"การสอบ ก.พ." เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับคนที่ตั้งใจจะเข้ารับราชการ เป็นการสอบคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชน ดังนั้น การคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุด จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการบริการของภาครัฐ การทำความเข้าใจขั้นตอนการสมัครสอบตั้งแต่ต้น จะช่วยให้คุณวางแผน และเตรียมสอบ ก.พ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบผ่านได้มากยิ่งขึ้นด้วย
การสอบ ก.พ. คืออะไร
การสอบ ก.พ. คือ การสอบคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ เพื่อให้ได้ข้าราชการที่มีคุณภาพ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหน่วยงานราชการต่าง ๆ ของประเทศ การสอบ ก.พ. จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แบ่งออกเป็น 3 ภาค ผู้เข้าสอบจะต้องสอบให้ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ของภาค ก. ก่อน จึงจะสอบในขั้นต่อไปได้ ตามลำดับดังนี้
- ก.พ. ภาค ก. เป็นการสอบวัดความรู้ ความสามารถทั่วไป (มีทั้งแบบ Paper & Pencil (ฝนคำตอบลงบนกระดาษ) และ e-Exam (คลิกเลือกคำตอบบนคอมพิวเตอร์)
- ก.พ. ภาค ข. เป็นการสอบวัดความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
- ก.พ. ภาค ค. เป็นการสอบสัมภาษณ์
คุณสมบัติของผู้เข้าสอบ ก.พ.
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (นับถึงวันปิดรับสมัครสอบ และไม่มีการกำหนดอายุสูงสุด)
- ผู้ที่จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
- ต้องเป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังนี้
- เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
- เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
- เป็นกรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
- เป็นบุคคลล้มละลาย
- เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
การสอบ ก.พ. ภาค ก มีขั้นตอนทั้งหมดยังไงบ้าง
- กรอกข้อมูล และยืนยันการสมัครสอบผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. job3.ocsc.go.th
- อัปโหลดรูปถ่าย และพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน (รูปถ่ายต้องเป็นหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ และถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
- ชำระเงินค่าธรรมเนียมสอบ 330 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน "Krungthai Next" หรือ "เป๋าตัง" (ภายในเวลา 22.00 น. ของวันถัดจากวันที่ยืนยันการสมัครสอบ)
- เปลี่ยนรูปถ่าย (เฉพาะผู้ที่อัปโหลดรูปผิดพลาด อนุญาตให้เปลี่ยนได้เพียง 1 ครั้ง)
- ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ
- ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ ระเบียบเกี่ยวกับการสอบ และพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ
- วันสอบ ก.พ. ภาค ก
- ประกาศรายชื่อผู้สอบ ก.พ. ภาค ก ผ่าน
- ดูผลคะแนนสอบ
- พิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน
อยากสมัครสอบ ก.พ. เงินติดล้อแนะนำให้กรอกข้อมูลล่วงหน้า
ในแต่ละปี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะเปิดให้กรอกข้อมูลล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ job3.ocsc.go.th (ไม่ใช่การกรอกเพื่อสมัครสอบ) เป็นการสำรวจเบื้องต้นว่ามีผู้สนใจสมัครสอบ ก.พ. มากน้อยแค่ไหน ช่วยให้ผู้ที่สนใจตรวจสอบสถานะใบผ่านภาค ก. ของตนเองก่อนวันรับสมัครจริง ว่าคุณมีคุณสมบัติครบถ้วน หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ทำให้การสมัครสอบในวันจริงเป็นไปอย่างราบรื่น และรวดเร็วมากขึ้น
ก.พ. ภาค ก. สอบอะไรบ้าง ต้องได้คะแนนเท่าไหร่ถึงจะผ่านเกณฑ์
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ก.พ. ภาค ก สอบอะไรบ้าง? เป็นการสอบวัดความรู้ ความสามารถทั่วไป มีข้อสอบทั้งหมด 100 ข้อ ให้เวลาในการทำ 3 ชั่วโมง (ใช้เวลาทำเฉลี่ยข้อละ 1.8 นาที) โดยจะแบ่งเป็น 3 วิชา แต่ละวิชาต้องทำคะแนนให้ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด ดังนี้
1. วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (ข้อสอบ 50 ข้อ 100 คะแนน)
