หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ เปลี่ยนทุก ‘โอกาส’ ให้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ

เปลี่ยนทุก ‘โอกาส’ ให้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ

22 กันยายน 2565
เปลี่ยนทุก ‘โอกาส’ ให้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ

เชื่อว่าหลายคนต่างเคยพบเจอกับโอกาส เคยได้รับโอกาส แต่ไม่รู้ว่าจะใช้โอกาสที่มีเหล่านั้นเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนพยายามหาคำตอบ

ที่ ‘เงินติดล้อ’ องค์กรที่เชื่อเรื่องการให้โอกาสก็พยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้เช่นกัน โดยชวน ‘ผู้นำระดับผู้จัดการภาค’ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ภาคบอล’ สุรสิทธิ์ อ้นกอง ผู้จัดการภาค BW ในฐานะ ‘ต้นแบบ’ ของชาวเงินติดล้อ’ ที่สามารถใช้โอกาสนำพาไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ มาร่วมแบ่งปันกลยุทธ์และแนวคิด ในกิจกรรม Branch Leadership Offsite Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำทีมบริหารงานสาขาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และเปิดโอกาสให้เหล่าผู้นำได้แชร์ประสบการณ์พร้อมแลกเปลี่ยนคำแนะนำดีๆ ระหว่างผู้นำชาวเงินติดล้อได้อย่างน่าสนใจ

พร้อมเรียนรู้และพร้อมเปลี่ยนแปลง

แนวคิดแรกที่ ‘ภาคบอล’ เน้นย้ำสำหรับคนที่ต้องการเติบโตบนเส้นทางการทำงานก็คือ เมื่อได้รับโอกาสต้องพร้อมเรียนรู้และเปิดใจ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเล่าถึงชีวิตการทำงานก่อนหน้านี้ที่ผ่านมาหลากหลาย ตั้งแต่เคยเป็นอดีตพนักงานบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด เป็นลูกจ้างบริษัททนายความ เป็นเลขาอดีตนายกเทศมนตรี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

กระทั่งมาสมัครงานที่เงินติดล้อ และได้รับโอกาสและคำแนะนำ จึงเติบโตจาก ‘พนักงานสินเชื่อ’ ขึ้นมาเป็น ‘ผู้จัดการสาขา’ หลังจากทำงานได้เพียง 2 ปี

“คนที่ให้โอกาสและสอนผมตั้งแต่เริ่มทำงานที่เงินติดล้อก็คือ ‘ภาคนาท’ นาทพิษณุ ดีรัตน์ ผู้จัดการภาค N ที่ไม่เพียงสอนให้ผมเรียนรู้งาน แต่ยังสอนให้ผมเปลี่ยนตัวเองจากคนพูดมาก ฟังน้อย มาเป็นคนพูดน้อย ฟังเยอะขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมเติบโตมาถึงวันนี้”

อีกบทเรียนสำคัญของ ‘ภาคบอล’ ที่ทำให้พลาดจนไม่ได้รับโปรโมทให้เป็นผู้จัดการพื้นที่ คือการมาสัมภาษณ์ไม่ทันเวลา

“ผมมาจากบ้านนอกและส่วนใหญ่ก็ทำงานในพื้นที่ไม่ค่อยเข้ากรุงเทพ พอมาถึงแท็กซี่ก็พาผมหลงทาง ทำให้ตกสัมภาษณ์ แต่ผมก็ได้รับโอกาสอีกครั้งในปีต่อมา และทำให้ได้บทเรียนว่าต้องวางแผนการเดินทางใหม่เพื่อให้มาถึงก่อนเวลา”

กล้าเผชิญปัญหาและความท้าทาย

หลังรับตำแหน่ง ‘ผู้จัดการพื้นที่’ ได้ไม่นาน ‘ภาคบอล’ ก็ได้รับโอกาสให้ทำงานที่ท้าทาย คือการไปช่วยแก้ปัญหาภายในสาขาของเงินติดล้อที่จังหวัดนครสวรรค์

“เวลานั้นนครสวรรค์คือพื้นที่ที่ไม่มีใครอยากไป เพราะมีแต่สาขาที่ทำยอดไม่ได้ และมีแต่คนลาออก แต่ผมตัดสินใจไปเพราะอยากลอง และอยากเอาชนะความท้าทาย ผมจึงกลายเป็นผู้จัดการพื้นที่คนที่ 8 ในรอบ 8 ปี ที่ไปดูแลพื้นที่นครสวรรค์

ปัญหาแรกที่ผมรับรู้คือ ‘ผู้จัดการฝึกหัด’ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เวลานั้นไม่ได้ออกตลาด แต่นั่งรอที่สาขาให้ลูกค้ามาหา และยังบริหารงานในสาขาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาต่อมาคือพนักงานเกิดปัญหาในการทำงานร่วมกันจึงสร้างผลงานไม่ได้ และพอยอดไม่ถึงเป้า รายได้ก็น้อยลงหรือไม่มีเลย สิ่งที่ตามมาก็คือการลาออก ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการสอนงานไม่ทั่วถึง จึงทำให้พนักงานหลายๆ คนไม่ได้รับโอกาสในการเติบโต”

สร้างมุมมองใหม่

เมื่อรู้ปัญหา กลยุทธ์ที่ภาคบอลนำมาใช้ก็คือการ ‘สร้างมุมมองใหม่’

