หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เปิดมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ความจน

เปิดมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ความจน

26 ตุลาคม 2563
เปิดมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ความจน

“เงินติดล้อ” ให้การสนับสนุนการแปลหนังสือ “Poor Economics” (เศรษฐศาสตร์ความจน) และหนังสือ “The Poor and Their Money” (การเงินคนจน) ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนสงสัยว่าทำไม “เงินติดล้อ” ถึงให้ความสนใจกับ “หนังสือ” ในยุคที่หลายคนทราบดีว่า “สิ่งพิมพ์กำลังตาย”

ซึ่งคนที่จะสามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือ คุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)

คุณหนุ่มได้เล่าถึงแนวความคิดและที่มาของการสนับสนุนหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ว่าเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็น “วิสัยทัศน์” และ “พันธกิจ” ของเงินติดล้อ นั่นคือการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการยกระดับและพัฒนามาตรฐานการให้บริการของ “วงการสินเชื่อทะเบียนรถ”และ “วงการประกันภัย” เพื่อเปิดโอกาสให้คนฐานรากได้รับการบริการที่มีคุณภาพ (และสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนที่ยากจนได้อย่างแท้จริง)

เรื่องนี้จึงเริ่มต้นขึ้นจากความพยายามที่จะทำให้คนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมได้เข้าใจถึงแรงจูงใจ พฤติกรรม ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจด้านการเงิน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของ “คนจน”

"ก่อนหน้านี้เราเคยพยายามให้คนทั่วไปเข้าใจคำว่า “Financial Inclusion” หรือ “การเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง” มานานพอสมควร ที่เงินติดล้อเองก็มีการพาทีมงานไปดูงานเพิ่มเติมที่อินโดนีเซียและอิตาลี รวมถึงพยายามเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สะสมมาเรื่อยๆ แต่ก็รู้สึกมาตลอดว่าเรายังอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไม่ดี ไม่ครบถ้วน และยังไม่สามารถยกตัวอย่างให้คนทั่วไปเห็นภาพได้อย่างชัดเจน จึงอาจจะทำให้ไม่น่าสนใจมากพอ และทำให้คนทั่วไปไม่อยากที่จะมีส่วนร่วมเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้กลุ่มคนฐานรากและคนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น หรือทำให้พวกเขาสามารถบริหารจัดการการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น

เลยค้นหาวิธีใหม่ๆ ให้น่าสนใจมากขึ้น โดยการกลับไปค้นหาหนังสือที่เคยอ่าน จนได้หนังสือที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด คือ “Poor Economics” (เศรษฐศาสตร์ความจน เขียนโดย อภิชิต เบเนอร์จี และ เอสแตร์ ดูโฟล สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2019) และ“The Poor and Their Money” (การเงินคนจน เขียนโดย สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด และ สุขวินเดอร์ อาโรรา) แต่เนื่องจากทั้ง 2 เล่มเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างอ่านยาก เลยคิดว่าน่าจะดีกว่าถ้าจะลดอุปสรรคในการทำความเข้าใจ และทำให้หนังสือเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมากขึ้น ด้วยการให้นักแปล แปลหนังสือ 2 ทั้งเล่มออกมาเป็นภาษาไทยด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจได้ง่าย”

และแม้หนังสือทั้ง 2 เล่มที่ว่ามา จะช่วยให้คนอ่านได้เข้าใจกระบวนการคิดและพฤติกรรมเกี่ยวกับการเงินของคนจน แต่ก็มีประเด็นบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน อย่างที่คุณหนุ่มเล่าว่า

“สำหรับผมนะ...ผมคิดว่า “เศรษฐศาสตร์ความจน” เป็นหนังสือที่พูดได้ชัดเจนมากถึงแรงจูงใจ พฤติกรรม และการตัดสินใจของคนจนที่มีต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้งหมดมีเหตุผลมาจากความจน ที่ทำให้เขา “ขาดโอกาส” จะได้รับสิ่งต่างๆ ที่ชนชั้นกลางหรือคนมีเงินได้รับ เช่น ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้าหรือประปา ที่คนชั้นกลางหรือคนรวยไม่เคยต้องคิดว่าจะหาน้ำสะอาดที่ไหนมาใช้ เพราะแค่เปิดก๊อกน้ำ ก็มีน้ำประปาไหลออกมาให้ใช้ ในขณะที่คนจนต้องคิดว่าต้องทำอย่างไรถึงจะมีน้ำให้ใช้ และระบบหลายๆ อย่าง หรือบางผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้ถูกออกแบบและเตรียมไว้สำหรับคนจนโดยเฉพาะ

เปิดมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ความจน

เมื่อเบเนอร์จี กับดูโฟล ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ ลงไปทำวิจัยอย่างจริงจังจึงทำให้เข้าใจถึงแรงจูงใจ พฤติกรรม ไปจนถึงการตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆ ของคนจน ว่าทำไมคนจนไม่เอาเงินไปฝากธนาคาร ทำไมไม่กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำไมไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแทนที่จะปล่อยให้ตัวเองเป็นโรค ตัวอย่างเช่น การนำเงินที่เก็บสะสมไว้ได้ 200-300 บาทไปฝากธนาคารที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และยังทำให้เขาเสียโอกาสที่จะหารายได้ของวันนั้นไป ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีเงินเพื่อซื้ออาหารหรือสิ่งที่จำเป็นในวันนั้น สำหรับคนจนการที่จะเดินทางเพื่อนำเงินไปฝากธนาคารมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รู้ แต่เพราะอยู่ในสถานการณ์ เงื่อนไข และปัจจัยที่แตกต่างออกไป ทำให้ต้องตัดสินใจต่างกันเท่านั้นเอง

หรือทำไมคนจนต้องซื้อหวย ต้องเล่นการพนัน ที่จริงนั่นมาจากการที่เขาไม่มีความหวังว่าจะเก็บเงินได้ แต่มีความอยากที่จะได้เงิน ซึ่งความอยากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน อยากมีเงินสักแสน “หวย” จึงเป็นทางเลือกของเขา หรือทำไมคนจนเอาเงินไปซื้อโทรทัศน์ แทนที่จะเก็บออมเงินไว้ทำอย่างอื่น ก็เพราะชีวิตคนจนเต็มไปด้วยความเครียดในการดิ้นรนหาเงิน ทำให้เขาก็ต้องการการผ่อนคลายซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์เช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ฉลาดที่จะทำให้เราเข้าอกเข้าใจในความจน

เมื่อเราเข้าใจ เราก็จะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการเพื่อทำให้เขาเกิดประสบการณ์ใหม่ ซึ่งจะไปเปลี่ยนธรรมชาติหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ อย่างเรื่องประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้ว่ามันมีประโยชน์ เพราะหากคนจนประสบอุบัติเหตุ ชีวิตเขาจะลำบากมากขึ้น จะเอาเงินที่ไหนมารักษา แล้วระหว่างที่เจ็บก็ไม่สามารถทำงานได้ หรือรถซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไว้ใช้ทำมาหากินต้องซ่อม แต่ไม่มีเงินซ่อมก็ต้องดิ้นรนไปกู้หนี้ยืมสินมา แต่ตอนที่เงินติดล้อตั้งใจจะขายประกัน ไม่มีลูกค้าคนไหนเลยบอกว่าต้องการประกัน เราเลยใช้วิธีแถมฟรี ซึ่งการให้ฟรีก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรม พอเขาไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ ก็ไม่ต้องเสียเวลามาคิดหรือมาศึกษาว่ามันดีไม่ดีอย่างไร ซึ่งผมเข้าใจว่าลูกค้าหลายคน หลังจากได้ใช้ประกันที่เราแจกฟรี เขาก็เลยเห็นถึงประโยชน์ของการมีประกัน...แล้วหลังจากนั้นก็เกิดพฤติกรรมการซื้อต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ แถมบางคนซื้อให้ลูก ให้สามี ให้พ่อแม่ของตัวเองด้วย

แต่ถ้าไม่เคยมีใครแจกประกันฟรีให้เขา และเขาไม่เคยได้ใช้ประกันมาก่อน ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะพูดหรืออธิบายอย่างไรเขาก็คงไม่คิดที่จะซื้อประกัน

ส่วนหนังสือ The Poor and Their Money (การเงินคนจน) เป็นการเล่าและอธิบายเรื่อง “ตัวกลาง” ที่คนจนใช้ในการจัดการการเงิน ขณะที่ “ธนาคาร” คือ ตัวกลางระหว่างคนมีเงินที่นำเงินไปฝากธนาคาร กับคนต้องการเงินที่ไปกู้เงินจากธนาคาร คนจนก็ต้องการตัวกลางและมีตัวกลางแบบนี้ในหลายๆ รูปแบบเช่นกัน เช่น “วงแชร์” ซึ่งคนที่ต้องการออมเงินจะนำเงินไปฝากไว้กับคนที่ทำหน้าที่เก็บเงินในจำนวนเท่าๆ กัน ตามแต่ตกลง และหากใครต้องการนำเงินก้อนออกมาใช้ก่อนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับคนอื่นๆ ที่ยังส่งเงินออมอยู่ คนที่ได้เงินก้อนไปเป็นคนสุดท้ายก็จะได้ดอกเบี้ยสะสมมากกว่าคนอื่นๆ

