หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ใช้จ่ายเกินตัว ปัญหา Young Gen ที่องค์กรธุรกิจต้องร่วมแก้

ใช้จ่ายเกินตัว ปัญหา Young Gen ที่องค์กรธุรกิจต้องร่วมแก้

06 มิถุนายน 2565
ใช้จ่ายเกินตัว ปัญหา Young Gen ที่องค์กรธุรกิจต้องร่วมแก้

เทรนด์ที่ผู้คนต่างลุกขึ้นมาใช้จ่ายเงินกันราวกับว่าจะไม่มีพรุ่งนี้อีก

และการที่คนรุ่นใหม่เริ่มกู้ยืมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย รวมทั้งใช้จ่ายผ่านวงเงินเครดิตที่สูงและบ่อยขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะไม่มีเงินเก็บ เป็นปัญหาที่ไม่ได้มีเฉพาะสังคมไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้นทุกวัน

หากมองจากมุมของธุรกิจที่หวังเพียงผลกำไร ยิ่งมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เร็วขึ้น และง่ายขึ้นก็ยิ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

แต่ในมุมมองของผู้นำธุรกิจที่ใส่ใจกับพนักงาน ใส่ใจกับความเติบโตขององค์กรในระยะยาว และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมกลับมองต่างออกไป

เช่นที่คุณหนุ่ม ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแสดงความเห็นในฐานะวิทยากรในงาน RESHAPE 2021 เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในหัวข้อ Frictionless Consumption and Unintended Consequences ร่วมกับผู้นำองค์กรชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก คุณหนุ่มได้ยกกรณีตัวอย่างของพนักงาน ที่จุดประกายให้เงินติดล้อซึ่งมีเป้าหมายให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มคนฐานราก ต้องหันมาสนใจพฤติกรรมใช้จ่ายเกินความจำเป็นของกลุ่มคนที่เข้าถึงบริการของธนาคารว่า

“ที่เงินติดล้อ เรามีโครงการช่วยพนักงานวางแผนการเงิน ซึ่งทำให้เราสังเกตเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินความจำเป็นในกลุ่มพนักงานอายุน้อยของเราในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นเรื่องที่ผมกังวล

เช่นกรณีของโจ (ชื่อสมมุติ) อายุ 32 ปี ที่มีหนี้อยู่ประมาณ 1,700,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท โดยหนี้ทั้งหมดของโจ มาจากการใช้จ่ายเกินจำเป็น เช่น ซื้อมือถือใหม่ เที่ยวแบบกินหรูอยู่แพง และซื้อของขวัญแบรนด์เนมให้ครอบครัว และนอกจากจะมีหนี้จากการรูดบัตรเต็มวงเงินไปหลายใบ โจยังเป็นหนี้นอกระบบซึ่งเป็นการขุดหลุมและพาตัวเองไปสู่หลุมพรางของการเป็นหนี้”

เคสพนักงาน-การใช้จ่ายเกินความจำเป็น

ที่มาของเทรนด์ ‘เสพติดการบริโภค ในโลกออนไลน์’

เรื่องของโจและการใช้จ่ายเกินตัวของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น คุณหนุ่มวิเคราะห์ว่าเป็นเทรนด์ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมเสพติดการบริโภคในโลกออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย

“ทุกวันนี้เราทุกคนรู้ว่าบริษัทต่าง ๆ ใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในการวางโฆษณามากมายเพื่อให้เข้าถึงลูกค้า แต่ที่แย่กว่าก็คือ ‘อิทธิพลจากคนรอบข้าง’ ซึ่งไปกระตุ้นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการมีเหมือนคนอื่น

และเมื่อถูกกระตุ้นให้อยากได้ อยากมีโดยไม่รู้ตัว ผ่านการเห็นภาพประสบการณ์ดีๆ ของคนอื่นที่เรียกกันว่า Super Moment ซึ่งเป็นภาพที่ผ่านการคัดเลือก ตัดต่อ และเสริมแต่งแล้ว พอเลื่อนไปอีกนิดก็จะเจอเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ ที่สามารถเข้าไปอ่านรีวิว เปรียบเทียบราคาสินค้าที่เพิ่งเห็นในรูปที่เพื่อนของคุณแชร์

Super Moment

บริษัทชอปปิ้งออนไลน์เหล่านี้เก่งในการทำให้การซื้อสินค้าเป็นเรื่องง่าย และรู้ว่ายิ่งทำให้ประสบการณ์การซื้อสะดวกสบายมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งจ่ายเงินซื้อมากขึ้นเท่านั้น

