หลายคนรู้จัก “คุณหนุ่ม” (ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล) ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) แต่อาจไม่รู้ว่ามีเบื้องหลังมากมายที่ส่งผลให้ “คนหนุ่มคนหนึ่ง” สามารถก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” บนจุดสูงสุดขององค์กร ที่นำพาอดีตไฟแนนซ์ห้องแถวให้ทะยานสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในวันนี้
และนี่คือหลากหลายเรื่องราว หลากหลายมุมความคิด ที่คุณหนุ่มได้เล่าไว้ใน “ห้องเรียน DTX” (Digital Transformation Exponential) ที่เปิดให้เห็นถึงพื้นฐานความเป็นมาของชีวิต ซึ่งให้ผลลัพธ์ตามมาเป็นความมุ่งมั่น แรงบันดาลใจ วิธีคิด ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อเส้นทางชีวิต วิธีทำงานและบริหารงาน รวมถึงการมองโลก มองคนของคุณหนุ่มในวันนี้
แต่ยังส่งผลถึงการหมุนไปสู่อนาคตของเงินติดล้อ และชาวเงินติดล้ออีกกว่า 6 พันคน
Hard Work คือสิ่งที่ทำให้คนสามารถเอาชนะความท้าทายได้
วันนั้นคุณหนุ่มได้เปิดใจเล่าถึงเรื่องราว ตั้งแต่สมัยยังเป็น “เด็กชายปิยะศักดิ์” ที่ต้องแก้โจทย์ชีวิต ด้วยการพยายามเอาชนะปัญหาสุขภาพของตัวเองไว้ว่า
“เรื่องราวทั้งหมดของชีวิตผมจริง ๆ ก็คือเรื่องของ Hard Work
…พ่อแม่ผมมีลูก 2 คน ผมเป็นลูกคนเล็กของครอบครัวซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ที่อเมริกา ตอนเป็นเด็กผมค่อนข้างมีปัญหาเยอะ เมื่อเทียบกับพี่ชายซึ่งเป็นเด็กเรียนดี แล้วก็เล่นกีฬาเก่ง เพราะเมื่อก่อนผมเป็นเด็กที่แพ้ทุกอย่าง ออกจากบ้านก็แพ้เกสรดอกไม้ แพ้แดด แพ้ไปหมด แล้วก็เป็นเด็กอ้วน คอเลสเตอรอลสูงตั้งแต่เด็ก เรียนก็ไม่ค่อยเก่ง แถมยังขี้เกียจ
…ช่วงหนึ่งคุณพ่อเลยต้องพาผมไปหาหมอบ่อย หมอก็บอกว่ามีอยู่ทางเดียวคือต้องออกกำลังกาย เพราะผมเป็นโรคแอสม่า (Asthma) ทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ ตอนเรียนประถมผมเลยถูกบังคับให้ว่ายน้ำทุกวัน ครั้งละชั่วโมง ว่ายน้ำเสร็จก็ไปเรียนเทควันโดต่อ
…และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากถูกบังคับให้ทำสิ่งเหล่านี้ก็คือ…ทุกอย่างมันดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น เรียนก็ดีขึ้น ซึ่งมาจากความท้าทายที่เราต้องพยายามทำมันให้ได้ และทำให้ผมได้เริ่มเรียนรู้ว่า
“คนเราไม่ต้องมีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิดก็ได้ ถ้ามีความขยัน มีความพยายาม ทุ่มเทอย่างหนัก ซึ่งคำว่า Hard Work นี่แหละที่จะทำให้เราสามารถเอาชนะความท้าทายเกือบทุกอย่างได้”
หลังจบ High school ที่อเมริกา คุณหนุ่มก็ย้ายมาเรียน BBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์ ซึ่งทำให้คุณหนุ่มได้พบบทเรียนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ทุกอย่างในปัจจุบัน ล้วนมาจากเหตุและผลในอดีต
