หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เผยวิธีการสร้างความเติบโตไปด้วยกันกับพันธมิตรของประกันติดล้อ

เผยวิธีการสร้างความเติบโตไปด้วยกันกับพันธมิตรของประกันติดล้อ

23 มิถุนายน 2566
เผยวิธีการสร้างความเติบโตไปด้วยกันกับพันธมิตรของประกันติดล้อ

เพราะแนวคิด ‘เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม’ คือหนึ่งในแกนหลักของการสร้างธุรกิจ ‘ประกันติดล้อ’ มาตั้งแต่เริ่มต้น ประกันติดล้อ จึงให้ความสำคัญกับการมี ‘พันธมิตร’ ที่มี ‘เจตนา’ เดียวกัน นั่นคือการสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงประกันที่เหมาะสมได้อย่างทั่วถึงด้วยการดำเนินธุรกิจที่มีธรมาภิบาลและจรรยาบรรณ
จากวันนั้นถึงวันนี้ บนเส้นทางร่วมสร้างความเติบโตของประกันติดล้อและบริษัทประกันภัยพันธมิตรจึงมีบทเรียนดีๆ ให้เรียนรู้ร่วมกันมากมาย และนี่คือวิธี ‘สร้างความเติบโตไปด้วยกันกับ ‘พันธมิตร’ แบบ ‘ประกันติดล้อ’

‘คุณเปิ้ล’ อาฑิตยา พูนวัตถุ  ผู้บริหารระดับสูงด้านนายหน้าประกัน ได้พูดถึงความรู้สึกขอบคุณต่อบริษัทประกันภัยที่ก้าวเข้ามาเป็น พันธมิตร บนเส้นทางร่วมสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ประกันติดล้อเริ่มสร้างธุรกิจประกันอย่างจริงจัง ที่กล่าวไว้ในหนังสือ I’M POSSIBLE ของเงินติดล้อว่า

“ปี 2559 ที่เราเริ่มทำธุรกิจประกันอย่างจริงจัง ทั้งปีนั้นเราใช้เวลาเรียนรู้กับบริษัทประกันเพื่อเข้าใจปัจจัยในการกำหนดพิกัดเบี้ยประกัน ข้อมูลที่ Underwriter ใช้พิจารณา ต้องขอบคุณบริษัทประกันที่อดทนและให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบไปพร้อมๆ กับเรา”

ขณะที่บริษัทประกันภัยซึ่งเข้ามาเป็นคู่ค้ากับประกันติดล้อในเวลานั้น หลายบริษัทได้เล่าถึงความประทับใจและบทเรียนดีๆ ที่ได้รับจากการร่วมทำงานกับทีมประกันติดล้อไว้หลากหลายมุมมอง

 

ยึดมั่นในธรรมาภิบาล เน้นผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ควบคู่กับดูแลคู่ค้า

คุณจักรกริช ชีวนันทพรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

วิสัยทัศน์ของประกันติดล้อเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการดูแลคู่ค้า การไม่เอาเปรียบลูกค้า แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้บริหารตั้งแต่ระดับบนลงมาจนถึงคนทำงานหน้างานสามารถทำได้ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่วางไว้ และทำให้ทั้งลูกค้าและคู่ค้าสัมผัสรับรู้ได้จริงๆ”

คุณจักรกริชยังเล่าว่าประกันติดล้อแตกต่างไปจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมาตั้งแต่แรกที่เริ่มเป็นคู่ค้ากัน

เวลา BKI ไปคุยกับคู่ค้าส่วนใหญ่ คำถามแรกที่จะได้รับคือเราจะให้ผลตอบแทนเขาเท่าไหร่และมีผลประโยชน์อะไรให้เขาบ้าง แต่ประกันติดล้อไม่เคยมีคำถามพวกนี้เลย มีแต่ถามว่าเรามีเบี้ยอะไร มีเซอร์วิสอะไรที่จะให้กับลูกค้าของประกันติดล้อได้บ้าง แล้วยังมีนโยบายห้ามรับผลตอบแทนพิเศษคือถึงจะให้ก็ไม่รับ”

