้าแรก บทความ การเงินน่ารู้ ออมเงิน วางแผนการเงินเพื่อต่อยอดชีวิตให้ดีขึ้น

วางแผนการเงินเพื่อต่อยอดชีวิตให้ดีขึ้น

วางแผนการเงินเพื่อต่อยอดชีวิตให้ดีขึ้น

การวางแผนการเงินนั้นไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกฐานะ เพราะการวางแผนการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่หลายๆ คนพึ่งกระทำ หากต้องการต่อยอดสิ่งที่ตนเองมีอยู่ก็จำเป็นจะต้องมีแผนการเสมอ แผนการที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การลงบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน แต่เป็นการมองต่อไปเบื้องหน้าว่าจำนวนเงินที่ตนได้มานั้นสามารถใช้อย่างคุ้มค่าได้อย่างไร

นอกเหนือจากการวางแผนเพื่อ “เก็บ” แล้ว การวางแผนการเงินที่ดียังสามารถ “ต่อยอด” เงินหรือสินทรัพย์ที่ได้มาให้งอกเงยมีมูลค่าได้มากขึ้นอีกด้วย

การวางแผนการเงินคือการวางแผนอนาคต

ไม่มีใครสามารถมองเห็นอนาคตได้ ทว่าทุกคนสามารถวางแผนรับมืออนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุการณ์สำคัญแทบทุกอย่างในชีวิตล้วนต้องมีการใช้เงิน เช่น

  • ซื้อบ้าน ซื้อรถ
  • แต่งงาน มีลูก
  • ค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วย
  • ค่าใช้จ่ายในการต่อยอดธุรกิจของตนเอง

ซึ่งรวมๆ แล้วอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่มากถึงหลักล้าน จนก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของจำนวนเงินที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือแม้ว่าจะพอกับความต้องการ ณ ขณะนั้น แต่ก็อาจจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินนั้นมีปัญหาได้ในอนาคตจนต้องทำการกู้หนี้ยืมสินไปเรื่อยๆ

ทุกคนจึงควรเริ่มวางแผนการเงินโดยการกำหนดหลักปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้

  1. รายรับ-รายจ่าย
  2. หนี้สินปัจจุบัน
  3. เงินเก็บที่มี
  4. การลงทุนที่สามารถทำได้
การวางแผนการเงิน

เมื่อกำหนดได้ดังนี้แล้ว ก็ทำการตั้งเป้าหมายเลยว่า ถ้ามีหนี้สินจะต้องทำให้หนี้สินก้อนนี้หมดให้ได้ภายในกี่ปี ด้วยวิธีใดบ้างจากรายรับรายจ่ายปัจจุบัน จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในวันใดบ้าง และเพื่อนำไปใช้ทำอะไร เช่น ค่าเทอมลูก ค่าประกันต่างๆ เป็นต้น บันทึกไว้ล่วงหน้าเพื่อตั้งเป้าเก็บเงินอย่างประสิทธิภาพ หรือการหาแนวทางการลงทุนเพื่อเพิ่มรายรับ

ซึ่งการติดตามการใช้จ่ายของตนเองและการวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการทำรายรับรายจ่าย

โดยวิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัยคือการทำรายรับรายจ่าย

วางแผนการเงินเริ่มได้ด้วยการทำรายรับรายจ่าย

การวางแผนไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็หนีไม่พ้นการทำรายรับรายจ่าย ที่เป็นวิธีการติดตามการใช้เงินที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

ในรายรับรายจ่ายจะถูกระบุไว้หมดว่ามีรายรับต่อวันเท่าไหร่ จ่ายไปเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลอะไร ทุกคนจะเห็นได้เลยว่าการใช้จ่ายของตนนั้นมีปัญหา หรือการใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็นขนาดไหน

ซึ่งถ้าทุกค่าใช้จ่ายที่เราใช้นั้นล้วนจำเป็น ก็ควรจะมีการหารายได้เสริมทางใดทางหนึ่งเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้ตนมีเงินเหลือเก็บ ที่สามารถต่อยอดชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้ในวันข้างหน้า

สิ่งที่สำคัญเลยที่สุด คือ จงซื่อสัตย์กับบัญชีรายรับรายจ่ายนี้ ไม่มีการหมกเม็ดกับข้อมูล เพราะดังที่บอกว่าเม็ดเงินน้อยก็ต่อยอดเป็นก้อนใหญ่ได้ การที่ผู้ทำบัญชีโกหกเรื่องการใช้จ่ายแล้วนำเงินส่วนหนึ่งไปจะส่งผลเสียระยะยาวในอนาคต