คุณหนุ่มเล่าถึงช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยว่างานที่คุณหนุ่มเลือกทำในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็คือการเป็น “ล่าม” ให้กับบริษัทที่ทำงานวิจัย
“ตอนนั้นผมฟังภาษาไทยได้แต่พูดไทยไม่ค่อยเก่ง ก็เลยไปสมัครเป็นล่าม แปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติที่มาทำรีเสิร์ชในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้เที่ยวฟรี ยังช่วยเปิดโอกาสให้ผมได้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยในต่างจังหวัด”
หลังเรียนจบ คุณหนุ่มก็ทำงานกับบริษัท Boston Consultant Group อยู่ 2 ปี แต่ชีวิตก็เป็นอย่างที่คุณหนุ่มได้เรียนรู้ คือทุกอย่างในปัจจุบันมีเหตุผลและสาเหตุมาจากอดีต
“ช่วงที่ทำงานกับบริษัท Consultant (BCG) ผมก็เกิดไอเดียว่า…ทำไมถึงไม่มี Fast food chain อาหารไทยที่อเมริกา เลยตั้งใจกลับไปสำรวจตลาดเพื่อทำ Fast food chain ที่นั่น แล้วก็ตั้งใจจะสมัคร MBA เรียนปริญญาโทที่อเมริกาพร้อมกันไปด้วย แต่ย้ายกลับไปอเมริกาได้ 2 เดือนก็มีคนติดต่อมาบอกว่ากำลังทำ Project ที่เมืองไทย และต้องการได้นักวิเคราะห์ที่เป็นคนไทยมาช่วยงานสัก 3 เดือน ผมเลยบินกลับมาแล้วก็รับ Project 3 เดือน ซึ่งพอเริ่มงานก็ได้เจอ Profile ของบริษัทที่เขาอยากจะซื้อคือ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”
แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ด้าน Due Diligence มาก่อน แต่คุณหนุ่มก็ทำได้ดี จนได้รับการชักชวนให้ทำงานต่อ กระทั่งสามารถปิดดิว และทำให้ไฟแนนซ์ห้องแถว อย่าง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” (ซึ่งก็คือ เงินติดล้อ ในวันนี้) ได้รับการซื้อเข้ามาเป็นหนึ่งในบริษัทลูกขององค์กรธุรกิจระดับโลกอย่าง AIG
จึงไม่ผิดเลยถ้าจะบอกว่า คุณหนุ่มคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มนับ 1 ของเงินติดล้อ
พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง : แนวคิดที่เป็นรากฐานสำคัญของเงินติดล้อ
“หลังจาก AIG เข้าซื้อกิจการของ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” แล้ว ผมก็ไปทำดิวอื่นต่อที่ฮ่องกง ไต้หวัน แล้ววันหนึ่ง CEO ของเงินติดล้อ (ในเวลานั้น) ก็ติดต่อมา บอกว่าต้องการ Head of Marketing ตอนนั้นผมกำลังคิดอยู่ว่าจะเขียนอะไรลงไปใน Essay เพื่อใช้สมัครเรียนปริญญาโทดี และคิดว่าการมีประสบการณ์เป็น Head of Marketing ตอนอายุน้อย ๆ ในธุรกิจที่คนไม่ค่อยรู้จักน่าจะช่วยให้มี Profile ที่แตกต่าง เลยตกลงทำงานกับเงินติดล้อ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นไฟแนนซ์ห้องแถวที่มีสำนักงานใหญ่ในจังหวัดปทุมธานี และยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก”