ข้อสอบจะแบ่งเป็น 3 ตอน คือ การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา (ภาษาไทย) การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม (คณิตศาสตร์) และการคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ (คณิตศาสตร์)
คะแนนที่ผ่านเกณฑ์
- ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ต้องได้คะแนน 60% ขึ้นไป (60 คะแนน)
- ปริญญาโท ต้องได้คะแนน 65% ขึ้นไป (65 คะแนน)
2. วิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (ข้อสอบ 25 ข้อ 50 คะแนน)
ข้อสอบจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ หลักไวยากรณ์ (Grammar), การสนทนา (Conversation), คำศัพท์ (Vocabulary) และการอ่าน (Reading) ในระดับเบื้องต้น คำศัพท์พื้นฐานทั่วไป
คะแนนที่ผ่านเกณฑ์
- ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และปริญญาโท ทุกระดับชั้นต้องได้คะแนน 50% ขึ้นไป (25 คะแนน)
3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (ข้อสอบ 25 ข้อ 50 คะแนน)
ประกอบด้วยเนื้อหากฎหมาย 6 เรื่อง คือ
- ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ในส่วนของความผิดต่อหน้าที่ราชการ
- พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม
- พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และแก้ไขเพิ่มเติม
- พ.ร.บ. ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
- พ.ร.ฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม
- พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562
คะแนนที่ผ่านเกณฑ์
- ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และปริญญาโท ทุกระดับชั้นต้องได้คะแนน 50% ขึ้นไป (25 คะแนน)
เตรียมสอบ ก.พ. ยังไงให้ได้คะแนนดี
การทำความเข้าใจขั้นตอนการสมัครสอบ และโครงสร้างของข้อสอบข้างต้น จะช่วยให้คุณมีแนวทางเพื่อวางแผนอ่านหนังสือสอบ ก.พ. ได้ดีขึ้น โดยหนังสือสอบ ก.พ. สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือชั้นนำทั่วไป และอย่าลืมฝึกทำข้อสอบเก่า จับเวลาเหมือนทำข้อสอบจริง เพราะข้อสอบ ก.พ. แต่ละปี มักออกในขอบเขตจากข้อสอบเก่า บางข้อเปลี่ยนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น บอกได้เลยว่า ฝึกทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆ มีส่วนช่วยให้สอบได้คะแนนดีอย่างแน่นอน
ตัวอย่างข้อสอบ ก.พ. โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
เมื่อสอบ ก.พ. ภาค ก. ผ่านแล้วทำยังไงต่อ
เมื่อสอบ ก.พ. ภาค ก. ผ่านเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำหนังสือรับรองการสอบผ่านมายืนยันก่อนสมัครสอบ ก.พ. ภาค ข. ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้ และความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่สมัครสอบ โดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัครจะเป็นผู้จัดสอบ
เมื่อสอบผ่านภาค ข. แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การสอบ ก.พ. ภาค ค. เป็นการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการสัมภาษณ์จากหน่วยงานต้นสังกัด นอกจากนี้อาจมีการทดสอบเพิ่มเติม เช่น ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย หรือทดสอบจิตวิทยา ตามความเหมาะสมของแต่ละตำแหน่ง
สรุป เตรียมสอบ ก.พ. ให้พร้อม สอบผ่านได้ในครั้งเดียว
อย่าลืมติดตามประกาศของสำนักงาน ก.พ. อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดข้อมูลสำคัญต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การสอบ ก.พ. จะสอบกี่ครั้งก็ได้ สามารถสมัครสอบใหม่ได้ทุกปี และถ้าสอบผ่านแล้วผลสอบไม่มีวันหมดอายุด้วย ต้องยอมรับว่าหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนตัดสินใจเข้ารับราชการ คือ ความมั่นคงทางการเงิน แต่ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ถ้ากำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน อยากกู้เงินด่วน เงินติดล้อมีบริการสินเชื่อทะเบียนรถ เพียงนำเล่มทะเบียนรถมาเปลี่ยนเป็นเงินก้อนได้ง่าย ๆ ให้คุณมีเงินทุนสำรองไปใช้จ่ายฉุกเฉิน เป็นตัวเลือกที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้เช่นกัน