หน้าแรก บทความ ไลฟ์สไตล์ กินเที่ยว เตรียมยื่นภาษีออนไลน์ 2567 กับ Easy E-Receipt (e-Refund)

เตรียมยื่นภาษีออนไลน์ 2567 กับ Easy E-Receipt (e-Refund)

เตรียมยื่นภาษีออนไลน์ 2567 กับ Easy E-Receipt (e-Refund)

หลายคนคงได้เข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีของปี 2566 กันไปแล้ว สำหรับปี 2567 นี้รัฐบาลก็ได้มีโครงการ Easy E-Receipt หรือเดิมที่รู้จักกันในชื่อ “ช้อปดีมีคืน” ให้คุณนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษี 50,000 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้อีกด้วย ประกันติดโล่สรุปให้แล้วครับว่าเงื่อนไขของโครงการนี้จะนำมาลดหย่อนภาษี 2567 ได้อย่างไรบ้างเพื่อให้คุณไม่เสียสิทธิและเตรียมตัวยื่นภาษีออนไลน์ได้อย่างราบรื่น

โครงการ Easy E-Receipt (e-Refund) คืออะไร?

โครงการ Easy E-Receipt (e-Refund)

โครงการ Easy E-Receipt (e-Refund) เป็นโครงการที่ให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นำมาใช้ยื่นภาษีออนไลน์เพื่อลดหย่อนภาษีในปี 2568 โดยสามารถลดหย่อนภาษีตามส่วนที่จ่ายจริงรวม VAT แล้วสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ในกรณีซื้อสินค้าหรือบริการที่มีส่วนลด ก็ให้ลดหย่อนภาษีตามส่วนที่จ่ายจริงหลังหักส่วนลดแล้ว
โดยการซื้อสินค้าและบริการที่จะได้สิทธิ Easy E-Receipt (e-Refund) นั้น ต้องนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร มาประกอบการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งนอกจากโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิตอลมากขึ้นด้วย

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร ประกันติดโล่สรุปให้

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) คือ ใบกำกับภาษีที่อยู่ในรูปแบบของไฟล์เอกสารแทนรูปแบบกระดาษ หรืออยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร เพื่อเป็นหลักฐานในการขายสินค้าและการให้บริการทุกครั้งเมื่อมีการชำระเงิน

เงื่อนไขโครงการ Easy E-Receipt (e-Refund) ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. ซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี 

3. ต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากการซื้อสินค้าและบริการ

4. ซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

5. สินค้าและบริการที่ไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ Easy E-Receipt (e-Refund) มีดังนี้

  • ซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 
  • ซื้อยาสูบ 
  • ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 67 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 67 ก็ตาม
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
  • ค่าซื้อประกันชีวิต ค่าซื้อประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ 
  • ซื้อทองคำแท่ง
  • ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม 
  • ซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า (Gift voucher)
  • ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ 

6. เพียงสังเกตร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ EASY E-Receipt

สัญญาลักษณ์ Easy E-Receipt (e-Refund)

ตัวอย่างวิธีคำนวณ Easy E-Receipt (e-Refund) ลดหย่อนภาษีได้กี่บาท?

หลายคนอาจกำลังเข้าใจผิดว่า ซื้อไปเท่าไหร่ เอาไปลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น เรามาดูตัวอย่างการคำนวณว่าคุณจะลดหย่อนภาษีได้กี่บาท ขึ้นอยู่กับฐานภาษีที่คุณจะต้องจ่ายด้วย แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. กรณีซื้อสินค้าและบริการ ครบ 50,000 บาท
  • หากเสียภาษีในอัตรา 5% จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 5%) = 2,500 บาท
  • หากเสียภาษีในอัตรา 10% จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 10%) = 5,000 บาท
  • หากเสียภาษีในอัตรา 15% จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 15%) = 7,500 บาท
  • หากเสียภาษีในอัตรา 20% จะได้เงินคืนภาษี (50,000 x 20%) = 10,000 บาท
  1. กรณีซื้อสินค้าและบริการ ไม่ครบ 50,000 บาท
  • หากซื้อสินค้าและบริการไป 20,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 5% จะได้เงินคืนภาษี (20,000 x 5%) = 1,000 บาท
  • หากซื้อสินค้าและบริการไป 30,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 5% จะได้เงินคืนภาษี (30,000 x 5%) = 1,500 บาท

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนยื่นภาษีออนไลน์ 2567

คนไทยทุกคนที่มีรายได้รวมทั้งปีตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยคุณสามารถยื่นภาษีรายได้ของปี 2566 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 หากยื่นภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร อีไฟล์ลิ่ง (E-FILING) จะได้ถึง 8 เมษายน 2567 มีขั้นตอนดังนี้

1. กด ยื่นแบบออนไลน์

2. เข้าสู่ระบบด้วยการกรอกเลขบัตรประชาชน พร้อมใส่รหัสผ่าน หากยื่นภาษีครั้งแรกให้กด สมัครสมาชิก

3. ยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP 

4. กด ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91

5. กรอกข้อมูลรหัสหลังบัตรประชาชน กด ตรวจสอบข้อมูล

6. ระบบจะแสดงข้อมูลลดหย่อนต่าง ๆ ให้อัตโนมัติ กดตรวจสอบข้อมูลสำหรับยื่นแบบ

7. เลือกข้อมูลที่จะใช้ในการยื่นภาษี กด เริ่มยื่นแบบ

8. ระบบจะแสดงหน้ารายได้ต่าง ๆ โดยแยกตามแหล่งที่มาของรายได้ เช่น รายได้จากเงินเดือน, รายได้จากฟรีแลนซ์, รายได้จากทรัพย์สิน, รายได้จากการลงทุน และรายได้จากมรดก หากเป็นพนักงานประจำที่มีรายได้ช่องทางเดียวจากเงินเดือน ให้เลือก ระบุข้อมูลช่อง 40(1)

9. กรอกรายได้ทั้งปีตามใบ 50 ทวิ

10. ตรวจสอบค่าลดหย่อนทั้งหมด 

11. ตรวจสอบรายละเอียด กด ยืนยัน

วิธีคำนวณภาษีเบื้องต้นด้วยตัวเอง

สำหรับใครที่อยากรู้ว่าเราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ประกันติดโล่มีวิธีคำนวณภาษีเบื้องต้นด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ก่อนอื่นให้คำนวณเพื่อหาเงินได้สุทธิออกมาก่อน ตามสูตรดังนี้

รายได้รวมทั้งปี - รายจ่ายทั้งปี - ค่าลดหย่อนต่าง ๆ = เงินได้สุทธิ

จากนั้นจึงนำจำนวนเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได เพื่อหาว่าเราจะต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ ตามสูตรดังนี้

เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

สรุป โครงการ Easy E-Receipt (e-Refund) ลดหย่อนภาษีได้

สำหรับใครที่มีรายได้รวมต่อปีมากกว่า 150,000 บาทขึ้นไป อย่าลืมเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt (e-Refund) ให้คุณลดหย่อนภาษี 50,000 บาท ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย หากคุณกำลังมองหาสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม การซื้อประกันสุขภาพนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลก็มีค่าชดเชยรายวันให้ เบี้ยประกันสุขภาพยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่าอย่างแน่นอนครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก: ฐานเศรษฐกิจ

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น