กระทั่งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับเงินติดล้อและตัวคุณหนุ่มเอง เมื่อ AIG ต้องขายเงินติดล้อให้ธนาคารกรุงศรีฯ และทำให้คุณหนุ่มมีโอกาสได้ทำหนังโฆษณาเรื่องแรกให้เงินติดล้อ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จากนั้นก็ได้รับโอกาสโปรโมทให้ขึ้นมาเป็น MD หนุ่มในขณะที่อายุ 32
ธุรกิจของเรามีไว้เพื่อแก้ปัญหาอะไร…การเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของเงินติดล้อ
คุณหนุ่มยังเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเงินติดล้อมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่เงินติดล้อจะหมุนมาจนถึงวันนี้ว่า มาจากการ “ให้ค่า” ให้ความสำคัญกับ “การบริการลูกค้า” ที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นคำตอบที่มาจากการตั้งคำถามสำคัญคือ ธุรกิจของเรามีไว้เพื่อแก้ปัญหาอะไร
“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะว่า เราอยู่ในธุรกิจที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรากหญ้า และ ณ วันนั้นหลายคนก็อาจจะรู้ว่าเงินติดล้อมีปัญหาเรื่องความสับสนของแบรนด์ คือเมื่อก่อนเราชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” และปัจจุบันก็มีอีกบริษัทหนึ่งชื่อ “ศรีสวัสดิ์” ที่อยู่ในธุรกิจคล้ายกัน ทำให้มีคนสับสนเต็มไปหมด
...ตอนที่พยายามแก้ปัญหานี้และทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น เราก็ลงพื้นที่คุยกับลูกค้าเยอะมาก ทำให้เข้าใจลูกค้าดีขึ้น เห็นปัญหาของลูกค้ามากขึ้นว่า
…สิ่งที่ลูกค้าของเราต้องการไม่ใช่แค่ “เงิน” อย่างเดียว สิ่งที่ลูกค้าเงินติดล้อต้องการคือความโปร่งใส เป็นธรรมที่ควรได้รับในฐานะผู้กู้ ซึ่งหมายถึงมาตรฐานการให้บริการที่สูงขึ้น
…แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ตั้งต้นมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฟแนนซ์ห้องแถวอยู่ต่างจังหวัด คอนเซ็ปท์ของคำว่า “สิทธิผู้บริโภค” จึงยังอาจมาไม่ถึงอุตสาหกรรมนี้ เราเลยไปศึกษาเพื่อหาทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเข้ามาอยู่ในระบบทางการเงินที่เหมาะสมได้ และเริ่มคิดใหญ่มากขึ้น เริ่มเปลี่ยนองค์กรมาเป็นองค์กรที่มีเจตจำนงค์ที่จะให้บริการทางการเงินกับลูกค้าบนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และมีมาตรฐานที่สูงขึ้น
…แน่นอนเงินติดล้อยังเป็นองค์กรที่ต้องการกำไร แต่กำไรไม่ใช่จุดมุ่งหมายเดียวของเราอีกต่อไป”
คุณหนุ่มยังยกตัวอย่างการเริ่มต้นธุรกิจ “โบรกเกอร์ ประกันภัย” ซึ่งเป็นอีกธุรกิจของเงินติดล้อ ที่ไม่ได้ตั้งต้นมาจากความต้องการกำไรเพิ่ม แต่ในที่สุดกลับช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัทว่า
“แกนหลักจริง ๆ ของการที่เงินติดล้อเริ่มขายผลิตภัณฑ์ประกัน มาจากความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความเสี่ยงน้อยลง ซึ่งมาจากความเชื่อที่เป็นจุดมุ่งหมายของเรา ส่วนรายได้ที่ตามมาคือผลพลอยได้ ซึ่งก็เป็นอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ว่า “การมีจุดหมายที่ชัดเจนจะนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว”
