ทุกวันนี้เราคงได้เห็นข่าวแก๊งค์คอลเซนเตอร์บนสื่อกันอยู่เป็นประจำ และการมาแต่ละครั้งก็จะมาพร้อมกับมุกใหม่ ๆ ของแก๊งค์คอลเซนเตอร์อยู่เสมอ โดยสุดท้ายแล้วไม่ว่าแก๊งค์คอลเซนเตอร์จะใช้มุกไหนก็ย่อมให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้ เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้สามารถสันนิษฐานได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ และคุณกำลังโดนแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกอยู่ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการตั้งสติ อย่าตกใจ อย่าเชื่อใจ อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว และอย่าโอนเงินเด็ดขาด บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับมุกยอดฮิตของแก๊งค์คอลเซนเตอร์ พร้อมวิธีรับมือเพื่อรู้ทันกลโกงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้
ทำความรู้จักกลโกงของแก๊งค์คอลเซนเตอร์ มีอะไรบ้าง
อย่างที่รู้กันดีว่าเหล่าแก๊งค์คอลเซนเตอร์มักจะมาพร้อมกับกลโกงในรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งหลากหลายวิธีที่แก๊งค์คอลเซนเตอร์ได้คัดสรรมาล้วนแล้วจะสร้างความซับซ้อนและทำให้ผู้ที่รับสายเกิดความตกใจมากที่สุด เพื่อให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หลงเชื่อ และโอนเงินให้ ดังนั้น ควรศึกษาหาถึงกลโกงต่าง ๆ ของแก๊งค์คอลเซนเตอร์ เพื่อรู้ทันและป้องกันตัวก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อรายต่อไป
1. หลอกว่าโทรจากธนาคาร
สำหรับวิธีแรกที่แก๊งค์คอลเซนเตอร์นิยมใช้คือการสุ่มโทรไปยังเหยื่อแล้วแจ้งว่าโทรมาจากธนาคาร โดยจะบอกว่าบัญชีของปลายสายบัญชีถูกอายัดหรือบัตรเครดิตมียอดค้างชำระ ต้องไปทำรายการปลดล็อกที่ตู้เอทีเอ็มแล้วหลอกให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ
2. หลอกว่าเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ
เป็นอีกหนึ่งวิธีของแก๊งค์คอลเซนเตอร์คือการหลอกว่าเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ โดยจะอ้างว่ามีผู้อื่นนำชื่อของเหยื่อไปใช้ในการกู้เงินนอกระบบ เหยื่อจะต้องเป็นคนชดใช้หนี้ด้วยการโอนเงินให้มิจฉาชีพ หากไม่โอนจะประจานและทำร้ายร่างกาย
3. หลอกว่าเป็นตำรวจ
สำหรับกลโกงของแก๊งค์คอลเซนเตอร์วิธีนี้จะทำให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนกและตกใจได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการอ้างว่าโทรมาจากสำนักงานตำรวจ หรือในบางรายอาจเปิดกล้องวิดีโอคอลแล้วใส่ชุดตำรวจเพื่อหลอกเหยื่อ แล้วแจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หากไม่อยากถูกดำเนินคดีหรือต้องการให้โทษหนักกลายเป็นเบาจะต้องโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ
4. หลอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล
สำหรับวิธีหลอกให้เหยื่อรู้ว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลใหญ่ เป็นวิธีที่ทำให้เหยื่อเกิดความดีใจจนควบคุมสติไม่ได้ ถ้าหากว่าโดนวิธีนี้ควรจะต้องตั้งสติให้ดีเสียก่อน เพราะถ้าหากเผลอดีใจจนลืมตัวจะถือว่าเข้าทางมิจฉาชีพ เพราะแก๊งค์คอลเซนเตอร์จะแจ้งว่าผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้องโอนเงินจ่ายค่าภาษีมาก่อนถึงจะสามารถรับรางวัลได้
5. หลอกให้ทำงานออนไลน์
หากใครที่มีเบอร์แปลกแล้วโทรเข้ามาแจ้งว่ามีงานสบาย ๆ ให้ทำ สนใจทำหรือไม่ ให้สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซนเตอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมาในแนวทางเดียวกันคือเป็นงานที่สบายและมีรายได้ดี เพียงแค่นั่งดูคลิปในยูทูปเฉย ๆ เพื่อปั๊มยอดวิว แต่ถ้าต้องการเบิกค่าแรงจะต้องโอนค่าธรรมเนียมให้มิจฉาชีพก่อนเท่านั้น
6. หลอกให้ร่วมลงทุน