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นอีกอย่างคือแท้ที่จริงแล้ว “เงินออม” กับ “เงินกู้” ก็คือเรื่องเดียวกัน ต่างกันตรงที่อะไรจะมาก่อน อะไรจะมาหลังเท่านั้นเอง เช่น ถ้าอยากซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่องราคา 2 หมื่นบาท อาจจะใช้วิธีเก็บเงินไว้เดือนละ 2 พันบาท จนครบ 10 เดือนแล้วค่อยนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือจะใช้วิธีไปกู้เงิน เอาเงินก้อนมาเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือมาใช้ก่อน แล้วค่อยผ่อนไปเดือนละ 2 พันบาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งโดยพฤติกรรมแล้วไม่ได้ต่างกันเลย แค่อะไรมาก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเหตุผลให้โลกนี้มีโรงรับจำนำ มีสินเชื่อทะเบียนรถ เพื่อให้คนสามารถนำทรัพย์สินที่เขาผ่อนมาแล้ว มาเปลี่ยนเป็นเงินสดไปใช้อีกรอบได้ในเวลาจำเป็น

ขณะที่คนออกกฎซึ่งมีเจตนาที่ดี แต่ไม่เข้าใจพฤติกรรมหรือธรรมชาติของเรื่องนี้บอกว่า ถ้าจะปล่อยสินเชื่อให้คนคนหนึ่ง คนคนนั้นต้องมีหลักประกันหรือเอกสารแสดงรายได้ แต่ถ้าเขาไม่มีเอกสารแสดงรายได้เพราะทำอาชีพอิสระละ? ต้องทำอย่างไร? แต่ถ้าผมรู้ว่าเขาผ่อนมอเตอร์ไซค์เดือนละ 3,000 บาทมา 20 เดือนแล้ว ทำไมผมจะปล่อยให้เขาผ่อนต่ออีกเดือนละ 500 ไม่ได้

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการต่างๆ เพื่อให้คนที่เดือดร้อนทางการเงินได้มีเงินไปใช้ เช่น มีการยกตัวอย่างการรับฝากเงิน ที่มีคนเดินเข้าไปในตลาดทุกวัน เพื่อเก็บเงินจากคนที่ต้องการออมเงินวันละ 100 บาท แล้วก็ระดมเงินฝากได้เยอะมาก และเมื่อถึงเวลาที่ตกลงกันก็จะส่งเงินก้อนคืนให้กับคนที่ฝากไว้ โดยหักค่าธรรมเนียมในการช่วยเก็บเงินไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกคนในตลาดต่างก็ขอบคุณการให้บริการแบบนี้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาออมเงินก้อนได้ แต่ถ้าดูจากรูปแบบความจริงก็ไม่ได้ต่างไปจากหนี้นอกระบบ ที่เข้าไปเก็บเงินทุกวัน วันละ 100 บาท เพียงแต่หนี้นอกระบบปล่อยเงินก้อนให้นำไปใช้ก่อน แล้วค่อยตามไปเก็บเงินทีหลังพร้อมกับดอกเบี้ย

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าคนจนมีความต้องการที่จะออมเงิน และใช้เงินอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ที่ผ่านมาธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ไม่มีวิธีที่จะปล่อยสินเชื่อให้ถึงมือพวกเขาได้ ผมคิดว่าพอมี Digital มี Fintech เข้ามามันเป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนเกมนี้ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และทำให้เข้าถึงคนจนได้มากขึ้นและง่ายขึ้น”

กลุ่มคนที่คุณหนุ่ม อยากจะให้อ่านหนังสือ 2 เล่มนี้ จึงไม่ใช่ “คนจน” แต่คือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรการหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางการเงิน นักการเงิน-การธนาคาร นักการเมือง หรือข้าราชการในกระทรวงต่างๆ นักธุรกิจและคนทั่วไปในสังคม รวมถึงพนักงานเงินติดล้อ

“ผมเชื่อว่าถ้าคนเหล่านี้ได้อ่าน ก็จะทำให้เข้าใจแรงจูงใจซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ ของคนจน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมนี้มากขึ้น เมื่อเข้าใจก็จะทำให้การออกกฎเกณฑ์ หรือกระบวนการ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถตอบโจทย์ให้กับคนจนได้จริงๆ”

และนี่คือความพยายามอีกครั้งของเงินติดล้อ ที่เห็นว่าการให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ “คนจน” นั้น คือหนึ่งในภารกิจสำคัญ

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น