…เพราะเมื่อเจอจุดหมายที่ชัดเจนก็เหมือนกับการค้นพบเข็มทิศ ว่าเราควรจะเดินไปทางไหน นอกจากนี้ยังทำให้เราสามารถตัดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจนทิ้งไปได้ง่ายขึ้น”
และนั่นคือรากฐานของการมี “วัฒนธรรมเงินติดล้อ” ที่แข็งแกร่ง จากการหา “ภารกิจที่แท้จริง” ขององค์กรตัวเองเจอ และทำให้เงินติดล้อทิ้งภาพ “ไฟแนนซ์ห้องแถว” ไว้เป็นเพียงอดีต เพื่อมุ่งสู่อนาคตกับฝันที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน
ปลดล็อค “ศักยภาพ” ของคน ผ่านการมี “ความเชื่อ” ร่วมกัน
บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่คุณหนุ่มเล่าว่าได้มาจากประสบการณ์พยายามเอาชนะปัญหาสุขภาพของตัวเองในวัยเด็ก และนำมาเป็นแนวทางในการบริหารก็คือ “คนทุกคนมีศักยภาพมากกว่าที่ตัวเองคิด”
“สิ่งที่ต้องทำคือ การพยายามช่วยให้ทุกคนไปได้เกินจุดสูงสุดที่คิดไว้ โดยการสร้างบรรยากาศเพื่อให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามเส้นทางของตัวเองได้ และแสดงคาแรคเตอร์ที่เป็นธรรมชาติของตัวเองออกมา”
และสิ่งสำคัญที่ช่วย “ปลดล็อค” ศักยภาพให้กับ “ชาวเงินติดล้อ” ก็คือการมีความเชื่อร่วมกัน อย่างที่คุณหนุ่มเล่าว่า
“การมีวัฒนธรรมองค์กร มีความเชื่อที่ชัดเจนร่วมกันช่วยได้มาก เราก็เลยใช้ค่านิยมองค์กร 7 ข้อของเรามาเป็นคำถามที่ใช้ตอนสัมภาษณ์งาน และคำถามหนึ่งที่เราใช้ถามคนที่มาสมัครงานกับเราก็คือ เขาเคยมีประสบการณ์ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับหนี้นอกระบบหรือเปล่า
…ถ้าเขาตอบ Yes ก็จะช่วยได้เยอะ เพราะเขาจะรู้ว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แย่แค่ไหน และเมื่อเขามาทำงานกับเรา เขาก็จะไม่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายของบริษัทเท่านั้น แต่จะทำงานเพื่อเป้าหมายของตัวเองด้วย และจะทำให้เขาพยายามพัฒนาทักษะของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาแย่ ๆ ที่เขาเคยเจอ
…เวลาคัดคนมาทำงาน เราจึงให้ความสำคัญกับความฟิตกับค่านิยม 7 ข้อของเรา มากกว่าเรื่องของการมี Technical skill เพราะเราเชื่อว่า Technical skill นั้นมาฝึกฝนมาพัฒนากันทีหลังได้
จะรักษา “วัฒนธรรมองค์กร” ได้ ต้องไม่ปล่อยให้ “ความผิดพลาด” ดำเนินต่อ
ในฐานะผู้นำองค์กร สิ่งหนึ่งที่คุณหนุ่มเล่าว่า…ยากที่จะทำ แต่จำเป็นยิ่งที่จะต้องทำก็คือการตัด หรือคัด “คนที่ไม่ใช่”
“ด้วยบริบทของวัฒนธรรมในประเทศเรา เรื่องนี้คือสิ่งที่ยากมาก แต่ถ้ากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ถูกต้อง นี่คือสิ่งจำเป็น ทุกครั้งที่มีลูกค้าร้องเรียนมา และเรามีการสอบสวนพนักงาน เราจะใช้วิธีไล่หาจากค่านิยม 7 ข้อที่เรามีเพื่อหาว่าข้อไหนที่เขาผิดพลาดไป และก็มีบางครั้งที่เราจำเป็นต้องปรับแต่งค่านิยมของเราให้ชัดเจนขึ้น