สำหรับวิธีการหลอกให้เหยื่อร่วมลงทุนเป็นวิธีที่สามารถพบได้บ่อยตามหน้าสื่อต่าง ๆ โดยจะเป็นการเชื้อเชิญให้เหยื่อโอนเงินเพื่อร่วมลงทุน แล้วหว่านล้อมให้เห็นถึงเงินจำนวนมากที่จะได้ตอบแทน เมื่อหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วมิจฉาชีพจะหลอกว่าก่อนที่จะได้กำไรจำนวนมากนี้จะต้องโอนค่าธรรมเนียมเข้ามาเพิ่มเพื่อถอนเงิน เท่ากับว่าเหยื่อจะเสียเงินให้กับมิจฉาชีพโดยที่ไม่ได้เงินตอบแทนกลับมา
7. หลอกว่าได้สิทธิ์คืนภาษี
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เหยื่อหลงเชื่อได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากเป็นการแจ้งว่าโทรมาจากสำนักงานต่าง ๆ แล้วบอกกับเหยื่อว่าคุณได้รับสิทธิ์ในการคืนภาษี แต่ก่อนที่จะได้คืนนั้นจะต้องไปทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มแล้วโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
8. หลอกว่ามีรูปหลุด
สำหรับใครที่มีเบอร์แปลกโทรเข้ามาแล้วแจ้งว่าคุณมีรูปและคลิปหลุด หากไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้หลุดออกไปเผยแพร่สู่สาธารณะหรือโลกอินเทอร์เน็ต ให้เหยื่อคลิกเข้าไปที่ลิงก์ทาง SMS หากหลงเชื่อและกดเข้าไปอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและเงินในบัญชี
วิธีรับมือแก๊งค์คอลเซนเตอร์
เป็นที่แน่นอนว่ากลโกงและวิธีการหลอกล่อของแก๊งค์คอลเซนเตอร์อาจหาวิธีการใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เหยื่อหลงกลได้สำเร็จ จึงทำให้ภายในอนาคตทุกคนอาจจะเป็นเหยื่อรายใหม่ของแก๊งค์คอลเซนเตอร์ได้เสมอ ดังนั้น ควรหมั่นศึกษาและติดตามวิธีรับมือแก๊งค์คอลเซนเตอร์อยู่เสมอ เพื่อรู้ทันและรับมือกับแก๊งค์คอลเซนเตอร์ได้อยู่หมัด โดยวิธีรับมือแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ได้แก่
- ตั้งสติให้ดีก่อนรับสาย และตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ก่อนทุกครั้ง
- ตรวจสอบตัวเองให้ดีว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่แก๊งค์เซนเตอร์พูด
- ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด
- เช็กข้อมูลกับหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างหลังจากที่วางสายในทันที
- ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบเบอร์แปลก
- สถาบันการเงินและภาคราชการไม่มีนโยบายโทรสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล
- หากตกเป็นเหยื่อควรรีบติดต่อไปยังสถาบันการเงินเพื่อขอความช่วยเหลือ
เงินติดล้อขอเตือน! หากตกเป็นเหยื่อกับแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ควรทำอย่างไร
หลังจากที่รู้ตัวแล้วว่าตนเองได้ตกเป็นเหยื่อแก๊งค์คอลเซนเตอร์เรียบร้อยแล้ว ควรตั้งสติก่อนเป็นอันดับแรก รวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ เพื่อติดต่อไปยังสถาบันการเงินเพื่อระงับบัญชี แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งแจ้งเบาะแสไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ติดต่อไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ เพื่อตรวจสอบและบล็อกเบอร์โทรเหล่านั้น
สรุปวิธีรับมือแก๊งค์คอลเซนเตอร์
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์แปลกที่โทรเข้ามาหรือเป็น SMS ส่งข้อความแปลก ๆ มา ควรตั้งสติให้ดีเสียก่อนและพิจารณาการคุยอย่างละเอียด และที่สำคัญไม่ควรกดเข้าลิงก์ที่ไม่รู้จัก เพื่อเป็นการป้องกันตัวก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของแก๊งค์คอลเซนเตอร์ บทความนี้จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้ได้มากที่สุด และถ้าหากว่าคุณกำลังมองหาสินเชื่อทะเบียนรถเก๋ง-กระบะ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยมอบความสะดวกสบายให้เงินในกระเป๋าได้ตลอดเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก: ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรี