หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ Employee Wellness กุญแจสำคัญเพื่อความสุขในการทำงานของพนักงาน

Employee Wellness กุญแจสำคัญเพื่อความสุขในการทำงานของพนักงาน

31 กรกฎาคม 2566
Employee Wellness กุญแจสำคัญเพื่อความสุขในการทำงานของพนักงาน
รายงานของ Gallup เผยว่ามีพนักงานกว่า 76% กำลังเผชิญกับความเครียดและสภาวะหมดไฟ  จึงเป็นเรื่องที่องค์กรต้องเร่งมือแก้ไขปัญหา แต่โดยปกติเมื่อพูดถึงการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน หลายองค์กรก็มักจะนึกว่าแค่การให้สวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมก็น่าจะเพียงพอ แต่จากสถิติข้างต้นคงเห็นชัดแล้วว่าการดูแลสุขภาพกายอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป  เพราะถึงแม้สุขภาพกายดีแต่สภาพจิตใจย่ำแย่ก็คงจะยากที่ทำให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างครบองค์และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นการใส่ใจชีวิตการเป็นอยู่ของพนักงานในด้านอื่นๆ อย่างการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต สร้างบรรยากาศการทำงานและสังคมในที่ทำงานให้ดีและน่าอยู่ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และองค์กรจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเพื่อให้พนักงานมีความสุขกับงานที่ทำจนอยากอยู่ด้วยกันไปอีกนาน
 

Employee Wellness Program ดีต่อพนักงานและต่อองค์กรอย่างไร

เพิ่ม Productivity

สุขภาพที่ไม่ดีและความเครียดเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Productivity ต่ำ การส่งเสริมให้มี Employee Wellness ในที่ทำงานมีส่วนช่วยเปลี่ยนนิสัยให้พนักงานใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น และเมื่อพนักงานมีสุขภาพที่ดีก็จะส่งผลให้มีสมาธิและแรงจูงใจในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองได้ดีขึ้น
 

เพิ่ม Employee Engagement

Employee Wellness ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแรงจูงใจในการทำงาน และมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเมื่อพนักงานรู้สึกว่าได้รับการเอาใจใส่ พวกเขาก็มักจะมีความรู้สึกผูกพันกับองค์กรและอยากทุ่มเททำงานให้ดีมากขึ้นเพื่อตอบแทนความใส่ใจขององค์กร

 
ลด ค่ารักษาพยาบาล

แน่นอนว่าองค์กรที่สนับสนุนให้พนักงานรักษาสุขภาพและพลานามัยที่ดีจะลดค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะพนักงานที่มีสุขภาพดีและมีความสุขย่อมมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่า ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับทั้งพนักงานและองค์กรลดลง นอกจากนี้ การเน้นการดูแลเชิงป้องกันยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่าการเสียค่ารักษาทีหลัง เพราะช่วยทั้งประหยัดเงินและเวลาในระยะยาว
 

ลด วันลางาน

ทุกคนรู้ไหมว่าโรคเล็กๆ น้อยๆ อย่างโรคกระเพาะ ไข้หวัด มีไข้ ปวดศีรษะ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนขาดงาน เพราะฉะนั้นถ้าพนักงานสุขภาพดี การขาดงานที่เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอนว่าจะส่งให้การทำงานต่อเนื่อง ไม่สะดุด

วิธีการสร้าง Employee Wellness ในที่ทำงาน

หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด

ถ้าไม่เข้าใจต้นตอของปัญหาก็คงยากที่จะแก้ไขได้ สิ่งแรกที่องค์กรสามารถทำได้เพื่อดูแลสุขภาพจิตของพนักงานคือการหาว่ามีปัจจัยอะไรในที่ทำงานที่ทำให้พนักงานเกิดความเครียด
 
ความเครียดในที่ทำงานมีหลายสาเหตุ และบางสาเหตุก็แก้ไขได้ง่ายกว่าสาเหตุอื่นๆ เช่น หากปัญหามาจากออฟฟิศที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน การจัดแสง การเปลี่ยนไปใช้เก้าอี้ Ergonomic การจัดโต๊ะใหม่ให้ไม่เป็นคอกแคบๆ ก็อาจช่วยได้ แต่ถ้าปัญหาคือพนักงานเข้ากับเจ้านายไม่ได้ ก็อาจจะต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น
 
สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดในหมู่พนักงาน ได้แก่:
  • ความเบื่อหน่ายหรืองานที่ไม่ท้าทาย หรือองค์กรไม่มี Dynamic
  • ใช้เวลากับงานนานเกินไป ไม่ Work Smart
  • รู้สึกขาดอิสระในการทำงาน เจ้านายเอาแต่ชี้นิ้วสั่ง
  • อุปกรณ์หรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ได้คุณภาพ
  • การขาดโอกาสในการก้าวหน้าหรือเลื่อนตำแหน่ง (Career Growth)
  • ความไม่มั่นคงในงาน

สนับสนุนให้มีการดูแลสุขภาพกาย

ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงการรักษาสุขภาพได้ดีไปกว่าการออกกำลังกาย นี่คือเหตุผลที่หลายองค์กรเริ่มมีกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายภายในบริษัทเพื่อเป็นการกระตุ้นและช่วยให้พนักงานขยับร่างกายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะในออฟฟิศไปจนถึงการเปลี่ยนมาใช้โต๊ะปรับระดับความสูงให้พนักงานเปลี่ยนมายืนทำงานบ้างเป็นครั้งคราว แต่ถ้าไม่สะดวกให้ทำกิจกรรมในออฟฟิศ องค์กรก็สามารถสนับสนุนให้พนักงานเข้าถึงกิจกรรมภายนอกได้เสมอ เช่น การให้สวัสดิการฟิตเนสรายเดือนหรือ Voucher สำหรับคลาสออกกำลังกายที่สนใจ อย่างที่เงินติดล้อเองก็มีการโฟกัสเป็นพิเศษกับสุขภาพของพนักงาน โดยมีการส่งเสริมกิจกรรมการออกกําลังกายไว้ให้พนักงานเลือกเข้าร่วม เช่น กิจกรรม NTL CLUB หรือชมรมกีฬาต่างๆ และปีนี้เรามีจัดกิจกรรม TIDLOR RUN ที่ส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมวิ่ง 10 กม. (ระยะทางรวมสะสมเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินบริจาค) ทั้งยังมีการจัดหาวัคซีน โปรแกรมตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพต่างๆ ที่ต่างกันตามสภาวะร่างกายของพนักงานแต่ละคน หรือที่ Accenture ก็มีการสนับสนุนให้พนักงานออกกำลังกายมากขึ้นด้วยการให้ส่วนลดแพ็กเกจฟิตเนสทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ทั้งยังมอบรางวัลกับพนักงานที่ทำตามเป้าหมายด้านสุขภาพที่ตัวเองตั้งไว้ได้สำเร็จ
 
จัดโปรแกรมดูแลสุขภาพจิตสำหรับพนักงาน
การลงทุนกับโปรแกรมที่เน้นเรื่องสุขภาพจิตโดยเฉพาะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะจากรายงานของ Alfac บริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ของอเมริกาเผยว่า 70% ของพนักงานที่ลงทะเบียนโปรแกรมดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงานพึงพอใจกับการทำงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้ลงทะเบียน
 ดูแล สุขภาพจิต
การดูแลสุขภาพจิตทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น การให้พนักงานจับคู่กันในระบบบัดดี้เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยและสนับสนุนซึ่งกันและกัน การให้วันลาเพื่อไปดูแลสุขภาพจิตของตัวเองโดยแยกจากวันลาป่วยอีกที รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้พนักงานฝึกจัดการความเครียดด้วยตัวเอง เช่น การจดบันทึก (Journaling) หรือการทำสมาธิ ตัวอย่างของเงินติดล้อ คือการจัดกิจกรรมฮอตไลน์ สายแคร์ ที่ให้พนักงานได้มีโอกาสโทรเข้าไปปรึกษานักจิตวิทยาถึงปัญหา หรือความกังวลที่มีต่อเรื่องงาน และ Microsoft ที่มีโปรแกรม Microsoft CARES เพื่อให้คำปรึกษากับพนักงานที่เผชิญกับปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาครอบครัว พร้อมให้คำแนะนำสำหรับการจัดการความเครียด
 

