ไหวตัวให้ทัน มิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอกลวงล้วงข้อมูลส่วนตัว

รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
หมายเหตุ ผ่อนมาแล้วเกินครึ่ง และไม่มีประวัติค้างชำระ ก็ขอสินเชื่อได้
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เงินติดล้อขอสวัสดีปีใหม่ 2565 แก่ผู้อ่านกันทุกท่านเลยนะครับ และเมื่อนึกถึงปีใหม่ เงินติดล้ออยากบอกว่าเริ่มมีเทคโนโลยีหรือดิจิทัลออนไลน์รูปแบบใหม่ ๆ มาให้ใช้งานเพียบเลย เช่น Metaverse ชุมชนโลกเสมือนจริงที่ทำให้ทุกอย่างทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเป็นข้อดี แต่ข้อเสียจากความทันสมัยนี้เป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพออนไลน์แอบแทรกแซงเข้ามาเพื่อส่ง SMS หลอกลวงล้วงข้อมูลส่วนตัว แล้วโจรออนไลน์จะเข้ามาล้วงข้อมูลด้วยเล่ห์เหลี่ยมอันร้ายกาจด้วยวิธีไหนนั้น เงินติดล้อจะบอกให้คุณเข้าใจเองครับ!

สำหรับใครที่รักในการฟัง Podcast เงินติดล้อมีช่องทางให้คุณได้ติดตามความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินสนุกสุดเพลิดเพลินแล้ว โดยใน EP.9 มิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอกขอข้อมูล มีให้บริการทั้งใน Spotify, Podbean

ผู้ดำเนินรายการ :

  • คุณ มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร (Training Specialist, Financial Education)
  • คุณ ภาณุพันธ์ ทองอร่าม (Training Specialist, Financial Education)
SMS หลอกลวง แจ้งที่ไหน ศูนย์ร้องเรียนมิจฉาชีพ

ปี 2564 มีมิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอกลวงล้วงข้อมูลเพิ่มขึ้น!

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ เพราะเงินติดล้อได้อ่านข้อมูลจาก ศูนย์รับเรื่องปัญหาออนไลน์​ 1212 ภายใต้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยระบุใจความอันสำคัญเกี่ยวกับมิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอกลวงล้วงข้อมูลเอาไว้ว่า

ในปี 2563 มีโจรออนไลน์หรือมิจฉาชีพส่งข้อความเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวผู้เคราะห์ร้าย จำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,719 ครั้งต่อเดือน และเมื่อนำไปเทียบกับปี 2564 พบว่า มีการร้องเรียนแจ้งเรื่องมายังศูนย์ร้องเรียนมิจฉาชีพมากถึง 2,221 ครั้งต่อเดือน แปลว่ามีผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มขึ้นเยอะมาก

ดังนั้น เพื่อไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพส่งข้อความหลอกขอข้อมูลส่วนตัว นี่คือวิธีการจับไต๋โจรออนไลน์ตัวแสบว่าใช้กลลวงอะไรบ้างมาล่อให้คุณเผลอตัวบอกข้อมูลเกี่ยวกับตนเองไป

มิจฉาชีพส่งข้อความ SMS ล้วงข้อมูลแบบไหน ทำไมเหยื่อถึงตายใจ?

ภัยไซเบอร์จากโจรออนไลน์มีเยอะมาก ๆ เช่น ซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้สินค้า หลอกให้โอนเงินออนไลน์ หลอกให้ส่งสลิปออนไลน์ แต่อีกรูปแบบหนึ่งในการล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้เคราะห์ร้ายคือ การส่ง SMS หลอกลวงขอข้อมูลส่วนตัวของคุณ แต่ถ้าส่งแค่ข้อความสั้น ๆ ก็คงไม่ได้ไปกระตุ้นความรู้สึกอะไรมากนัก

พวกโจรออนไลน์หัวใสจึงทำการส่งข้อความที่จูงใจผ่าน Line Facebook หรือ SMS หลอกลวงให้คุณตกใจจนไม่มีเวลาไตร่ตรองให้ดีพร้อมเล่นกับความรู้สึกสงสัย กังวลใจ หรือไปกระตุ้นให้ตื่นตระหนก ด้วยการวางกับดักไว้อย่างลิงก์เว็บไซต์ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวลงไป หากคุณทำถึงขั้นตอนนี้ คุณเสียท่าให้โจรออนไลน์แล้ว!

คงสงสัยว่ามีข้อความอะไรบ้างที่กระตุ้นให้รู้สึกสงสัย กังวลใจ หรือตื่นตระหนก คำตอบคือ มิจฉาชีพออนไลน์จะส่ง SMS หลอกลวงที่มาพร้อมกับเรื่องเงินทองที่นำไปสู่การขอข้อมูลส่วนตัว ถึงได้มีคำเรียกที่ว่า ฟิชชิ่ง Facebook มิจฉาชีพล้วงข้อมูลบัตรประชาชน มิจฉาชีพบัตรเครดิต หรือ Line มิจฉาชีพ ฯลฯ ซึ่งข้อความ คือ

  • คุณเป็นผู้โชคดีได้รับวงเงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 200,000 บาท
  • เงินของคุณถูกถอนออกไปจากบัญชี 50,000 บาท
  • คุณมียอดใช้ผ่านบัตรเครดิต 100,000 บาท (ที่แนบเลขบัตรเครดิตของคุณมาด้วย)

และเมื่อเห็นข้อความเหล่านี้ คุณจะเกิดความสงสัยว่าข้อความ SMS ที่ส่งมาใช่เรื่องจริงไหม หรือฉันใช้ไปนั่นแหละแต่จำไม่ได้ว่ากี่บาท ทำให้คุณกดลิงก์ที่แนบมาแบบไม่คิดชีวิต เพราะอยากยืนยันข้อมูลตัวเอง สุดท้ายแล้วมิจฉาชีพออนไลน์หลอกส่ง SMS ก็ได้ข้อมูลส่วนตัวคุณไปแบบฟรี ๆ

มิจฉาชีพหลอกขอข้อมูล ส่ง SMS หลอกลวง

มิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอกลวงมาล้วงข้อมูลอะไรบ้าง?

การโจรกรรมข้อมูลออนไลน์แบบ Phishing คือ การล้วงข้อมูลสำคัญของผู้ใช้งาน ถ้าเปรียบให้เห็นภาพคือการตกปลาโดยใช้เหยื่อล่อ พอเหยื่อติดกับก็เป็นอันเสร็จงาน ซึ่งกับดักที่ใช้ล่อปลาคือ “การส่ง SMS หลอกลวง” ที่มาพร้อมกับข้อความจูงใจให้หลงเชื่อ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อกดลิงก์แล้วกรอกข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด ซึ่งข้อมูลที่มิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS มาหลอกต้องการมาก ๆ คือ

  • เลขที่บัตรประชาชน
  • วันเดือนปีที่เกิด
  • เลขหน้าบัตรเครดิต เลขหลังบัตรเครดิต
  • รหัสผ่านที่เข้าใช้งานแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ
  • รหัส OTP 6 หลัก

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลลับเฉพาะห้ามบอกให้ใครรู้เด็ดขาด โดยทางธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อที่คุณใช้บริการอยู่ ไม่มีนโยบายขอข้อมูลเหล่านี้กับลูกค้าแน่นอนครับ ลองคิดดูง่าย ๆ เลยก็ได้ว่าคุณใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร หมายความว่าธนาคารต้องมีข้อมูลอยู่แล้ว ไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะมาขอข้อมูลส่วนตัวผ่านลิงก์แปลก ๆ ที่ส่งมาทาง SMS ซึ่งก็มีแต่มิจฉาชีพออนไลน์หลอกขอข้อมูลเท่านั้นที่จะทำแบบนี้

