การเล่นแชร์มีมาอย่างยาวนาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูง เช่น เจอท้าวแชร์โกง เชิดเงินหนี หรือเจอลูกแชร์เปียแชร์แล้วไม่จ่ายต่อ ใครวางแผนจะเล่น หรือกำลังเล่นแชร์ต้องระวังให้ดี แม้จะมีกฎหมายการเล่นแชร์คอยคุ้มครองลูกแชร์อยู่ ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าเงินของคุณจะปลอดภัย ทางที่ดีที่สุดเงินติดล้อแนะนำให้ออมเงินแบบอื่น หรือเลือกวิธีลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น ฝากเงินธนาคาร ซื้อกองทุนรวม ซื้อประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ฯลฯ
การเล่นแชร์คืออะไร
ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 การเล่นแชร์ คือ การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย
สมาชิกวงแชร์มีใครบ้าง
สมาชิกวงแชร์จะมีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายหลัก ๆ ดังนี้
- ท้าวแชร์ คือ สมาชิกในวงแชร์คนหนึ่งทำหน้าที่รับเงินจากสมาชิกทุกคน มาเก็บรักษาเอาไว้เป็นเงินกองกลาง และจัดการให้สมาชิกได้รับเงินกองกลางตามวิธีที่ตกลงกันไว้
- ลูกแชร์ คือ บุคคลที่ตกลงร่วมกันเล่นแชร์ โดยแต่ละคนมีหน้าที่ต้องส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่ตกลงกัน เข้าทุนกองกลางให้ครบเป็นงวด ๆ ไป เพื่อให้สมาชิกในวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป
การเล่นแชร์ผิดกฎหมายไหม
หลายคนอาจเคยเห็นโฆษณาเชิญชวนให้ร่วมเล่นแชร์ออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่ตามกฎหมายการเล่นแชร์ ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ดังนั้น การร่วมเล่นแชร์ในวงแชร์ต่าง ๆ ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป มีรายละเอียดสำคัญ ๆ ดังนี้
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายการเล่นแชร์
กฎหมายต้องการเข้มงวดกับผู้ที่ตั้งวงแชร์ นายวงแชร์ หรือท้าวแชร์จะต้องตั้งวงแชร์ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เท่านั้น ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามตั้งวงแชร์มากกว่า 3 วง
- ห้ามมีจำนวนสมาชิกวงแชร์ทุกวงรวมกันเกิน 30 คน
- ห้ามมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดทุกวงรวมกันเกิน 300,000 บาท
- ห้ามท้าวแชร์รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากทุนกองกลางเท่านั้น
ถ้าท้าวแชร์ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดนี้ เมื่อลูกแชร์ไม่จ่ายค่าแชร์ ท้าวแชร์จะไม่สามารถฟ้องร้องตามกฎหมายได้ แต่ลูกแชร์ยังมีสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมายได้ถ้าท้าวแชร์หนี หรือมีการล้มวงแชร์เกิดขึ้น
ท้าวแชร์ต้องเป็นบุคคลทั่วไปเท่านั้น
ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ห้ามนิติบุคคล รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นท้าวแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 1 - 3 เท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ดังนั้น นายวงแชร์ หรือท้าวแชร์จะต้องเป็นบุคคลทั่วไป ถ้าคุณถูกเชิญชวนให้ไปร่วมเล่นแชร์กับบริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ เงินติดล้อแนะนำว่าไม่ควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะดีที่สุดครับ
เป็นหนี้แชร์ออนไลน์ทำยังไงดี
สำหรับลูกแชร์ที่เป็นหนี้แชร์ออนไลน์อย่าคิดเบี้ยวค่าแชร์เด็ดขาด เพราะการเล่นแชร์เป็นการทำสัญญาอย่างหนึ่ง (นิติกรรมทางแพ่ง) ถ้าลูกแชร์คิดจะหนีหนี้แชร์ถือว่าเป็นการทำผิดสัญญา อาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
- กรณีที่เคยส่งเงินเข้ากองกลางมาบ้างแล้ว
ถ้าลูกแชร์คิดจะหนีหนี้แชร์ อาจถูกฟ้องเป็นคดีทางแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนทั้งหมด
- กรณีที่ไม่เคยส่งเงินเข้ากองกลางเลย
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า ติดหนี้แชร์จะติดคุกไหม? จะเป็นกรณีที่คุณไม่เคยส่งเงินเข้ากองกลางเลย และได้เปียแชร์ไปแล้ว ถือว่าตั้งใจเชิดเงินหนีตั้งแต่แรก มีเจตนาเปียแชร์แล้วหนี กรณีนี้จะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดนโกงแชร์สามารถแจ้งความที่ไหนได้บ้าง? เงินติดล้อสรุปให้
- แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ (การเล่นแชร์) สายด่วน 1359
- แจ้งความร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กรณีมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 5 ล้านบาท)
สรุป การเล่นแชร์ไม่ผิดกฎหมาย แต่…
การเล่นแชร์มีความเสี่ยงสูง ทั้งเสี่ยงสูญเสียเงิน ยังเสี่ยงเกิดความขัดแย้งกับสมาชิกในวงแชร์ได้ด้วย แม้เล่นแชร์จะไม่ผิดกฎหมาย และหลายคนอาจมองว่าวงแชร์ช่วยให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าเงินของคุณจะปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินทุนจริง ๆ เงินติดล้อขอแนะนำให้เอารถมอเตอร์ไซค์มาขอสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์แทน เพราะปลอดภัยกว่า รถยังอยู่ เงินยังได้ ไม่มีเรื่องให้คุณต้องกังวลใจอย่างแน่นอนครับ