หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ปลุกพลังของคนในองค์กรด้วย “STRONG WHY”

ปลุกพลังของคนในองค์กรด้วย “STRONG WHY”

29 มิถุนายน 2564
ปลุกพลังของคนในองค์กรด้วย “STRONG WHY”

“ตอนผมขึ้นมาเป็น MD ใหม่ ๆ ผมรู้สึกว่าคนไม่ภูมิใจกับการทำงานที่เงินติดล้อ ผู้บริหารของเราเอง เวลาเจอเพื่อนถามว่าทำงานที่ไหน ก็จะตอบว่าทำงานอยู่ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ เวลาไปเดินห้างก็จะเอาแจ็คเก็ตมาปิดโลโก้บริษัทไว้ ผมว่านั่นเป็นวิกฤติ เป็นเรื่องใหญ่

สิ่งที่เราทำคือ ประกาศล้างภาพความเป็นไฟแนนซ์ห้องแถวของเราออกไป ผู้ถือหุ้นก็เป็นจุดแข็ง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เราต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้ และจุดยืนของเราคือ เราจะเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือคนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่โปร่งใสและเป็นธรรม

ซึ่งจริง ๆ เรามีสิ่งนี้อยู่แล้ว และกำลังทำกันอยู่ เพราะตั้งแต่ AIG ซื้อธุรกิจนี้มาบริหาร เราก็เริ่มกลายเป็นองค์กรที่ตั้งใจทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เป็นองค์กรที่อยากสร้างมาตรฐานในการทำธุรกิจนี้ให้ดีและสูงขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือ…เราแค่ต้องชัดเจนกับสิ่งที่เราเป็น และถ้าเราทำทุกอย่างบนจุดยืนนี้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น”

คุณหนุ่ม - ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการประกาศเจตจำนงของเงินติดล้อ ซึ่งไม่เพียงทำให้ชาวเงินติดล้อตอบคำถาม “WHY” ของตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจว่า ทำไม…สังคมไทยจึงต้องมีธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถอย่างเงินติดล้อ แต่ยังพบคำตอบที่ปลุกพลังในการทำงานให้กับชาวเงินติดล้อได้ว่า

งานที่ทำไม่ใช่การขูดรีดเงินจากคนตัวเล็กๆ แต่เป็นงานที่ทำเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนฐานรากที่เป็นลูกค้าได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่โปร่งใส และเป็นธรรม และกลายเป็นจุดเริ่มต้น “ปลุกพลัง” คนในองค์กรให้ช่วยกันสร้างโอกาส สร้างฝันของคนตัวเล็ก ๆ ให้เป็นจริง

“พอเรามาถูกทาง คือเริ่มต้นด้วยเจตนาที่ดี และทุกคนมี “ความเชื่อเดียวกัน” สิ่งที่ตามมาก็คือพนักงานทุกคนจะให้บริการด้วยใจ ซึ่งถ้าเทียบกับคู่แข่ง ไม่ยากหรอกที่จะเปิดห้องแถว 1,000 หรือ 3,000 ห้อง แต่ทำยังไงให้พนักงานเข้าใจและหาทางช่วยเหลือลูกค้าด้วยใจ…ผมว่าไม่ง่าย

เพราะลูกค้าแต่ละรายไม่ได้มีปัญหาแบบเดียวกันหมด บางเคสอาจไม่เข้าเงื่อนไขใดๆ ที่บริษัทมีอยู่เลย แต่พนักงานที่เข้าใจจะรู้ว่าสามารถแหกกฎตรงไหนได้เพื่อที่จะช่วยลูกค้า โดยไม่ทำให้บริษัทเสียหาย เพราะ Money lender กับ Financial Service ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น “บริการด้วยใจ จากคนที่เข้าใจ” นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เงินติดล้อแตกต่าง และก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในใจลูกค้า

เนื่องจากคนเราไม่ได้เลือกซื้อสินค้าด้วยเหตุผลว่าเป็นสินค้าที่ราคาถูกที่สุดแค่อย่างเดียว แต่ยังเลือกเพราะสิ่งนั้นถูกใจ หรือได้มอบประสบการณ์ที่ดีให้กับเรา ในระดับราคาใกล้เคียงกันที่สามารถซื้อหาได้ด้วย”

คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล

สร้างความยั่งยืนให้องค์กรผ่าน “คน”

“ทุกวันนี้เราตื่นเต้นกับดิจิทัล ตื่นเต้นกับอนาคตที่อาจไม่ต้องใช้คน และเงินติดล้อก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เราก็ยังเชื่อว่าคนคือส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร และผมเชื่อว่าความยั่งยืนมันมาจากคำว่า “สัจจะ” ซึ่งในความเป็นองค์กรมันหมายถึงสิ่งที่พูดและทำต้องสอดคล้องกัน อย่างปีที่แล้วมีโควิด-19 ซึ่งคือบททดสอบว่าเงินติดล้ออยากช่วยคนจริงไหม และสิ่งที่เงินติดล้อทำคือ เราเป็นเจ้าเดียวในธุรกิจนี้ที่ยกประโยชน์ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าที่ขอพักชำระหนี้ไปเกือบ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ที่ลดลงในปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากธุรกิจไม่แข็งแรง แต่มาจากการที่คนของเรา ตั้งแต่บอร์ด ผู้บริหาร ไปจนถึงพนักงานสาขายินดีจะช่วยลูกค้าในยามที่เขาเดือดร้อน

