หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ บทบาทของไมโครไฟแนนซ์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน

บทบาทของไมโครไฟแนนซ์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน

26 มกราคม 2564
บทบาทของไมโครไฟแนนซ์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน

เงินติดล้อ ในฐานะบริษัทที่ให้บริการด้านไมโครไฟแนนซ์ ผ่านการให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ และการเป็นโบรกเกอร์ประกันภัย ที่มุ่งสร้างการเข้าถึงบริการทางเงินที่โปร่งใสและเป็นธรรม สำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ เราเข้าใจดีว่าสถาบันไมโครไฟแนนซ์มีบทบาทและความสำคัญอย่างไรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน เราจึงมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นที่ยอมรับ และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการพยายามส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของไมโครไฟแนนซ์

Eurasian Union of Scientists ได้ให้คำจำกัดความว่า "ไมโครไฟแนนซ์ คือ การจัดหาบริการทางการเงินที่หลากหลาย เช่น การฝากเงิน การให้กู้ยืมเงิน การชำระเงิน การโอนเงินและการประกันภัยให้กับคนยากจนและครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รวมถึงกิจการขนาดเล็กของพวกเขาด้วย"

บทบาทของไมโครไฟแนนซ์ (สถาบันการเงินระดับจุลภาค)

ไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) คือ ธนาคารและผู้ให้กู้ยืมเงินที่ให้บริการทางการเงินระดับจุลภาค เช่น การฝากเงิน การให้กู้ยืมเงิน การชำระเงิน การโอนเงิน และการประกันภัย ความสำคัญของไมโครไฟแนนซ์ คือ การให้บริการทางการเงินซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากแก่คนยากจนและครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการและธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งอาจเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินดังกล่าวจากสถาบันการเงินประเภทอื่น

บทบาทของไมโครไฟแนนซ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การตอบสนองความต้องการของกลุ่มประชากรผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยสรุปแล้วจุดมุ่งหมายของไมโครไฟแนนซ์ คือการจัดหาเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอื่น ๆ ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะคนยากจนและคนเกือบจน (Near-poverty) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

สถาบันไมโครไฟแนนซ์คืออะไร

จากการประเมินของธนาคารโลก ประชากรประมาณ 1.7 พันล้านคนทั่วโลกเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ธนาคารโลกเป็นองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 189 ประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อลดปัญหาความยากจนและแบ่งปันความมั่งคั่งไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา สถาบันการเงินระดับจุลภาคหรือไมโครไฟแนนซ์ทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินแก่ผู้ด้อยโอกาสในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ซองแบ ลี เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการลงทุนของ Calvert Impact Capital, Inc. บริษัทด้านการลงทุนที่ไม่แสวงหาผลกำไรตั้งอยู่ที่เมืองเบเธสดา รัฐแมริแลนด์ ซึ่งทำงานร่วมกับนักลงทุนในการจัดหาเงินทุนให้กับแหล่งชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกได้ให้ความหมายของสถาบันไมโครไฟแนนซ์ ไว้ว่า

"...สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเงินในวงเงินไม่สูงแก่ประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ตามปกติ คำจำกัดความของคำว่า 'วงเงินไม่สูง' นั้นขึ้นอยู่กับบริบททางภูมิศาสตร์ ในประเทศอินเดีย ไมโครไฟแนนซ์ หมายถึง เงินกู้ยืมในวงเงินน้อยกว่า 1 แลกห์ (Lakh) ซึ่งมีค่าประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560) ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. SBA) ให้คำจำกัดความของคำว่าไมโครไฟแนนซ์ว่าคือเงินกู้ยืมในวงเงินน้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ"

เว็บไซต์ MicrofinanceInfo.com ระบุว่า สถาบันการเงินหลายแห่ง เปิดให้บริการทางการเงินแบบไมโครไฟแนนซ์ ยกตัวอย่างเช่น เครดิตยูเนี่ยน ธนาคารพาณิชย์ องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ และแม้กระทั่งธนาคารของรัฐบาลเอง สถาบันการเงินเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นไมโครไฟแนนซ์เช่นกัน เว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า เป้าหมายของสถาบันไมโครไฟแนนซ์ซึ่งเปรียบได้กับบทบาทและหน้าที่ของระบบการเงินระดับจุลภาคประกอบด้วย

  • การทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินที่ดีซึ่งช่วยพัฒนาแหล่งชุมชนให้ยั่งยืน
  • การระดมทรัพยากรเพื่อให้บริการทางการเงินและการสนับสนุนอื่น ๆ แก่คนยากจนโดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อการสร้างรายได้ที่ช่วยแบ่งเบาปัญหาความยากจน
  • การเรียนรู้และประเมินผลเพื่อหาวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนได้เร็วขึ้น
  • การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระให้แก่ผู้ด้อยโอกาส
  • การฝึกอบรมคนยากจนในชนบทให้มีทักษะพื้นฐานและส่งเสริมคนเหล่านั้นให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อการมีส่วนร่วมในการจ้างงานและการสร้างรายได้ในชนบท

บริษัทไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance Company) คืออะไร

คำจำกัดความของบริษัทไมโครไฟแนนซ์ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในอดีตความสำคัญของไมโครไฟแนนซ์ คือ การมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาความยากจน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Investopedia ระบุว่า "เป็นช่วงเวลายาวนานหลายปีที่จุดประสงค์หลักของไมโครไฟแนนซ์คือการช่วยเหลือสังคม ดังนั้น สถาบันไมโครไฟแนนซ์ในรูปแบบเดิมจึงประกอบด้วย องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-governmental Organizations) หรือธนาคารที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์พิเศษในการให้บริการไมโครไฟแนนซ์และธนาคารของภาครัฐเท่านั้น"

ปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการไมโครไฟแนนซ์ต่างๆ เป็นองค์กรที่ผสมผสานกันระหว่างธนาคารของรัฐบาล องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรธุรกิจ และผู้ให้กู้ยืมเงินรายใหญ่ที่มุ่งเน้นในการตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้านับล้านรายทั่วโลกที่อยู่ในฐานะยากจนหรือเกือบจน

เป้าหมายของไมโครไฟแนนซ์คืออะไร

ING บริษัทด้านการเงินระดับโลกซึ่งมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในทวีปยุโรประบุว่า เป้าหมายของไมโครไฟแนนซ์คือการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน "ผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนด้วยช่องทางตามปกติ โดยมีสาเหตุจากการมีรายได้น้อย การมีรายได้จากอาชีพนอกเหนือแบบแผน (Irregular) และการมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบให้เข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสมเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ การสะสมสินทรัพย์ด้วยการออมเงิน การจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่ครอบครัว และการป้องกันอันตรายจากความเสี่ยงในการดํารงชีวิตประจำวัน เช่น การเจ็บป่วย การเสียชีวิต โจรกรรม ภัยธรรมชาติ

ข้อมูลจาก ING ยังระบุว่า ไมโครไฟแนนซ์ได้รับการพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศชื่อ มูฮัมหมัด ยูนูส ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "นายธนาคารเพื่อคนจน" (the Banker of the Poor) ในปี พ.ศ. 2519 มูฮัมหมัด ยูนูส ได้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ขึ้นในประเทศบังกลาเทศ เพื่อให้บริการ "ไมโครเครดิต" (Microcredit) ซึ่งหมายถึงการให้เงินกู้ยืมแก่คนยากจน ก่อนหน้านั้นธนาคารทั่วไปมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง รวมทั้งลูกค้าที่มีฐานะร่ำรวย แนวความคิดของ มูฮัมหมัด ยูนูส ในเรื่องไมโครเครดิตได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก จนนำมาสู่การก่อตั้งสถาบันไมโครไฟแนนซ์ด้วยหลักการคล้าย ๆ กันขึ้นทั่วโลก และได้พัฒนาเป็นระบบการเงินไมโครไฟแนนซ์ดังเช่นปัจจุบัน

ด้วยความพยายามทั้งหมดนี้ มูฮัมหมัด ยูนูส และธนาคารกรามีนจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี พ.ศ. 2549 โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลได้ระบุว่า การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพื่อให้เกียรติแก่ มูฮัมหมัด ยูนูส และธนาคารของเขา" ในความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากระดับล่าง" (for their efforts to create economic and social development from below) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลให้ความเคารพต่อหลักการของ มูฮัมหมัด ยูนูส ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนระดับรากหญ้าขึ้นไปนั่นเอง

ทั้งนี้ ING ให้คำอธิบายความสำคัญและจุดประสงค์ของไมโครไฟแนนซ์ ในแง่มุมการพัฒนาการจากอดีตว่า "ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไมโครไฟแนนซ์ได้รับการพัฒนาจนครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เช่น การฝากเงิน การประกันภัย การชำระเงิน และการโอนเงิน" ความหมายหลักของไมโครไฟแนนซ์ยังคงอ้างอิงการให้กู้ยืมเงินในวงเงินไม่สูงแก่คนยากจน เพียงแต่ปัจจุบันไมโครไฟแนนซ์ได้ครอบคลุมบริการทางการเงินที่หลากหลายกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่หลักการนี้เพิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดย มูฮัมหมัด ยูนูส โดยระบุว่า ปัจจุบันไมโครไฟแนนซ์ หมายถึงหรืออ้างอิงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้รับการออกแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้มีรายได้น้อย เช่น สินเชื่อแบบกลุ่ม และการค้ำประกันแบบกลุ่ม นอกจากนี้ ING ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

"เป้าหมายหลักของไมโครไฟแนนซ์ คือ ครัวเรือนที่มีฐานะต่ำหรือสูงกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Threshold – มีรายได้ไม่เกิน 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) เพียงเล็กน้อย โดยผู้กู้ยืมเงินส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แม้ว่าหลักการไมโครไฟแนนซ์จะได้รับการพัฒนาจากประเทศแถบซีกโลกใต้ เพื่อช่วยเหลือพ่อค้า นักธุรกิจ หรือชาวไร่ชาวนาที่มีกิจการขนาดเล็กให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หลักการนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา"