ส่วนความใส่ใจในคู่ค้าเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันนั้น คุณจักรกริชเล่าว่า

ประกันติดล้อดูแลคู่ค้า โดยไม่ได้เน้นว่าต้องเป็นคู่ค้าที่ให้ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนสูงสุดแล้วถึงจะส่งงานให้ BKI ที่ผ่านมาเราก็ดีลกับโบรกเกอร์มาเยอะต้องบอกว่าไม่มีกี่บริษัทที่จะมีแนวคิดแบบประกันติดล้อ วันนี้แม้ว่าประกันติดล้อเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงไม่ได้มองผลประโยชน์ของธุรกิจมากไปกว่าผลประโยชน์ของลูกค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เห็นถึงปรัชญาและเจตนาดีในการทำธุรกิจของประกันติดล้อมาตลอด ช่วงแรกๆ BKI กับประกันติดล้อก็ค่อยๆ โตมาด้วยกัน แต่เมื่อเบี้ยของประกันติดล้อเริ่มขยับจาก 9-10 ล้านบาทมาเป็น 30 ล้านบาท คือมีงานเข้ามาเยอะมากจน BKI ต้องปรับเปลี่ยนภายในกันเพื่อรองรับงานของประกันติดล้อ พอสิ้นปีประกันติดล้อก็ให้เราเข้าไปฟังสรุปว่ายอดเบี้ยต่างๆ เป็นอย่างไรและมีแผนต่อไปอย่างไรบ้าง ซึ่งตามปกติจะไม่มีบริษัทที่ใส่ใจพาร์ทเนอร์แบบนี้ คือที่อื่นอาจจะยึดบริษัทตัวเองเป็นหลัก แต่ประกันติดล้อจะพยายามปรับจูนเข้าหาพาร์ทเนอร์ด้วย และประกันติดล้อยังมีแนวคิดในการแชร์ข้อมูลกับคู่ค้าเพื่อจะเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งในเวลานั้นก็ต้องบอกว่าน้อยมากอีกเหมือนกันที่จะมีธุรกิจซึ่งคิดแบบนี้”

 

ใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

ส่วนคุณกญกุชญ์ ไกรสิทธิ์ ที่เคยดำรงตำแหน่ง Manager Finance & Leasing บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในปี 2563 ได้เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อประกันติดล้อว่า

สิ่งที่เป็นความประทับใจของ TIC ในการเป็นพาร์ทเนอร์กับประกันติดล้อมีมากมาย ตั้งแต่เริ่มเป็นพันธมิตรกันในช่วงที่เงินติดล้อยังมีสาขาประมาณ 300-400 สาขา จนตอนนี้มีเป็นพันกว่าสาขาแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะประกันติดล้อไม่ได้เติบโตอยู่ฝ่ายเดียว แต่ยังกระตุ้นให้บริษัทประกันภัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ได้เติบโตและพัฒนาไปด้วย อย่างในช่วงแรกๆ ที่ประกันติดล้อพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ตอนนั้นก็เป็นโอกาสให้ TIC ได้พัฒนาองค์กรขึ้นมาแบบก้าวกระโดด เพราะถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ ระบบของ TIC ทุกอย่างคือต้องพึ่งพาคนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นการคีย์ข้อมูล การส่งต่องาน ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น แต่พอประกันติดล้อเปลี่ยน ก็ทำให้เราคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนเหมือนกัน เพื่อจูนกับระบบของประกันติดล้อให้ได้ และทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของประกันติดล้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วให้ได้ รวมถึงทำให้ลูกค้าได้รับกรมธรรม์เร็วขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายที่ประกันติดล้อและเราวางร่วมกัน พอเราได้ทำสำเร็จก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากสำหรับ TIC เพราะการเปลี่ยนจากระบบใช้คนคีย์ข้อมูลมาเป็นใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการระบบ ทำให้ความผิดพลาดแทบจะไม่มี ต้องบอกเลยว่า ประกันติดล้อเป็นพันธมิตรที่ส่งเสริมให้เราต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และเป็นพันธมิตรที่ทำงานด้วยแล้วมีความสุข”

