นอกจากนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้กับหลายครัวเรือนได้แล้ว รัฐบาลยังตระหนักถึงปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน จึงได้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่าง “เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน” เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชนไทยอีกด้วย มาดูกันว่างบรายหัวนักเรียน 2567 มีอะไรบ้าง
เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ปีงบประมาณ 2567 มีอะไรบ้าง
เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน เป็นงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้สถานศึกษา เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่
Table of Content
- ค่าจัดการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว)
- ค่าอุปกรณ์การเรียน
- ค่าเครื่องแบบนักเรียน หรือค่าชุดนักเรียน
- ค่าหนังสือเรียน
- ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
|
1. เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนได้คนละกี่บาท
สำหรับเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับนักเรียนทั่วไป รัฐจะจัดสรรให้กับนักเรียนทุกคน ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีอัตราการจัดสรรจำแนกตามระดับ ดังนี้
- ระดับก่อนประถมศึกษา 1,836 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 918 บาท/คน)
- ระดับประถมศึกษา 2,052 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 1,026 บาท/คน)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,780 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 1,890 บาท/คน)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4,104 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 2,052 บาท/คน)
2. ค่าอุปกรณ์การเรียน 2567 มีอะไรบ้าง เบิกได้คนละกี่บาท
ใบเสร็จค่าอุปกรณ์การเรียน 2567 กี่บาทถึงจะเบิกได้? สำหรับค่าอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน เช่น สีเทียน สีน้ำ ดินน้ำมันไร้สารพิษ กรรไกรสำหรับเด็กปฐมวัย กระดาษ สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด กระเป๋านักเรียน อินเทอร์เน็ตซิมเพื่อใช้ในการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับนักเรียนพิการ เป็นต้น เบิกได้ตามอัตรา ดังนี้
- ระดับก่อนประถมศึกษา 290 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 145 บาท/คน)
- ระดับประถมศึกษา 440 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 220 บาท/คน)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 520 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 260 บาท/คน)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 520 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 260 บาท/คน)
- ระดับ ปวช.1 - 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 520 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 260 บาท/คน)
ขั้นตอนการเบิกค่าอุปกรณ์การเรียน
นักเรียนหรือผู้ปกครองสามารถใช้จ่ายเงินค่าอุปกรณ์การเรียนตามความต้องการ ให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณภาพการเรียนเป็นสำคัญ ขั้นตอนการเบิกค่าอุปกรณ์การเรียน สถานศึกษาจะจ่ายเงินสดให้กับนักเรียนหรือผู้ปกครอง ตามขั้นตอนการจ่ายเงิน การควบคุม ติดตาม และการตรวจสอบ ดังนี้
สถานศึกษาแต่งตั้งผู้จ่ายเงินอย่างน้อย 2 คน โดยมีครูประจำชั้นร่วมเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่นักเรียนหรือผู้ปกครอง โดยให้ลงลายมือชื่อผู้รับเงิน กรณีนักเรียนไม่สามารถลงลายมือชื่อรับเงินได้ ให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อรับเงินแทน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานการจ่ายเงิน
- จัดซื้อ จัดหาอุปกรณ์การเรียน
สถานศึกษาแจ้งให้นักเรียนหรือผู้ปกครอง จัดซื้อ จัดหาอุปกรณ์การเรียนได้ตามความต้องการ เช่น จัดซื้อจากร้านค้า ชุมชน เป็นต้น โดยดำเนินการให้ทันก่อนวันเปิดภาคเรียน
สถานศึกษาติดตามใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการจัดหาอุปกรณ์การเรียนจากนักเรียนหรือผู้ปกครอง กรณีไม่มีใบเสร็จให้ใช้แบบหลักฐานยืนยันการจัดหา หากพบว่านักเรียน ไม่มีอุปกรณ์การเรียน โดยนักเรียนหรือผู้ปกครองนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้ปกครองจะต้องคืนเงินให้กับทางราชการ
3.เบิกค่าชุดนักเรียน 2567 ได้เท่าไหร่
สำหรับงบประมาณค่าชุดนักเรียน หรือค่าเครื่องแบบนักเรียน ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง กระโปรง เบิกได้ตามอัตรา ดังนี้
- ระดับก่อนประถมศึกษา 325 บาท/คน/ปี
- ระดับประถมศึกษา 400 บาท/คน/ปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาท/คน/ปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 550 บาท/คน/ปี
- ระดับ ปวช. 1 - 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาท/คน/ปี
ทั้งนี้ ผู้ปกครองหรือนักเรียนสามารถถัวจ่ายระหว่างเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนได้ กรณีนักเรียนมีชุดนักเรียนเพียงพอแล้ว สามารถซื้อเข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ชุดกีฬา ชุดฝึกงาน ชุดประจำท้องถิ่น และอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นได้
4. เบิกค่าหนังสือเรียน ปีการศึกษา 2567 ได้เท่าไหร่
สำหรับงบประมาณค่าหนังสือเรียน ใช้เป็นค่าหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับระดับก่อนประถมศึกษา ค่าหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกระดับชั้น และแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐานใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้เฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อจัดสรรให้นักเรียนมีหนังสือใช้เรียนครบทุกคน ดังนี้
มูลค่าหนังสือต่อชุด
- ก่อนประถมศึกษา 200 บาท/คน/ปี
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 656 บาท/คน/ปี
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 650 บาท/คน/ปี
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 653 บาท/คน/ปี
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 707 บาท/คน/ปี
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 846 บาท/คน/ปี
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 859 บาท/คน/ปี
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 808 บาท/คน/ปี
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 921 บาท/คน/ปี
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 996 บาท/คน/ปี
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 1,384 บาท/คน/ปี
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 1,326 บาท/คน/ปี
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 1,164 บาท/คน/ปี
- ชั้น ปวช. 1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 2,000 บาท/คน/ปี
5. ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 2567 ได้คนละกี่บาท
สำหรับงบประมาณค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมกิจกรรม ดังนี้
- กิจกรรมวิชาการ
- คุณธรรม จริยธรรม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ผู้บำเพ็ญประโยชน์
- กิจกรรมทัศนศึกษา
- กิจกรรมการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
- กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกล
เบิกได้ตามอัตรา ดังนี้
- ระดับก่อนประถมศึกษา 464 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 232 บาท/คน)
- ระดับประถมศึกษา 518 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 259 บาท/คน)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 950 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 475 บาท/คน)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,026 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 513 บาท/คน)
- ระดับ ปวช. 1 - 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 1,026 บาท/คน/ปี (ภาคเรียนละ 513 บาท/คน)
สรุป เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ปีงบประมาณ 2567
เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐที่จัดสรรให้สถานศึกษา เพื่อลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง โดยในปีการศึกษา 2567 นับเป็นปีที่สองของการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่กำหนดให้มีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนแบบขั้นบันไดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ถึง 2569
นอกจากนโยบายของรัฐจะช่วยสนับสนุนการศึกษา และลดภาระทางการเงินให้แก่ผู้ปกครองได้แล้ว เงินติดล้อยังมีบริการสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการเงินทุนเพื่อการศึกษาของบุตรหลานเพิ่มเติม หรือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อไม่ให้กระทบกับคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว