ช้อปดีมีคืน ช้อปยังไงให้ได้คืนภาษีสูงสุด

ช้อปดีมีคืน ช้อปยังไงให้ได้คืนภาษีสูงสุด
รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกนามสกุลภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เข้าช่วงปลายปี 2563 แล้ว อีกหนึ่งเทศกาลที่ฮอตไม่แพ้ช่วงท่องเที่ยวก็คือ “เทศกาลเตรียมตัววางแผนภาษี” หรือการยื่นภาษี ที่เราต้องมองหาแนวทางการลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันสุขภาพสำหรับตนเองและให้พ่อแม่ ซื้อกองทุนรวม ฯลฯ ก่อนที่จะนำเอกสารไปยื่นภาษีตอนต้นปีหน้า

และอีกหนึ่งโครงการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี “ช้อปดีมีคืน” ที่ให้เราสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีปี 2563 ได้สูงสุด 30,000 บาท ตั้งแต่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 นี้ แต่จะยื่นภาษีในช่วง 1 มกราคม - 31 มีนาคม 64 ซึ่งมาตรการลดหย่อนนี้มีเงื่อนไขอยู่ด้วย ซึ่งหลายคนเริ่มมีคำถาม เริ่มสงสัย และอาจมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการประเภทไหนสามารถใช้ได้บ้าง และทุกคนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็ม 30,000 บาทจริงหรือไม่ ทุกคำถามและทุกข้อสงสัยเรารวบรวมคำตอบมาไว้ที่นี้แล้ว

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโครงการ “ช้อปดีมีคืน”

เช็คสิทธิ์ของตัวเองให้ชัวร์ว่าเราสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้

  • เป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ที่จะยื่นแบบภาษีในต้นปี 2564
  • ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ไม่เป็นผู้ที่ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่ง
ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ใช้ช้อปดีมีคืน

ทุกคนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เต็มจริงหรือ ?

อย่าพึ่งเข้าใจผิดกันไปว่าทุกคนจะได้ภาษีคืนครบ 30,000 บาท หรือตามค่าใช้จ่ายที่เสียไปทั้งหมดนะครับ เพราะความจริงแล้วเราจะได้รับเงินภาษีคืนตามฐานของเงินได้สุทธิต่อปี ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้จะซื้อสินค้าหรือบริการเต็มเพดาน 30,000 บาทก็ตาม แต่ใครจะได้เท่าไรลองเทียบดูตามตารางข้างล่างนี้

ช้อปดีมีคืนลดหย่อนได้แค่ไหน

ต้องมีหลักฐานอะไรบ้าง ?

ร้านค้าที่ร่วมรายการต้องสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ ดังนั้น ก่อนจะซื้อให้ถามก่อนว่า ว่าทางร้านสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้หรือไม่

สินค้าที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามมาตรการช้อปดีมีคืน

  1. หนังสือ สามารถซื้อได้ทั้งหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ (ทุกประเภท ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) รวมทั้ง e-Book โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อ-นามสกุลของผู้ซื้อก็ได้

  2. สินค้าโอทอป (OTOP) ต้องเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อ-นามสกุลของผู้ซื้อ หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

    ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงิน ต้องมีเครื่องหมายหรือข้อความที่ระบุว่าเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น "OTOP", "โอทอป" หรือ "One Tambon One Product" หรือหากไม่มีข้อความ ผู้ขายอาจประทับตรายางที่มีชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าแล้วระบุข้อความว่า "สินค้าทุกรายการเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันในใบกำกับภาษี

  3. โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องเสียภาษี VAT จึงสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อโทรศัพท์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้

  4. เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แต่งบ้าน ใช้สิทธิ์ได้ถ้ามีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือกรณีเป็นสินค้า OTOP ต้องมีใบเสร็จรับเงิน

  5. ทองคำ

    • ทองคำแท่ง ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ เพราะทองคำแท่งไม่ต้องเสียภาษี VAT
    • ทองรูปพรรณ ตัวทองคำก็ไม่เสียภาษีเช่นกัน จึงใช้ลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จเท่านั้น
  6. เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง สินค้าเหล่านี้ต้องเสียภาษี VAT ดังนั้น หากสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ ก็ใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้

  7. ค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร ร้านกาแฟ หากร้านค้าอาหาร ร้านกาแฟนั้น จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านมาใช้สิทธิ์ได้ แต่ไม่รวมถึงการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

  8. ข้าวสาร ผักผลไม้สด เนื้อสัตว์ ไข่ นม

    • สินค้าทางการเกษตรที่ยังไม่แปรรูปเหล่านี้ได้รับการยกเว้น VAT อยู่แล้ว จึงนำไปใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้
    • ส่วนนมวัวนั้น ถ้าเป็นนมจืด จะได้รับการยกเว้น VAT ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้
    • แต่หากเป็นนมประเภทอื่น ๆ ที่มีการแปรรูปมาแล้ว เช่น นมที่มีการเติมสี เติมกลิ่นเป็นรสชาติต่าง ๆ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง นมปราศจากแลคโตส จัดเป็นสินค้าที่ต้องเสีย VAT ดังนั้น กรณีที่ซื้อนมกลุ่มนี้จะนำไปลดหย่อนภาษีได้
  9. ของใช้ในครัวเรือน หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เลย อย่างเช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิว ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม กระดาษทิชชู สำลี ฯลฯ

  10. เปลี่ยนยางรถยนต์ เข้าศูนย์เช็กระยะ

    • การเปลี่ยนยางรถยนต์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนผ้าเบรค ซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ อะไหล่รถยนต์ สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ หากร้านออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้
    • การซ่อมรถ เข้าศูนย์ตรวจเช็กสภาพรถ ต้องรับบริการและซ่อมแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น จึงใช้สิทธิ์ได้
  11. ใช้บริการนวดหน้า สปา หากร้านนั้นสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ ก็นำไปใช้สิทธิ์ได้

  12. ซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการต่าง ๆ ได้ไหม หากซื้อบัตรและนำไปใช้บริการช่วงวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ แต่ถ้าซื้อบัตรไว้ก่อน แล้วนำไปใช้บริการในปี 2564 ด้วย จะใช้สิทธิ์ไม่ได้

  13. ซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ?

    • หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และตำราเรียน เป็นสินค้าได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงใช้สิทธิ์ไม่ได้
    • แต่หากซื้อหนังสืออื่น ๆ ที่เป็นสิ่งพิมพ์ รวมทั้ง e-Book จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
  14. ค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ หากมีการเทรดหุ้นและชำระค่าธรรมเนียมในช่วงวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 สามารถนำใบกำกับภาษีที่ได้รับทางไปรษณีย์ หรืออีเมล มาหักลดหย่อนภาษีในโครงการช้อปดีมีคืนได้ เนื่องจากค่าธรรมเนียมนั้นมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

  15. การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ หากเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีและออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้

  16. ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต รูดซื้อสินค้าและบริการ สามารถใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต รูดซื้อสินค้าและบริการได้ โดยต้องออกใบกำกับภาษีระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563  สามารถนำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมารวมกันหลายใบได้ แต่ใช้สิทธิ์รวมได้ไม่เกิน 30,000 บาท

กรณีซื้อสินค้าเงินผ่อนก็เข้าเกณฑ์ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกัน หากร้านค้าออกใบกำกับภาษีให้ตามเงื่อนไข โดยนำยอดเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ใช้ยื่นลดหย่อนภาษีได้เลย

สินค้าที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน

สินค้าที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามมาตรการช้อปดีมีคืน

  1. อาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสุนัข แมว ปลา สุกร ฯลฯ จะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หีบห่อ หรือไม่บรรจุก็ตาม จัดเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT ดังนั้น ไม่สามารถใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้

  2. รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ตามเงื่อนไขของโครงการช้อปดีมีคืน ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

  3. เติมน้ำมัน เติมก๊าซรถยนต์ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ในโครงการช้อปดีมีคืนได้

  4. จ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ใช้สิทธิ์ได้ไหม? ถ้าเทียบจากโครงการช้อปช่วยชาติของปีก่อน ๆ การซื้อประกันภัยรถยนต์จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ เนื่องจากประกันรถยนต์มีระยะเวลาคุ้มครองนอกเหนือช่วงวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งเงื่อนไขของโครงการช้อปดีมีคืน ระบุว่า ต้องซื้อและใช้บริการภายในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น

  5. ทำฟัน ทำศัลยกรรม คลินิกเสริมความงาม จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้หรือเปล่า? การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล เช่น ทันตกรรม ทำเลสิก ทำศัลยกรรม เข้าคอร์สเสริมความงาม ตรวจสุขภาพ ฯลฯ ค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ได้รับการยกเว้น VAT จึงไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้

  6. ค่าสมาชิกรายปี อย่างเช่น ค่าสมาชิกฟิตเนสรายปี หากเป็นการจ่ายรายปีจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากมีระยะเวลาให้บริการนอกเหนือจากช่วงวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563

  7. ซื้อบัตรของขวัญ (Gift Voucher) ใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะบัตรของขวัญไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

  8. ค่าที่พักในโรงแรม หรือบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พัก และบริการจัดนำเที่ยวไม่เข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนแต่หากมีค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) จากร้านอาหารในโรงแรมที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

  9. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ยาสูบ บุหรี่  สุรา เบียร์ ไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้

  10. ค่าเทอม คอร์สเรียน ค่าเทอมและคอร์สเรียนพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของราชการหรือเอกชน ถือเป็นการให้บริการทางการศึกษาที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนไม่ได้

เงินติดล้อขอย้ำ! รู้ไว้ให้เป๊ะ ก่อนยื่นลดหย่อนภาษีปีหน้า

ก่อนจะใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน และอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการ ก่อนที่จะ "ช้อป" หวังลดหย่อนภาษีจาก "ช้อปดีมีคืน" สิ่งที่แรกที่ต้องรู้คือ "รายได้สุทธิ" ของตัวเองเพื่อให้รู้ว่าอัตราภาษีที่ตัวเองที่ต้องจ่ายอยู่เท่าไร เพื่อนำมาพิจารณาว่าการช้อปสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อลดหย่อนภาษีตามโครงการนี้ ช่วยลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ช่วยเลยกันแน่

การลดหย่อนภาษี ไม่ใช่ใครก็คุ้มค่า เพราะการลดหย่อนภาษีคุ้มหรือไม่คุ้มไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราช้อปหรือซื้อของมากน้อยแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีในอัตราเท่าไรต่างหาก ช้อปแต่พอดีเท่าที่จำเป็นกัน เพราะเงินติดล้อเป็นห่วงอยากให้คุณมีชีวิตหมุนต่อได้

ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/903998
https://money.kapook.com/view233110.html

รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกนามสกุลภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น