 

Resilience…พร้อมเปลี่ยนแปลงและพัฒนา

ส่วนคุณรณิสร พวงวรินทร์ ที่เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงไทยพาณิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในปี 2563 ก็ได้เล่าถึงความประทับใจจากการได้เห็นแนวคิดในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน และการมีแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงานของประกันติดล้อมาตลอดว่า

การทำงานในรูปแบบของประกันติดล้อเป็นสิ่งที่เรียกว่า Resilience ได้จริงๆ ความจริงคำนี้เป็นศัพท์ทาง กลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่นำมาใช้กันเมื่อไม่นาน แต่ผมคิดว่าคำนี้สามารถใช้กับประกันติดล้อตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนได้เลย เพราะทีมประกันติดล้อยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจริงๆ ขณะที่ผู้บริหารก็เปิดโอกาสให้พนักงานได้ Upskill และ Reskill อยู่ตลอดเช่นกัน ตอนที่ประกันติดล้อย้ายสำนักงานใหญ่มาที่อาคารอารีย์ ฮิลล์ และผมมีโอกาสมาร่วมงาน Open House และได้รู้วัฒนธรรมองค์กรของประกันติดล้อ ก็ยิ่งเซอร์ไพร์สมากขึ้นไปอีก เพราะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากว่าประกันติดล้อทำงานด้วยนวัตกรรมใหม่อย่างชัดเจน ทำให้เมื่อกลับมาผมต้องรีบเรียกประชุมทีมทั้งหมด เพราะกังวลว่าถ้า KPI ไม่ปรับตัวเราจะตามประกันติดล้อไม่ทัน ซึ่งหลักๆ ก็เป็นเรื่องการวางแผนพัฒนาระบบไอที เพื่อเชื่อมต่อส่งงานกับประกันติดล้อ ปรับรูปแบบการทำงานมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อความรวดเร็วและลดความผิดพลาดของการทำงานแบบเดิมๆ คือ KPI เองก็ต้องปรับตัวให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เผลอหลับงีบเดียวนี่ไม่ได้เลยนะครับ เพราะประกันติดล้อจะเดินนำหน้าไปแล้ว ถ้าเทียบเป็นเรื่องกระต่ายกับเต่าที่เราคุ้นเคย ก็ต้องบอกว่าเต่าชนะกระต่ายได้ เพราะเต่าไม่เคยหยุดเดินเลย ส่วนกระต่ายก็ขยันแต่ขยันแล้วหยุด ฉะนั้น KPI ต้องเป็นเต่าปนกระต่าย คือขยันและไม่หยุดเพื่อตามให้ทันประกันติดล้อซึ่งพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้การร่วมธุรกิจกับประกันติดล้อตื่นเต้นและเต็มไปด้วยความท้าทายอยู่ตลอดเวลาจริงๆ ”

การเปิดใจของ ‘พันธมิตร’ ถึง ‘ประกันติดล้อ’ จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องยืนยันถึง ‘เจตนาดี’ และ ‘ธรรมาภิบาล’ ที่ประกันติดล้อยึดมั่นมาตลอด เพราะยังสะท้อนให้เห็นถึงโอกาส และความเป็นไปได้อีกมากที่ประกันติดล้อและพันธมิตรจะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และนั่นย่อมหมายถึง ผลประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่ความสะดวกสบายในการเข้าถึงประกันที่เหมาะสม และการมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงประกันภัยของลูกค้า

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น