“ผมเริ่มจากการชวนน้องพนักงานที่ไม่เคยไปหาลูกค้าออกไปพูดคุยกับลูกค้า และแนะนำช่องทางการหาลูกค้าเพิ่มเติมด้วยการพาทีม ไปพบผู้จัดการแบงค์กรุงศรีฯ เพื่อขอเคสลูกค้าที่แบงค์ไม่อนุมัติ เพราะหน้าที่ของผมคือต้องสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้น้องๆ สามารถทำยอดได้ พร้อมกับต่อยอดโอกาสการเติบโตเพื่อให้น้อง ๆ ที่อยู่ทำงานเก่งขึ้นให้ได้”

และแม้จะมีเวลาเพียง 2 เดือนกับเป้าหมายช่วยสาขา 3 แห่ง ที่มีทั้งปัญหาผู้จัดการสาขามือใหม่ และปัญหาจำนวนพนักงานไม่เพียงพอ แต่ภาคบอลก็สามารถช่วยให้สาขา 2 แห่งทำยอดตามเป้าที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ

เติมพลังใจ จากการเรียนรู้ความสำเร็จของคนอื่น

ภาคบอลยังเล่าอีกว่า “ปัญหาอีกอย่างของนครสวรรค์ตอนนั้นคือ พนักงานที่นั่นมีอายุงานกันกว่า 10 ปี แต่กลับไม่มีใครเติบโตขึ้นเป็นผู้จัดการสาขา ซึ่งผมพบคำตอบว่าเพราะเขาเชื่อกันว่าใครมาเป็นผู้จัดการก็สร้างยอดไม่ได้หรอก โดยเฉพาะที่สาขาชุมแสง

ผมเลยรับผู้จัดการฝึกหัดข้างนอกมา 1 คน ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้จัดการร้านพรีเวดดิ้งมาก่อนโดยให้ไปอยู่ที่สาขาชุมแสง และบอกให้วางตัวเหมือนคนหูหนวกคือไม่ต้องฟังอะไร แค่ทำตามที่ผมแนะนำก็พอ ปรากฏว่าปีนั้นสาขาชุมแสงได้ KPI เกรด B และพนักงานก็ได้รับ Incentives กันหลักหมื่น

แล้วผมก็ใช้วิธีสร้างโอกาสให้น้อง ๆ สาขาทำยอดตามเป้าได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้นทีละแห่ง พอจำนวนสาขาที่ทำได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาขาที่ยังทำไม่สำเร็จก็จะแอคทีฟขึ้น พยายามมากขึ้น และเมื่อทุกคนเห็นว่าตัวเองทำได้ มีรายได้เพิ่ม ความเชื่อเดิม ๆ ก็ถูกลบล้างไป ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้และมีแรงบันดาลใจอยากจะเติบโตบ้าง

สิ่งที่ผมพูดเสมอก็คือ…อย่าดูถูกตัวเอง เชื่อพี่ พี่มั่นใจว่าเราทำได้ ทำให้ทุกคนมองในมุมเดียวกันและเชื่อมั่นที่จะทำ”

ส่งต่อโอกาส เพื่อความสำเร็จร่วมกัน

ผลจากการ ‘เปลี่ยนโอกาสเป็นความสำเร็จ’ ให้กับพื้นที่นครสวรรค์ ทำให้ปี 2563 ภาคบอลได้รับรางวัล ‘ผลงาน % Achieve สินเชื่อรถเก๋ง-กระบะและรถบรรทุกยอดเยี่ยม’ และรางวัล ‘ผู้จัดการพื้นที่ KPI ดีเด่น’ รวมถึงยังได้รับการโหวตให้เป็น ‘ชาวเงินติดล้อต้นแบบ ของค่านิยมกระหายเรียนรู้’ ถึง 2 ปีซ้อน

“สำหรับผม...รางวัลเหล่านี้คือความภาคภูมิใจ และหนึ่งในบุคคลเบื้องหลังความสำเร็จของผมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ‘พี่รัก’ สมรัก รัตนมหาสกุล ผู้จัดการอาวุโสภาค CN ที่คอยแนะนำ บอกวิธีการทำงานให้ผมจนมีวันนี้ ขอบคุณอีกครั้งครับ และนับตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงวันนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมร่วมดีใจไปกับทุกๆ คนคือไม่มีสาขาไหนในนครสวรรค์ที่ทำยอดไม่ได้ตามเป้าอีกแล้ว ตอนนี้ทีมนครสวรรค์บริหาร Incentives ได้ บริหาร KPI เป็น มีน้องหลายคนโทรมาขอบคุณผม ไลน์มาขอบคุณผม ซึ่งผมก็ต้องขอบคุณทีมนครสวรรค์ทุกคนเช่นกันที่เชื่อมั่นและช่วยกันจนสร้างผลงานได้สำเร็จ

ถ้าย้อนกลับไป ผมเชื่อว่าน้องๆ ไม่ชอบหรอกกับการมีหัวหน้าคอยตามงาน เพราะอยากเห็นเราประสบความสำเร็จ แต่ผมก็เชื่อว่าถ้าน้องๆ รู้แนวทางและฝึกทำบ่อยๆ ก็จะทำได้ เนื่องจากผมเองที่เติบโตถึงวันนี้ได้ก็เพราะมีหัวหน้าที่คอยดูแล คอยผลักดันผมเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาคทุกคนที่คอยสอนและให้ความรู้ผม”

เคล็ดลับสุดท้ายในการ ‘เปลี่ยนโอกาสเป็นความสำเร็จ’ ของภาคบอลจึงเป็นเรื่องของการ ‘ส่งต่อโอกาส’ ที่ได้รับ เพราะ ‘การส่งต่อโอกาส’ จะเป็นการขยายวงของ ‘โอกาส’ ให้กว้างขึ้น และช่วยให้ทุกคนหมุนไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้เร็วขึ้น

เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น