…เพราะหลักการสร้างค่านิยมก็เหมือนกับการเขียนกฎหมาย คือเราไม่สามารถเขียนกฏหมายว่าห้ามทำโน่น ห้ามทำนี่ได้หมดทุกอย่าง แต่ถ้าคนของเรา พนักงานของเราเข้าใจหลักการพื้นฐาน แล้วตัดสินใจด้วยตัวเองได้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ องค์กรก็จะโตไปได้อย่างรวดเร็ว”
วิธีสร้าง “องค์กรแห่งความสุข”
อีกแนวคิดที่สำคัญของคุณหนุ่ม ที่ถ่ายทอดไว้ใน “ห้องเรียน DTX” ก็คือ พนักงานเขาจะแสดงศักยภาพสูงสุดให้เห็นได้ ถ้าองค์กรดูแลความต้องการของพนักงานได้ดี
“ที่เงินติดล้อ เราใช้หลักวิทยาศาสตร์ที่บอกว่ามี 4 อย่างด้วยกันที่มนุษย์ทุกคนมองหา แล้วก็นำ 4 อย่างนี้มาดีไซน์การดูแลพนักงานของเรา อย่างแรกคือเรื่อง “จุดมุ่งหมาย” พนักงานทุกคนมีเป้าหมายเรื่องการเงิน เพราะฉะนั้นเราก็เลยออกแบบโปรแกรมที่จะช่วยให้พนักงานมีเงินเพียงพอในวันที่เขาต้องเกษียณ นับจากวันแรกที่เขามาทำงานที่นี่
…อย่างที่สองคือ “การสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้พนักงานมาทำงานได้ทุกวันอย่างมีความสุข ที่เงินติดล้อเราจึงมีการทำแบบสอบถามเยอะมาก เพื่อถามพนักงานว่าเขาอยากได้อะไรเพิ่มเติมจากองค์กร หรืออยากเห็นองค์กรเป็นอย่างไร
…และสามคือเรื่อง “การพัฒนา เพื่อไปสู่ความเติบโต” ทุกคนมีเป้าหมายอยากเติบโตในหน้าที่การงาน จึงสำคัญที่พนักงานต้องเข้าใจตรงกันว่า การช่วยกันผลักดันให้องค์กรโตจะเปิดโอกาสให้พนักงานแต่ละคนเติบโตได้มากขึ้น เพราะถ้าบริษัทไม่โต โอกาสเติบโตของพนักงานก็จะน้อยลงด้วย และในที่สุดพนักงานก็จะเริ่มมองหาทางไปโตที่อื่น
…ส่วนเรื่องที่ 4 คือ “การมีความสัมพันธ์ที่ดี” เงินติดล้อเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้พนักงานใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะพนักงานที่มีเพื่อนสนิทในที่ทำงาน หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรจะทำงานกับองค์กรนั้นได้ยาวนานกว่าพนักงานที่ไม่มีเพื่อน”
คุณหนุ่มยังสรุปแนวคิดของ “วิธีการสร้างองค์กรแห่งความสุข” ว่าเมื่อองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการทั้ง 4 อย่างของพนักงานที่กล่าวมา ควบคู่ไปกับการมี “ความเชื่อร่วมกัน” ว่า “งานที่ทำทุกวันคือการสร้างประโยชน์ให้กับคนสังคม” ก็จะทำให้ “พนักงานที่ใช่” ทำงานอยู่กับองค์กรได้อย่างยาวนาน
แนวทาง Work Life Balance กับผลลัพธ์ที่แตกต่าง
สำหรับคุณหนุ่ม การสร้างสมดุลย์ให้กับชีวิตและการทำงาน ไม่ได้มีแค่ทางเลือกเดียว แต่เลือกได้ถึงส 3 รูปแบบ อย่างที่คุณหนุ่มเล่าว่า
“โมเดลการ Work Life Balance ชีวิตการทำงานในอุดมคติของหลายคนจะอยู่ในรูปแบบเส้นตรง คือเริ่มทำงานตามเวลา พอถึง 5 โมงครึ่งก็กลับบ้าน และถ้าหากแกนด้านล่างคือเวลา ผมเชื่อว่าคนที่เลือกการใช้ทั้งชีวิตไปกับการทำงานรูปแบบนี้ ยากมากที่จะพบกับความสำเร็จได้
…ส่วนโมเดลที่สอง คือการ Work Life Balance แบบแบ่งครึ่ง ซึ่งไม่ใช่การบาลานซ์เวลาภายใน 24 ขั่วโมง แต่คือใช้เวลาในครึ่งแรกของชีวิตการทำงานอย่างหนัก แล้วค่อย ๆ ลดลงในช่วงครึ่งหลังตอนที่เริ่มตั้งตัวได้และมีอายุมากขึ้น ซึ่งคือการเลือกทำงานหนักตอนที่อายุยังน้อย เพื่อจะได้สบายในตอนแก่
…และแบบที่สาม คือการ Work hard ตั้งแต่ต้น แล้วก็ได้พบว่า “งานกับการใช้ชีวิตคือหนึ่งเดียวกัน” ซึ่งจะเกิดได้เมื่อเรามี Passion เจอจุดมุ่งหมายของตัวเอง หรือพบว่าเราเกิดมาเพื่อจะทำสิ่งนี้ ซึ่งจะทำให้เราเลิกมองสิ่งที่กำลังทำว่าคืองาน”
คุณหนุ่มทิ้งท้ายแง่คิด ที่เป็นมุมมองต่อแนวทาง Work Life Balance ทั้งสามแบบไว้ว่า
“เราทุกคนเลือกได้ว่าอยากจะมีชีวิตแบบไหนในวันนี้ และอยากมีชีวิตแบบไหนในระยะยาว แต่สิ่งที่ผมอยากบอกคือ…ผมยังไม่เคยเจอคนที่ฟลุ้คแล้วรวย”
เปิดแรงขับเคลื่อน ของ “ผู้นำ” เงินติดล้อในวันนี้
คำถามท้าย ๆ จากห้องเรียน DTX คือจุดมุ่งหมายที่คุณหนุ่ม ในฐานะผู้นำเงินติดล้อจะพาองค์กรหมุนต่อ หลังจากพา “ไฟแนนซ์ห้องแถว” ทะยานสู่การเป็น “องค์กรมหาชน” ได้สำเร็จ
ซึ่งคำตอบของหนุ่มก็คือ…การนำพาองค์กรไปสู่การเป็น “Technology Company”
“ณ วันนี้อาจจะยังเป็นเส้นทางอีกยาวไกล แต่ผมก็เชื่อว่าด้วยทักษะที่เราสร้างขึ้น ด้วยกรรมการ ด้วยผู้ถือหุ้นของเงินติดล้อ ทำให้เรามีโอกาสที่จะไปถึงจุดหมายนั้นได้ ถ้าเราไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเราต้องเป็น Lending Company เท่านั้น ผมว่าเรายังทำอะไรได้อีกเยอะแยะมากมาย เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นบริษัทปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัยอย่างเดียว”
และถึงวันนี้ คุณหนุ่มก็ยังคงทำงานด้วยแรงขับสำคัญ เพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายใหญ่อีกอย่างที่วางไว้…นั่นคือ
“ผมอยากทำให้เงินติดล้อมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนตลอดไป คือไม่จำเป็นต้องมีผมก็ยังคงเติบโตต่อไปได้ เพราะที่จริงบริษัทคือนิติบุคคลซึ่งสามารถคงอยู่ไปได้ตลอด ถ้ามีการวางวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกต้อง และเราส่งไม้ต่อให้กับคนที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกำลังลงทุนกับทีมงานเพื่อที่จะพัฒนาทุกคน
…เพราะทุกวันนี้สิ่งที่สร้างพลังการทำงานให้กับผมก็คือทีมงาน พนักงานทุกคนที่เราคัดสรรมา ที่เรามีความสัมพันธ์กับเขา และเราอยากเห็นเขาได้ดี
…คือผมอาจจะบรรลุเป้าหมายที่ผ่านมาของตัวเองแล้ว แต่พนักงานอีกหลายคนอาจยังไปไม่ถึงเป้าหมายของเขา ทุกวันนี้ผมจึงมีเป้าหมายด้วยการเอาความสำเร็จของพนักงานเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นแรงขับสำคัญให้กับผมที่จะทำให้บริษัทเติบโตต่อไป”