นั่นยังไม่พอ…เพราะยังมีบริษัทบริการส่งด่วนหรือส่งภายในวันเดียวกันเข้ามาช่วยทำให้ข้อจำกัดและอุปสรรคในการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เคยมีหายไป

และสุดท้ายคือบริษัทให้บริการทางการเงิน ซึ่งทำให้การมีเงินไม่พอซื้อสินค้าที่ต้องการไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ด้วยบริการผ่อนจ่ายได้หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”

สิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่การหาคนผิด

คำถามสำคัญของคุณหนุ่มในเรื่องนี้ก็คือ…การพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าของธุรกิจเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น โซเชียลมีเดีย ช้อปปิ้งออนไลน์ ธุรกิจขนส่งและธุรกิจบริการทางการเงิน ล้วนมีส่วนสนับสนุนความต้องการในการบริโภคและการกู้ยืมเงินที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกอยู่ในเวลานี้ใช่หรือไม่?

แต่ก่อนจะโยนความผิดไปให้ใคร คุณหนุ่มได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องโดยธรรมชาติของสมองมนุษย์ที่มักเข้าสู่โหมดพัก และมักเลือกเส้นทางที่ง่ายที่สุด

“วงการธุรกิจต่างรู้เรื่องนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว นักออกแบบ UX UI รวมไปถึง นักออกแบบทางเลือก (Choice Architect) จึงถูกจ้างมาเพื่อออกแบบเส้นทางสร้างประสบการณ์ของผู้บริโภคให้สะดวกสบายและง่ายที่สุด และถ้าสมองอยู่ในภาวะไร้การควบคุม ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะทนต่อแรงกระตุ้นที่เกิดขึ้นได้”

ถึงเวลา ‘กระตุกต่อมคิด’ ผู้บริโภค และ ‘กระตุ้นจรรยาบรรณ’ ของภาคธุรกิจ

สำหรับแนวทางในการช่วยคนรุ่นใหม่ไม่ให้ตกเป็นหนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นนั้น คุณหนุ่มเสนอความเห็นว่า ควรเป็นความร่วมมือกันขององค์กรธุรกิจในการสร้าง ‘ความตระหนัก’ ด้วยการตั้งใจสร้าง ‘อุปสรรค’ ที่จะช่วยปกป้องผู้บริโภค

ในเวที RESHAPE 2021 คุณหนุ่มยังได้แชร์แคมเปญที่เงินติดล้อเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2019 ผ่านคลิปวิดีโอ ‘คิดให้ดี  ก่อนเป็นหนี้’ และผ่านหนังสือ ‘25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย/25 วิธีคิดให้ชีวิตสบายๆ’ ซึ่งได้จุดประกายให้คนไทยตระหนักถึงผลร้ายเกินคาดคิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินจำเป็นในวงกว้าง

25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย 25 วิธีคิดให้ชีวิตสบายๆ

“วิดีโอ ‘คิดให้ดี ก่อนเป็นหนี้’ ในแคมเปญนี้ของเรา ทำให้คนหลายล้านคนไม่เพียงแต่กดไลค์ แต่ยังช่วยกันแชร์วิดีโอนี้เพื่อใช้เป็นสื่อกลางส่งต่อความห่วงใยให้กับคนที่พวกเขารักและเป็นห่วงเรื่องพฤติกรรมการใช้เงิน
และสิ่งที่ดียิ่งกว่าก็คือ บริษัทให้บริการสินเชื่อรายอื่น ๆ ในประเทศไทย ก็เริ่มมีการให้คำแนะนำและสื่อสารคำเตือนในประเด็นเดียวกันนี้มากขึ้น

แน่นอนว่าเรายังไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ครบถ้วน แต่ขณะที่ปัญหานี้กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่าการส่งคำเตือนให้ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมตนเองเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย

และหากผู้นำในองค์กรธุรกิจตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจระหว่างไล่ตามเป้าหมายที่เป็นผลกำไร พร้อมไปกับตระหนักว่าการมีความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องสำคัญ เราก็จะสามารถช่วยคนรุ่นหลังให้ไม่ต้องตกหลุมพรางของการเป็นหนี้ที่มาจากการใช้จ่ายเกินตัวได้”

จรรยาบรรณในการทำธุรกิจยุคใหม่ จึงอาจเป็นแสงส่องทางช่วยแก้ปัญหาการใช้เงินของคนในยุคนี้ ให้มีสติในการ ‘คิดก่อนซื้อ’

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น