หลักการ 3 ข้อสำหรับการวางแผนการเงิน

การวางแผนการเงินไม่มีความตายตัว ทุกอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเงินของแต่ละคน ว่าในแต่ละวันและแต่ละเดือนจะได้เงินมามากน้อยเพียงใด ต้องใช้จ่ายเงินเท่าไหร่

แม้การวางแผนการเงินจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนผันแปรไปตามบุคคล แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็ต้องมีหลักการใหญ่อยู่สามข้อที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเงิน ซึ่งหลักการสำคัญทั้งสามประการนั้นมีดังต่อไปนี้

  1. เก็บก่อนใช้

    ได้มาเท่าไหร่ ใช้ไปหมด เป็นประเด็นแรกที่หลายท่านอาจได้ประสบพบเจอกับตนเอง ค่าแรงที่ได้มาแต่ละวันถูกใช้จ่ายออกไปทันทีที่ได้รับ

    แน่นอนว่าโอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากัน และยิ่งมีโอกาสไม่เท่ากันยิ่งต้องเก็บก่อนแล้วสังเกตว่าในการใช้จ่ายแต่ละครั้งมีสิ่งใดได้บ้างที่สามารถ “ลด” หรือ “ตัด” ออกไปได้ เช่น ค่าน้ำหวาน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ หรือค่าบุหรี่ เป็นต้น

    เงินหลักสิบต่อวันรวมตัวกันต่อเดือนก็กลายเป็นหลักร้อยได้ หลักร้อยรวมกันนานๆ ก็กลายเป็นหลักพันได้ แม้ว่าอยากหาความสุขหรือเสี่ยงโชคซักเล็กน้อย ก็ลองไตร่ตรองดูซักหน่อยก่อนใช้เงินจะดีกว่า

    เก็บก่อนใช้
  2. ตรงไปตรงมากับตัวเอง

    ความซื่อตรงกับการวางแผนการเงินจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สามารถประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากที่จะต้องซื่อตรงในแง่การลงบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว ยังต้องซื่อตรงกับทัศนติการใช้เงินของตัวเองด้วย

    ซื่อตรงกับทัศนคติการใช้เงินเป็นอย่างไร?

    เมื่อเรามีความอยากซื้อของหรืออยากใช้จ่ายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น โทรศัพท์ใหม่ ควรจะมีการให้เหตุผลกับตัวเองก่อนว่า ต้องการจะซื้อโทรศัพท์รุ่นนี้เพราะอะไร มีความจำเป็นขนาดไหน ซื้อรุ่นถูกกว่านี้ได้หรือไม่ แบ่งความจำเป็น และ ความอยาก ออกจากกัน

    เมื่อแบ่งสองสิ่งนี้ได้แล้ว ก็ควรเลือกใช้เงินกับความจำเป็นเป็นหลัก โดยเก็บสิ่งที่เป็นความอยากไว้ภายหลัง เมื่อมีเงินสำรอง หรือมีความพร้อมทางการเงินเพียงพอแล้วค่อยใช้จ่ายในสิ่งที่ตนต้องการดีกว่า

  3. การลงทุนคือที่สุด

    ถ้าจะกล่าวถึงต่อยอดการเงินอย่างไรให้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่าการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์อย่างเดียว หรือการลงทั้งทุน ลงทั้งแรงด้วย

    โดยก่อนจะลงทุนก็ควรมีการศึกษารายละเอียดผลกระทบจากการลงทุนก่อน แล้วสำรวจตนเองว่าสามารถรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้มากเพียงใด เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันจะได้ไม่เดือดร้อนมากนัก ซึ่งการลงทุนที่ดีที่สุดจะอยู่ในช่วง 20%-30% ของรายได้ ที่จะไม่เยอะหรือน้อยเกินไป

    การลงทุนหลักๆ ที่ทุกคนสามารถจับต้องได้คือ

    • การฝากเงินในรูปแบบการฝากประจำ ที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ
    • การลงทุนในกองทุนรวม ที่ฝากฝังให้มืออาชีพลงทุนในธุรกิจต่างๆ
    • การหารายได้เสริมด้วยการลงทุนซื้อขายของ
    • การลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวอื่นๆ ที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่

    หากเรามีการศึกษารายละเอียด ความเสี่ยง และมีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็อย่าลืมมองล่วงหน้าไปถึงอนาคต อย่าลืมว่าการวางแผนการเงินคือการมองล่วงหน้าไปอีกระดับหนึ่งเป็นหลัก จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น

และถ้าอยากทราบเรื่องการวางแผนการเงินการลงทุน รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์เงินติดล้อ ได้เลยครับผม หรือสอบถามพวกเราได้ที่เงินติดล้อ ทุกสาขาทั่วประเทศ พวกเรายินดีให้บริการครับ

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น