คือใครก็พูดได้ ทำได้ ให้บริการลูกค้าด้วยความยิ้มแย้ม แต่ยิ้มแล้วไม่ช่วย…ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรมา ไม่ว่าคู่แข่งจะเป็นใคร ผมเชื่อว่าคนของเงินติดล้อสู้ได้”

“คัดกรองคน” ผ่านค่านิยม

และเพราะแนวคิดว่า “คน” คือ “ทรัพยากรสำคัญ” เงินติดล้อจึงใช้วิธีคัดกรองคนที่จะมาร่วมทำงานด้วยผ่าน “ค่านิยม 7 ข้อ” ที่ชาวเงินติดล้อร่วมกันบัญญัติขึ้นจากวัฒนธรรมชาวเงินติดล้อ

“บริษัทส่วนใหญ่จะคัดกรองคนด้วย Technical Skills เช่น อยากรับเซลล์ ก็หาคนที่ขายของเก่งเข้ามา แต่ที่เงินติดล้อเชื่อว่า Technical Skills เป็นสิ่งที่สอนและเรียนรู้กันได้ เราจึงใช้วิธีคัดกรองคนที่มีความเชื่อและมีความอยากแบบเดียวกัน คืออยากช่วยคน และเชื่อว่าการได้ช่วยคน และได้เงินเดือนด้วยเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งถ้าคัดกรองคนได้ถูกต้อง 70- 80 เปอร์เซ็นต์จะไปได้ดี เพราะ “ความอยาก” จะทำให้เขาอดทน ทำให้เขาขยัน ทำให้เขากระหายการเรียนรู้ และพยายามพัฒนาตัวเองในทิศทางที่สอดคล้องกับค่านิยมของเรา

เวลามีคนมาสมัครงาน เราก็จะให้เขาอ่าน “ค่านิยมทั้ง 7 ข้อ” ของเรา แล้วถามว่าคุณเป็นคนแบบนี้หรือเปล่า เพราะเราอยากได้คนแบบเดียวกับเรามาทำงานด้วยกัน”

คุณหนุ่มยังเล่าย้อนไปถึงกลยุทธ์การบัญญัติ “ค่านิยม” ในแบบเงินติดล้อ ที่เกิดจากพนักงานทุกคนมีส่วนในการถอดรหัสจนได้เป็น “ค่านิยม 7 ข้อ” ของชาวเงินติดล้อในวันนี้ว่า

เมื่อก่อนเราก็จ้างเอเจนซี่มาช่วยเขียนค่านิยมให้ ซึ่งเป็นคำสั้น ๆ คล้องจอง ท่องง่าย แต่พนักงานไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ถาม 10 คน ได้มา 10 คำตอบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันเขียน “ค่านิยม” ของเราเองขึ้นมา

เริ่มจากการหา Rockstar ในบริษัท ซึ่งคือคนที่พนักงานส่วนใหญ่นับถือหรือชื่นชมยกย่อง และมาช่วยกันถอดรหัสว่า Rockstar แต่ละคน มีแพทเทิร์นอะไรที่ทำให้คนอื่น ๆ ชื่นชม คนกลุ่มนี้ก็เลยเป็น Culture Hero กลุ่มแรกของเรา จากนั้นก็ช่วยกันเรียบเรียงถ้อยคำที่จะสื่อสารถึงค่านิยมในรูปแบบของเรา เพื่อให้เป็นค่านิยมที่มีใจความครอบคลุม กระชับ และเข้าใจง่าย”

หลังจากช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน และคัดกรองกันเป็นรอบ ๆ จนได้ค่านิยมที่คิดว่า “ใช่” เราก็นำค่านิยมนี้มาใช้ในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงาน ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานเริ่มเข้ามาทำงานกับเรา”

แนวคิดสร้างความยั่งยืนให้องค์กรผ่านคน และใช้ “ค่านิยม” คัดกรองคนมาทำงาน ยังช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า “ค่านิยม” ของชาวเงินติดล้อจะได้รับการสืบทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น และส่งผลให้ “เจตนาดี” ที่เป็นจุดยืนของเงินติดล้อไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา

Passion, Strong Why และ Core Value ที่ชัดเจน จึงไม่เพียงอยู่เบื้องหลังแนวคิด ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปั้น “ไฟแนนซ์ห้องแถว” ให้ทะยานขึ้นมาเป็น “องค์กรมหาชน” ได้ในวันนี้ แต่ยังเป็นสิ่งที่จะนำพา “เงินติดล้อ” ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในวันข้างหน้าอย่างยั่งยืน

(ถอดความบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ของ The Standard)

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น