ประโยชน์ของไมโครไฟแนนซ์ คืออะไร

ไมโครไฟแนนซ์มีประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Vitanna.org และองค์กร Plan International ระบุว่าประโยชน์ของไมโครไฟแนนซ์ประกอบด้วย

  • การช่วยให้ผู้คนจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่ครอบครัว เว็บไซต์ Vitanna.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านการเงินระบุว่า ไมโครไฟแนนซ์เป็นช่องทางที่ช่วยให้ครัวเรือนเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้
  • การช่วยให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เว็บไซต์ Vitanna.org ระบุว่า "ไมโครไฟแนนซ์ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่ให้กู้ยืมเงินในวงเงินที่ไม่สูง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ในเวลาอันรวดเร็ว" Plan International ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กและความเสมอภาคทางเพศสำหรับผู้หญิงได้ระบุว่า "ธนาคารทั่วไปจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ที่ไม่มีสินทรัพย์หรือมีสินทรัพย์น้อย และโดยทั่วไปจะไม่ปล่อยสินเชื่อในวงเงินไม่สูงลักษณะเดียวกันกับสถาบันไมโครไฟแนนซ์ ทั้งนี้ ไมโครไฟแนนซ์ อยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่ว่าแม้แต่เงินกู้ยืมจำนวนน้อยก็หยุดวงจรความยากจนได้"
  • การช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่มักจะได้รับการมองข้าม เว็บไซต์ Vitanna.org ระบุว่า ประมาณ 95% ของเงินให้กู้ยืมของสถาบันไมโครไฟแนนซ์เป็นการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้หญิง คนพิการ ผู้ว่างงาน แม้กระทั่งผู้ที่มาขอกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไมโครไฟแนนซ์ช่วยให้ผู้คนดำเนินชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการได้
  • การสร้างโอกาสการลงทุนในอนาคต ไมโครไฟแนนซ์หยุดวงจรความยากจนได้ด้วยการให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้รับการตอบสนองแล้ว ผู้คนจะลงทุนปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และแม้กระทั่งการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็ก
  • การสร้างความยั่งยืน เว็บไซต์ Vitanna.org ระบุว่า "มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากวงเงินกู้ยืมระดับประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่กระนั้นเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ก็เพียงพอสำหรับผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่จะดึงตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจน" Plan International ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่าเงินกู้จำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐเพียงพอที่จะเริ่มธุรกิจขนาดเล็กในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการและครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจนได้
  • การสร้างงาน ไมโครไฟแนนซ์ช่วยให้ผู้ประกอบการในชุมชนที่ยากจนและประเทศกำลังพัฒนาสร้างโอกาสในการมีงานทำให้แก่ผู้อื่นได้
  • การส่งเสริมการออม เว็บไซต์ Vitanna.org ระบุว่า "เมื่อความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้รับการตอบสนองแล้ว โดยทั่วไปผู้คนจะเก็บออมเงินส่วนที่เหลือไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินในอนาคต"
  • การสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแม้ว่าระดับรายได้จะคงเดิม ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในโครงการไมโครไฟแนนซ์ประกอบด้วย การได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น ระดับการบริโภคมากขึ้น และท้ายที่สุดก็คือ สภาพเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้นแม้เป็นเพียงระดับชุมชนขนาดเล็กที่ยากจนก็ตาม
  • การนำมาซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น Plan International ระบุว่า "ไมโครไฟแนนซ์มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิง ซึ่งโดยสถิติแล้วจะมีความเป็นไปได้ในการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้น เงินกู้ยืมเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้ผู้หญิงยืนหยัดด้วยตนเองได้แล้ว ในมุมมองของผู้ให้กู้ยืมเงินยังถือเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยกว่าอีกด้วย
  • การส่งเสริมการศึกษา Plan International ระบุว่า ครอบครัวที่ได้รับบริการทางการไมโครไฟแนนซ์ จะมีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะให้ลูกหลานออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

แม้การเงินระดับไมโครไฟแนนซ์ อาจเกี่ยวข้องกับเงินกู้ยืมและบริการทางการเงินในวงเงินไม่สูงนัก แต่ก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในช่วงระยะเวลากว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการเงินสดหรือวงเงินเครดิตเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยเพื่อโอกาสทางธุรกิจ ไมโครไฟแนนซ์อาจเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าวได้ และสำหรับผู้ให้กู้ยืมเงินและธนาคารขนาดเล็กที่มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ การเข้าสู่ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ แม้เป็นเพียงการเริ่มต้นจากการปล่อยสินเชื่อหรือการให้บริการทางการเงินในวงเงินก้อนเล็ก ๆ แต่นับได้ว่าเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจอันยิ่งใหญ่ที่มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลกนั่นเอง

ที่มา : smallbusiness.chron.com

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น