หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เปิดจุดแข็งและทิศทางการเติบโตต่อของ “เงินติดล้อ”

เปิดจุดแข็งและทิศทางการเติบโตต่อของ “เงินติดล้อ”

20 พฤษภาคม 2564
เปิดจุดแข็งและทิศทางการเติบโตต่อของ “เงินติดล้อ”

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ “เงินติดล้อ” สามารถทรานส์ฟอร์มองค์กร พลิกเปลี่ยนจาก “ไฟแนนซ์ห้องแถว” มาถึงวันที่ก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชน เป็นเบอร์ 1 ในใจลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินเชื่อทะเบียนรถ และยังประสบความสำเร็จจากการขยายธุรกิจไปสู่ประกันภัยในเวลาอันรวดเร็ว

แน่นอนว่า เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ “จุดแข็ง” ที่ทำให้เราแตกต่างจากไฟแนนซ์ท้องถิ่นทั่วไป

ความสำเร็จ…ที่มาจากความเข้าใจ “ช่องว่าง” ของโครงสร้างทางสังคม

ในวันที่นักลงทุนมากมายให้ความสนใจกับ “หุ้น TIDLOR” ตั้งแต่วันแรกของการเปิดจองหุ้น IPO (Initial Public Offering) หรือหุ้นที่มีการซื้อขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ก็อาจมีคนอีกมากเช่นกันที่ไม่รู้ว่า “หุ้น TIDLOR” เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมตรงไหน อย่างไร

ก่อนอื่นอาจต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่าทำไม “เงิน” ต้อง “ติดล้อ” คุณหนุ่ม - ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก้าวเข้ามาทำงานที่ “เงินติดล้อ” ตั้งแต่ยังเป็น “ไฟแนนซ์ห้องแถว” ในจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย Passion ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสินเชื่อทะเบียนรถ ที่ในเวลานั้นยังเป็นธุรกิจสีเทา ๆ เล่าว่า

“ทำไม "เงิน…ต้องติดล้อ” ผมเจอคำตอบนี้จากการทำความเข้าใจโครงสร้างทางเศรษฐกิจของบ้านเรา และการสังเกตพฤติกรรมของคนบางกลุ่มในสังคม

เมืองไทยมีคำหนึ่งที่มักใช้เปรียบเทียบการกระจายรายได้ นั่นคือ ‘รวยกระจุก…จนกระจาย’ ซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือคนที่มีรายได้น้อย และมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าหลักของเงินติดล้อ อย่างพี่วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ แม่ค้าตลาดนัด ที่รายได้อาจเปลี่ยนไปตามวันที่ฝนตกหรือแดดออก รวมถึงยังมีเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร เพราะไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่แน่นอน

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นเจ้าของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการทำมาหากิน ถ้าดูจากสถิติจะเห็นว่า ประชากรไทยมี 67 ล้านคน มีรถจดทะเบียนประมาณ 40 ล้านคัน ขณะที่มีคนเข้าถึงบัตรเครดิต กับสินเชื่อเงินสดแค่ 12 ล้านคน

เมื่อนำ 2 สิ่งนี้มาประกอบกัน สำหรับคนที่ไม่มีเอกสารทางการเงิน ไม่มีสลิปเงินเดือน แต่เป็นเจ้าของรถกระบะ รถเก๋ง หรือรถมอเตอร์ไซค์ ก็จะเข้าใจว่าทำไม “เงิน” ถึงจำเป็นต้อง “ติดล้อ” และจะเห็นภาพว่าทำไมผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบให้ลูกค้า “นำเล่มทะเบียนรถมาแลกเงิน” ของอุตสาหกรรมสินเชื่อทะเบียนรถ จึงเข้าไปช่วยปิด “ช่องว่างขนาดใหญ่” ที่มีอยู่ในสังคมของกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ เพราะนอกจากลูกค้ากลุ่มฐานรากจะได้เงิน ไปช่วยให้ชีวิตสามารถหมุนต่อได้ ยังสามารถนำรถกลับไปใช้ทำมาหากิน หารายได้ได้ตามปกติ อุตสาหกรรมนี้จึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสาขาของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมนี้รวมกันว่า 15,000 สาขา มากกว่าสาขาของธนาคารทั้งหมดด้วยซ้ำไป”

ทีมผู้บริหารมืออาชีพ

ทีมผู้บริหารมืออาชีพ และความเชื่อร่วมกันของ “ชาวเงินติดล้อ”

นักลงทุนส่วนใหญ่และคนทั่วไปอาจมองว่าเงินติดล้อมี “จุดแข็ง” อยู่ที่ “การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ล้ำหน้ากว่าคู่แข่ง ทำให้แม้ตอนนี้เงินติดล้อจะมีสาขาอยู่ 1,000 กว่าสาขา แต่กลับมี “ยอดสินเชื่อทะเบียนรถ” เป็นอันดับ 1 ของประเทศ เอาชนะคู่แข่งที่มีสาขามากกว่าถึง 4,000-5,000 สาขาได้...นั่นก็ใช่และจริง!

แต่ผู้นำเงินติดล้ออย่างคุณหนุ่ม ยังเปิดให้เห็น “จุดแข็ง” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดของเงินติดล้อว่ายังมาจากการมี “ทีมผู้บริหารมืออาชีพ” และการมี “"ความเชื่อ" ร่วมกันของชาวเงินติดล้อ

คุณหนุ่มเล่าว่า เงินติดล้อก้าวข้ามจาก “ธุรกิจครอบครัว” มาเป็น “”ธุรกิจที่บริหารโดยมืออาชีพ” มากว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่คู่แข่งและไฟแนนซ์ท้องถิ่นอื่น ๆ ยังบริหารงานกันแบบครอบครัว

"เงินติดล้อเริ่มลงทุนกับการจ้าง "มืออาชีพ" มาพัฒนาระบบ ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งผู้บริหารแต่ละคนก็ได้นำความรู้และประสบการณ์จากที่เคยผ่านการทำงานกับองค์กรชั้นนำระดับโลก มาใช้ปรับเปลี่ยนการทำงานของ “ไฟแนนซ์ห้องแถว” ส่งผลให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น ทำให้เราสามารถกำหนดจุดตั้งสาขาได้อย่างแม่นยำจากระบบประมวลผล และยังมีการพัฒนาแฟลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดบัตรติดล้อ เกิดแอปพลิเคชั่นเงินติดล้อ ที่ทำให้ลูกค้าสะดวกขึ้น ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังมีการขยายฐานลูกค้า โดยเชื่อมโยงกับพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศด้วย

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่ "ชาวเงินติดล้อ" มี "ความเชื่อ" ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผม ทีมผู้บริหาร รวมถึงพนักงานชาวเงินติดล้อทุกคนมีความเชื่อว่า ถ้าเราสามารถช่วยให้คนฐานราก เข้าถึงแหล่งเงินทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีมาตรฐาน เราจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าเราดีขึ้นได้ และยิ่งเราช่วยคนได้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง"

"ความเชื่อ" ของชาวเงินติดล้อ ยังนำพาไปสู่การมี "วัฒนธรรมองค์กร" ที่แข็งแกร่ง และการมี "ค่านิยม" ที่ชัดเจน ซึ่งช่วยให้เงินติดล้อสามารถคัดกรองคนที่เชื่อแบบเดียวกัน มาช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโตไปด้วยกันได้

และจุดแข็งที่ว่านี้ก็คือเบื้องหลังสำคัญ ที่ทำให้อดีต “ไฟแนนซ์ท้องถิ่น” อย่าง “เงินติดล้อ” ผงาดขึ้นมาเป็นองค์กรที่ชำนาญในเรื่องไอทีและการใช้เทคโนโลยี ถนัดเรื่องการใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ที่ทำให้มีความแม่นยำในการบริหารความเสี่ยง รวมถึงกลายเป็นน้องใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย

ทิศทางหมุน…สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ถึงวันนี้ ทิศทางการหมุนของ “เงินติดล้อ” จึงมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ “เงินติดล้อ” เป็นองค์กรที่มีอายุยืนยาวกว่าชั่วชีวิตคน สามารถสร้างประโยชน์ สร้างโอกาสให้กับผู้คนได้มากยิ่งขึ้น

คุณหนุ่มได้เล่าถึงทิศทางการหมุน…ที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของ “เงินติดล้อ” ว่า

“เราให้ความสำคัญกับการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลมาตลอด และข้อมูลก็บอกเราว่า เรายังเปิดสาขาได้อีกเยอะ คือขั้นต่ำใน 2-3 ปีนี้เราจะเปิดได้อีก 400-500 สาขาโดยไม่สะดุดเลย อย่างที่สองคือ เราตั้งเป้าว่าจะเป็น Technology Company เรื่องที่ต้องไปต่อจึงเป็นเรื่องของ Digital Transformation

ประกันก็จะเป็นอีกสิ่งที่เราจะลงทุนเพิ่ม เพราะ ณ วันนี้เงินติดล้อเป็นบริษัทนายหน้าประกันเบอร์ 3 ของประเทศ และมีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดอีกมาก นอกจากนี้ เงินติดล้อยังเป็นโบรกเกอร์ประกันเจ้าเดียว ที่ให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยทั้ง 16 เจ้าได้ โดยใช้แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมา เราจึงมีแผนต่อไปว่าจะเปิดให้โบรกเกอร์รายย่อยซื้อแพลตฟอร์มของเรา เพื่อให้สามารถเทียบราคาประกันทั้ง 16 เจ้า และขายประกันผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์แบบเดียวกับเราได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเงินติดล้อไม่ได้ต้องการจะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ”

ทิศทางสำคัญอีกอย่างของเงินติดล้อคือ การขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

“เรากำลังรอโอกาสที่เหมาะสม ในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เพราะนอกจากเงินติดล้อจะมีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว เรายังมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ซึ่งดึงดูดบริษัทชั้นนำในต่างประเทศให้มาศึกษาเรียนรู้ และที่ผ่านมาก็มีบริษัทจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง ทั้งบริษัทสินเชื่อ และบริษัทประกันภัยที่อยากให้เราขยายธุรกิจไปเป็นพันธมิตรที่ประเทศเขา

แต่อย่างไรก็ตาม…ก็ต้องย้อนกลับมาหาจุดยืนของเรา นั่นคือเรื่องเจตนา เรื่องวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งบริษัทที่จะมาเป็นพันธมิตรกับเราต้องไปด้วยกันได้ เพราะแม้เราจะลงทุนกับวิธีการทำงานใหม่ ๆ แต่สิ่งที่เราไม่ได้เปลี่ยนก็คือหลักคิด การให้ความสำคัญกับบริการและความเข้าใจที่มีต่อลูกค้า”

ทั้งหมดคือภาพการก้าวข้ามจาก “ไฟแนนซ์ห้องแถว” สู่ “ตลาดหลักทรัพย์” และการทะยานต่อไปเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น