หลายครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจอดรถข้างถนนหรือริมฟุตบาท นอกจากจะต้องทำความเข้าใจแถบสีขอบฟุตบาทว่าสามารถจอดรถได้หรือไม่ ยังต้องทำความเข้าใจป้ายห้ามจอดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นและเพื่อไม่ให้ถูกปรับ คนขับรถหลายคนอาจคุ้นเคยกับหน้าตาของป้ายห้ามจอดรถกันดีอยู่แล้ว แต่หลายคนอาจยังสงสัยและสับสนว่าสัญลักษณ์ห้ามจอดแต่ละป้ายนั้น มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับป้ายจราจร
ป้ายจราจรตามถนนหนทางมีบทบาทสำคัญในการช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยเพิ่มความปลอดภัยตลอดการเดินทางให้กับผู้ขับขี่ทุกท่าน สัญลักษณ์และภาพบนป้ายจะต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจนทั้งกับผู้ขับขี่ คนเดินเท้า และผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย ป้ายจราจรจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- ป้ายบังคับ
สำหรับบังคับผู้ขับขี่และคนเดินเท้าให้ปฏิบัติตาม ทำให้การจราจรเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งเสริมพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย และลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนน
- ป้ายเตือน
สำหรับเตือนผู้ขับขี่ให้ทราบล่วงหน้าถึงสิ่งที่อาจจะเป็นอันตราย หรือต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ป้ายบอกทางโค้งหักศอก ถนนลื่น ทางม้าลาย และทางข้ามสัตว์ เป็นต้น
- ป้ายแนะนำ
สำหรับแนะนำผู้ขับขี่ให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ขณะขับขี่ เช่น จุดหมายปลายทาง ทางเข้า ทางออก และแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทางนั้น
วิธีการอ่านป้ายห้ามจอดรถที่มักพบบ่อย
ป้ายห้ามจอดรถถือเป็นป้ายบังคับ เป็นป้ายห้ามผู้ขับขี่ไม่ให้จอดรถยกเว้นการหยุดรับส่งเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยป้ายจะมีลักษณะเป็นรูปวงกลม พื้นป้ายสีน้ำเงิน เส้นขอบป้ายสีแดง มีขีดสีแดงทำมุม 45 องศา จากทางซ้ายด้านบนของป้ายลงมาทางขวาด้านล่างของป้าย
ผู้ขับขี่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามสัญลักษณ์ เครื่องหมายห้ามจอด หรือข้อความที่แสดงบนป้าย หากฝ่าฝืนอาจโดนปรับตามกฎหมายจราจร สัญลักษณ์ห้ามจอดแต่ละป้าย ถือเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสารบนทุกท้องถนน เป็นแนวทางปฏิบัติในการขับขี่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าผู้ขับขี่จะเป็นคนไทยหรือต่างประเทศ
โทษปรับหากจอดรถในที่ห้ามจอด เงินติดล้อจะบอกให้!
“การจอดรถในที่ห้ามจอด จะถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท” หากคุณไม่อยากโดนปรับอย่าลืมอัปเดตกฎหมายจราจรฉบับใหม่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 5 กันยายน 2565 ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะมีโทษปรับที่หนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มวินัยและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน
1. ป้ายห้ามจอดตลอดเวลา เว้นวันอาทิตย์
หมายถึง ห้ามจอดตลอดแนวทุกวัน เว้นวันอาทิตย์สามารถจอดได้
2. ป้ายห้ามจอดเวลา 05.00-22.00 น. เว้นวันหยุดราชการ
หมายถึง ห้ามจอดตลอดแนวช่วงเวลา 05.00-22.00 ของทุกวัน เว้นวันหยุดราชการสามารถจอดได้
3. ป้ายห้ามจอดวันคี่ เวลา 06.00-20.00 น.
หมายถึง ห้ามจอดตลอดแนวทุกวันคี่ ช่วงเวลา 06.00-20.00 ดังนั้นวันคู่สามารถจอดบริเวณนั้นได้ (วันคู่วันคี่ หมายถึง วันที่เป็นเลขคู่/เลขคี่ หรือวันที่ลงท้ายด้วยเลขคู่/เลขคี่)
4. ป้ายห้ามจอดวันคี่ตลอดเวลา
หมายถึง ห้ามจอดตลอดแนวทุกวันคี่ตลอดเวลา และห้ามจอดตลอดแนวทุกวันคู่ ช่วงเวลา 06.00-09.00 และ 16.00-22.00 น.
5. ป้ายห้ามจอดวันคู่ตลอดเวลา
หมายถึง ห้ามจอดตลอดแนวทุกวันคู่ตลอดเวลา เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ (ไม่ว่าจะวันคู่วันคี่) ห้ามจอดช่วงเวลา 05.00-20.00 และสำหรับรถ 6 ล้อขึ้นไปห้ามจอดตลอดแนวทุกวันตลอดเวลา
6. ห้ามจอดวันคู่ ฝั่งตรงข้ามวันคี่
หมายถึง ฝั่งนี้ห้ามจอดตลอดแนวทุกวันคู่ ช่วงเวลา 06.00-18.00 และฝั่งตรงข้ามห้ามจอดตลอดแนวทุกวันคี่ ช่วงเวลา 06.00-18.00
เทคนิคการอ่านป้ายห้ามจอดรถ
- ให้เริ่มอ่านจากบนลงล่าง โดยเริ่มอ่านจากเครื่องหมายห้ามจอดตลอดแนว
- คำว่า “เว้น” หมายถึง ให้ทำตามป้าย ยกเว้นวันที่ป้ายระบุไม่ต้องทำ เช่น ตามรูปที่ 1: ห้ามจอดตลอดแนวทุกวัน เว้นวันอาทิตย์สามารถจอดได้ เป็นต้น
- หากป้ายไม่มีคำว่า “ตลอดเวลา” ก็ให้ยึดตามเวลาที่ป้ายระบุไว้
สรุป การทำความเข้าใจป้ายห้ามจอดรถ
การทำความเข้าใจวิธีการอ่านป้ายห้ามจอดรถที่ถูกต้อง ก็เพื่อความมีวินัยและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน และที่สำคัญคือเพื่อไม่ให้ถูกปรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลมากที่สุดเมื่อมีความจำเป็นต้องจอดรถข้างทาง นอกจากนี้อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำเล สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการจอด และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้กีดขวางการจราจร หรือเพิ่มความสบายใจด้วยการทำประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 ประกันรถชั้น 2+ หรือประกันรถชั้น 3+และนอกจากรถยนต์จะช่วยให้คุณถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ยังสามารถนำไปขอสินเชื่อรถยนต์เพื่อนำเงินไปต่อยอดทางธุรกิจ หรือนำไปหมุนเวียนในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ให้คุณกู้ได้ง่าย ๆ อนุมัติไว แถมดอกเบี้ยยังถูกอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: กรมทางหลวง