จัดกิจกรรมสนุกๆ เพื่อเติมพลังให้พนักงาน

การให้พนักงานทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการสร้างห้องสำหรับเล่นเกม การไป Outing ที่ไม่เกี่ยวกับงาน หรือการจัดปาร์ตี้ในที่ทำงานเป็นครั้งคราว ล้วนเป็นวิธีที่ช่วยให้พนักงานผ่อนคลายและได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานนอกเหนือเวลางาน การมีช่วงเวลาสนุกๆ ในออฟฟิศคือส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่สมดุลและไม่เครียดจนเกินไป ทั้งยังทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการทำงานที่ไม่ใช่แค่การนั่งทำงานหน้าจอคอมแล้วกลับบ้าน เช่น ทุกๆ ปีเงินติดล้อจะจัดกิจกรรม NTL Culture BootCamp ให้กับพนักงานทุกๆ ฝ่าย ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ทั้งสนุกและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน หรือจะเล่นใหญ่แบบ Yahoo! ที่ให้พนักงานแบ่งทีมกันทำ Food Truck Challenge โดยทำทุกอย่างตั้งแต่คิดชื่อทีม ออกแบบโลโก้ คิดเมนู ลงมือทำอาหาร ไปจนถึงตกแต่งรถฟู้ดทรัค
 

มีระบบการให้รางวัล

การให้รางวัลเวลาทีมทำผลงานได้ดีจะทำให้ทีมมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น เป็นทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดความเครียดไปพร้อมๆ กัน โดยรางวัลที่ให้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีงบประมาณเท่าไรและผลงานมี Impact มากแค่ไหน ถ้าเป็นผลงานที่มี Impact ต่อองค์กรมากก็ควรได้รับรางวัลใหญ่เพื่อความสมน้ำสมเนื้อ ถ้าเป็นผลงานเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะให้วันลาเพิ่มหนึ่งวันหรือบัตรส่วนลดร้านกาแฟเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน อย่างเช่น ที่ Zappos บริษัทลูกของ Amazon จะมีระบบการให้รางวัลแบบ peer-to-peer หรือระหว่างพนักงานด้วยกันเองที่เรียกว่า Coworker Bonus Program โดยพนักงานสามารถให้โบนัสกับเพื่อนร่วมงานที่ตัวเองเห็นว่าสมควรได้รับเดือนละหนึ่งครั้งเป็นจำนวน 50 เหรียญสหรัฐ
 

สรุป

ความสำเร็จขององค์กรเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘คน’ ในองค์กร ดังนั้นกุญแจสำคัญที่จะทำให้พนักงานของเราสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพคือการใส่ใจดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานเพื่อทำให้องค์กรเป็นสถานที่ที่น่าทำงานและมีความสุข ดังนั้นต้องบอกว่า Employee Wellness ไม่ใช่แค่สวัสดิการเพิ่มเติมที่เป็นแค่เทรนด์เก๋ๆ อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรต้องเติมเต็มให้กับพนักงานให้ได้
 
หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลความเป็นอยู่ของพนักงาน มาเข้าร่วม TIDLOR Culture Wow และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องค่านิยมกับพวกเราได้นะ

สนใจติดต่อ 02-792-1990 หรือกรอกข้อมูลที่นี่เพื่อรอการติดต่อกลับจาก Culture Gangster

ที่มา:

https://www.actiplans.com/blog/employee-well-being
https://www.loophealth.com/post/why-health-and-wellness-is-important-for-employees
https://www.gallup.com/workplace/288539/employee-burnout-biggest-myth.aspx
https://www.meetreflect.com/blog/5-ways-to-improve-employee-wellbeing/
https://www.monster.com/career-advice/article/companies-good-wellness-programs
https://recognizeapp.com/cms/articles/companies-with-the-best-employee-recognition-programs
https://theundercoverrecruiter.com/team-building-methods/
 
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น