ถ้าเจอมิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอก แจ้งเรื่องไปที่ไหนดี

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเจอมิจฉาชีพออนไลน์ส่ง SMS หลอกขอข้อมูลแล้วคุณไหวตัวทัน ก็นับว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าคุณพลาดพลั้งกดลิงก์​ SMS หลอกลวงที่ส่งมาและกรอกข้อมูลไปทุกอย่างแล้ว ควรรีบติดต่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่คุณใช้งานอยู่เพื่อระงับบัตรหรืออายัดการถอน หลังจากนั้นคุณก็รวบรวมหลักฐานอย่างข้อความ SMS หลอกที่แนบลิงก์มาให้กรอกข้อมูล แล้วแจ้งศูนย์ร้องเรียนมิจฉาชีพ 1212 ได้เลยครับ

ตรวจสอบที่ไหนเมื่อได้รับข้อความ SMS หลอกพร้อมลิงก์แปลกปลอม

หลังจากนี้เป็นต้นไป ถ้าได้รับข้อความหรือ SMS ที่เข้าข่ายหลอกลวงล้วงข้อมูล ที่มีเนื้อความล่อลวงชวนให้ตกใจพร้อมแปะลิงก์แปลก ๆ เช่น “ยินดีด้วย! คุณคือผู้โชคดีได้รับเงินกู้สินเชื่อโควิดแบบฟรี ๆ 40,000 บาท คลิกลิงก์เพื่อกรอกข้อมูลเลย” หรือ “บัตรเครดิตของคุณกำลังจะถูกโจรกรรม รีบกรอกข้อมูลยืนยันตัวตนผ่านลิงก์เพื่ออายัด” หากคุณสงสัยว่า ได้จริงเหรอ ใช่หรือเปล่า แน่ใช่ไหม อย่าเพิ่งกดลิงก์นะครับ

ให้คุณติดต่อไปที่ Call Center ของธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อที่คุณใช้บริการอยู่ แล้วสอบถามว่ามีบริการนี้จริงไหมในกรณีที่เป็นข้อความเชิญชวนให้กู้สินเชื่อ หรือสอบถามว่าบัตรเครดิตจะโดนโจรกรรมจริง ๆ ใช่ไหม ในกรณีที่เป็นข้อความทำให้ตกใจจนขาดสติ นั่นก็เพื่อถามไถ่ข้อมูลให้แน่ชัดว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรจาก Call Center สุดท้ายแล้วคุณก็จะได้คำตอบที่แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้วคือ SMS หลอกลวงข้อมูลจากมิจฉาชีพออนไลน์

สรุป

เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ชีวิตง่ายขึ้นถือเป็นเรื่องดี แต่ก็มีช่องโหว่ให้พวกโจรตัวร้าย หรือมิจฉาชีพออนไลน์ตัวแสบส่ง SMS หลอกลวงมาล้วงข้อมูล วิธีแรกที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อคือต้องมีความรู้ทางด้านการเงินหรือ Digital Literacy (ซึ่งความรู้เรื่องการเงินมีให้คุณเรียนรู้ใน Podcast เงินติดล้อ นะครับ) แต่ถ้าพลาดกรอกข้อมูลในลิงก์แปลกปลอมไปแล้ว รีบรวบรวมหลักฐานแล้วติดต่อกับธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อเพื่อขออายัดให้เร็วที่สุด เงินติดล้อหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Podcast​ Ep.9 จะเป็นประโยชน์แด่ผู้อ่านทุกท่านนะครับ!

ติดตามข่าวสารหรือความรู้ทางการเงินได้ที่ เงินติดล้อ Podcast ที่จะช่วยหาทางออกให้กับคุณ และให้ชีวิตคุณหมุนต่อไปได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีสะดุด ผ่านช่องทางเหล่านี้เลยครับ : Spotify, Podbean

รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
หมายเหตุ ผ่อนมาแล้วเกินครึ่ง และไม่มีประวัติค้างชำระ ก็ขอสินเชื่อได้
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น